เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันคนกลุ่มใหญ่ที่ใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ เฟสบุ๊ค ไลน์ แชท จะพิมพ์ภาษาไทยได้ถูกต้องครบทั้งสระและวรรณยุกต์นั้นหาได้น้อยมาก ขนาดฝ่ายพิสูจน์อักษรของสื่อสิ่งพิมพ์แต่ละสำนักยังตรวจสอบคำที่ใช้ไม่เหมือนกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีข้อยืนยันที่มาที่ไปได้ ถือว่าไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุความหมายของ "เพี้ยน" ไว้ว่าผิดแปลกไปเล็กน้อย เช่น หน้าเพี้ยน พูดเพี้ยน เสียงเพี้ยน ผิดเพี้ยน โบราณใช้เพียน ก็มี ส่วนคำว่าไม่ค่อยปกติ มักใช้กับคน เช่น เขามีท่าทางเพี้ยนๆ ด้วยความรวดเร็วของการสื่อสารทั่วโลก ทำให้การรับมาตอบกลับของภาษาขยายไปสู่วงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนไทยคำว่าตกเทรนด์ถือเป็นการดูถูกมากสำหรับสังคมโซเชียลมีเดีย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ถือเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการเขียน โดยเฉพาะการเขียนจดหมายที่สืบทอดมาในอดีต ที่สมัยก่อนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังมาไม่ถึง จึงเกิดแนวคิด “พูดจาภาษาเพี้ยน” ในสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมายประจำปี 56 ขึ้น น.ส.อานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย เล่าว่า การใช้ภาษาไทยปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนไปในแต่ละยุค เกิดเป็นภาษาแปลกๆ ใหม่ๆ ด้วยยุคปัจจุบันถือเป็นยุคดิจิทัลที่รูปแบบของการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีส่วนทำให้เกิดเป็นภาษาที่ผิดเพี้ยน อย่างไรก็ตาม สัมคมวัยรุ่นแต่ละยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และยังพบว่าภาษาบางยุคที่หายไปก็กลับเข้ามาใหม่ตามกระแสนิยม โดยสังคมยุคปัจจุบันมักนิยมใช้ภาษาสั้นๆ เช่น ตัวