ประเดิมเปิดปีมะเส็ง จับทิศทางราคาพลังงาน ต้องบอกว่าเป็นปีม้าร้อนแรงราคาพุ่งทะยานแทบทุกประเภท ทำเอาชาวบ้านออกอาการมึนตึ้บ สวนกระแสรายได้ที่นิ่งสนิท เหตุใหญ่ราคาอัดอั้นมานาน ประกอบกับพลังงานส่วนใหญ่ประเทศไทยนำเข้ามาแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อค่าเงินบาทอ่อนแรง ราคานำเข้าจะพุ่งทันที แต่รัฐบาลก็ได้ควักเงินชดเชยส่วนต่างเพื่ออุ้มราคาไม่ให้กระทบกับชาวบ้านมากนัก และยังเป็นการรักษาระดับฐานเสียง ส่งผลให้คนไทยเคยชินกับการใช้พลังงานราคาถูกสวนทางกับความเป็นจริงมานาน ณ เวลานี้คนไทยได้รับของขวัญที่ต้องร้อง “ยี้” มาแล้ว หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (เรกูเลเตอร์) ประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประจำเดือน ม.ค.-เม.ย. 57 อีก 5 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่ปลายปี 56 ทำให้ค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายจริงในงวดนี้ เป็นหน่วยละ 59 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานอีกหน่วยละ 3.27 บาท ทำให้ค่าไฟฟ้าประจำเดือน ม.ค.-เม.ย. 57 ปรับขึ้นมาอยู่ที่หน่วยละ 3.82 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคาแบบอะลุ้มอล่วยเพราะหากปรับขึ้นราคาตามความเป็นจริง ต้องขึ้นถึง 6.99 สตางค์ต่อหน่วย สาเหตุที่ค่าไฟพุ่งกระฉูด มาจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพราะค่าเงินบาทเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณค่าเอฟที โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 1 บาท จะทำให้ค่าเอฟทีสูงขึ้นประมาณ 5.6 สตางค์ต่อหน่วย แต่ถ้าครั้งนี้ปรับราคาตามความเป็นจริงจะสะเทือนขวัญประชาชนเกินไป เลยปรับลดลงมาเหลือหน่วยละ 5 สตางค์ ที่เหลือหน่วยละ 1.99 สตางค์ ผลักภาระให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับผิดชอบส่วนต่างไปก่อน ดีดลูกคิดมูลค่าที่ต้องแบกรับภาระทั้งสิ้น 1,009 ล้านบาท ส่วนค่าเอฟทีในงวดต่อไป ๆ ที่จะมีการปรับทุก ๆ 4 เดือน มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแน่นอน เพราะปีนี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงหลังจากประเทศพี่เบิ้มอย่างสหรัฐอเมริกา ประกาศถอนมาตรการคิวอีแล้วซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในตลาดตราสารต่าง ๆ เริ่มไหลออกจากไทย แต่จะปรับขึ้นเท่าไรนั้นต้องคอยติดตามการตัดสินใจของคณะกรรมการเรกูเลเตอร์ว่าจะปรับขึ้นตามความเป็นจริงได้หรือไม่ อีกหนึ่งราคาพลังงานที่คนไทยต้องหลอนอีกนานคือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน ที่ประกาศปรับขึ้นราคามาตั้งแต่ ก.ย. 56 แล้ว เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม หลังจากตรึงราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาทมาเนิ่นนาน โดยเดือน ม.ค. 57 ราคาแอลพีจี ภาคครัวเรือน ราคาปรับขึ้นมาเป็น 20.63 บาทต่อกิโลกรัม จะลากยาวต่อเนื่อง จนสะท้อนต้นทุนหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติของไทยกิโลกรัมละ 24.84 บาท ที่สำคัญในเดือน มี.ค. 57 ราคาแอลพีจี ทั้งภาคครัวเรือนและภาคขนส่งราคาจะอยู่ในระดับเดียวกันคือกิโลกรัมละ 21.63 บาท ส่งผลให้กระทรวงพลังงานจะเริ่มปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งควบคู่ไปด้วยเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จนไปสู่เป้าหมายหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติกิโลกรัมละ 24.84 บาท แต่จะสามารถเดินหน้าจนบรรลุเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานกำหนดหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่า จะเปลี่ยนแปลงนโยบายแอลพีจีอีกหรือไม่ เพราะการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งจะกระทบกับกลุ่มแท็กซี่โดยตรง เหตุผลหลักที่ต้องปรับขึ้นราคาเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 58 ซึ่งจะทำให้ประชากรกว่า 600 ล้านคน ในประเทศสมาชิก 10 ประเทศ เดินทางได้อย่างเสรีและสะดวกขึ้น ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยมีโอกาสถูกรุมซื้อก๊าซแอลพีจีราคาถูกหากไทยยังตรึงราคาจำหน่ายไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านไทยราคาแอลพีจีโดดไปถึงกิโลกรัมละ 30-45 บาทแล้ว ประเด็นนี้กระทรวงพลังงานรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงได้ศึกษาแนวทางเบื้องต้นในแผนการเยียวยาผู้ประกอบการกลุ่มแท็กซี่ที่ยังใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงอยู่ว่าจะใช้แนวทางใด เช่น การเปิดโครงการเปลี่ยนใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเอ็นจีวีแทน นอกจากนี้จะส่งผลต่อเนื่องมาถึงเงินชดเชยราคาแอลพีจี เพราะนอกจากไทยผลิตก๊าซแอลพีจีได้เองแล้ว อีกส่วนหนึ่งต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีมาจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องควักเงินจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาเพื่อให้ประชาชนใช้ในราคาถูก เช่น ปัจจุบันซื้อแอลพีจีจากต่างประเทศราคาตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ต้องขายให้คนไทยใช้ในราคาตันละ 333 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องจ่ายชดเชย โดยนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจ่ายส่วนต่าง ดังกล่าวให้กับ บมจ.ปตท. ซึ่งเป็นผู้นำเข้าแอลพีจีรายใหญ่มาขายในประเทศเดือนละกว่า 3,000 ล้านบาท หรือประมาณปีละ 36,000 ล้านบาท อีกหนึ่งพลังงานที่ต้องจับตา ที่จะจ่อคิวปรับขึ้นราคาคือ ก๊าซธรรมชาติ สำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) แต่ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เพราะติดเงื่อนไขที่กระทรวงพลังงานกำหนดให้บริษัท ปตท. ต้องเร่งแก้ปัญหารอเติมเอ็นจีวีที่ยาวเหยียดให้ลดลงให้ได้ รวมถึงต้องจัดการปัญหาเอ็นจีวีขาดแคลนบางพื้นที่ ให้มีจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง และต้องเพิ่มปั๊มเอ็นจีวีให้มากขึ้น ซึ่ง บมจ.ปตท. ยังไม่สามารถขยายปั๊มได้เพิ่มเติมตามที่กำหนด กระทรวงพลังงานจึงยังไม่สามารถอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาได้ และที่ผ่านมา “สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปี 57 จะต้องปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีแน่นอน เพราะขายต่ำกว่าต้นทุนมานาน และเป็นการรองรับการเปิดเออีซีเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเดียวกับก๊าซแอลพีจี สำหรับราคาเอ็นจีวีที่จะปรับขึ้นนั้น ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมีแนวทางจะปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนจะปรับขึ้นเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับ รมว.พลังงานคนใหม่จะตัดสินใจเรื่องราคาเท่าไร ระหว่างข้อมูลของ บมจ.ปตท. แจ้งว่า ต้นทุนเอ็นจีวีที่แท้จริงอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่กระทรวงพลังงานได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาต้นทุนเอ็นจีวีอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม ที่ผ่านมาการตรึงราคาเอ็นจีวีมาอย่างยาวนานส่งผลให้ บมจ.ปตท. ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมแต่เพียงผู้เดียว โดยที่ผ่านมาแบกรับภาระไปแล้ว 7-8 หมื่นล้านบาท และขณะนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ บมจ.ปตท. อาจมียอดขาดทุนสะสมถึง 100,000 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ในปี 57 ราคาน้ำมันดีเซล เป็นอีกประเภทหนึ่ง ที่กระทรวงพลังงานมีแนวโน้มจะปล่อยลอยตัว เพราะราคาน้ำมันดีเซลถูกตรึงไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 54 เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่รัฐบาลได้ตรึงราคาไว้ สูญรายได้กว่า 300,000 ล้านบาท โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากการปรับลดเงินสรรพสามิตน้ำมันจากเดิมที่เก็บอยู่ที่ลิตรละ 5.31 บาท แต่เก็บจริงแค่ลิตรละ 0.005 บาทเท่านั้น หรือเรียกได้ว่า แทบจะหยุดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลเลยทีเดียว ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องสูญรายได้ทางภาษีถึงเดือนละ 9,000 ล้านบาท แต่ปัญหาใหญ่ของการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจภาคใหญ่ โดยเฉพาะราคาสินค้า รวมทั้งค่าบริการภาคขนส่ง เช่น รถบรรทุก รถโดยสารประจำทาง รถสองแถว ซึ่งบางส่วนยังใช้น้ำมันดีเซลจึงจะเป็นข้ออ้างในการขอปรับขึ้นราคา ซ้ำเติมประชาชน เพราะฉะนั้นแนวทางการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจึงเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่รัฐบาลต้องทำแผนการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างอย่างรัดกุม เพราะที่ผ่านมาแต่ละรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอุ้มราคา จนทำให้ประชาชนเคยชินกับการใช้พลังงานราคาถูก ณ เวลานี้จึงต้องจับตารัฐบาลชุดใหม่ว่าจะกล้าเดินหน้าตัดสินใจนโยบายพลังงานต่อไปอย่างไรเพราะเป็นการเดิมพันระหว่างฐานคะแนนเสียงกับต้นทุนที่แท้จริง และยังมีโจทย์สำคัญอย่างการรองรับการเปิดเออีซี เพราะถ้าไทยยังใช้พลังงานที่ถูกอุ้มด้วยเงินของรัฐบาล หากมีการเปิดเออีซีไทยจะกลายเป็นประเทศที่ถูกมะรุมมะตุ้มเรื่องใช้พลังงานราคาถูกและเสียงบประมาณอย่างมหาศาล. ทีมเศรษฐกิจ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พลังงานปีม้าจ่อปรับขึ้นยกแผง
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs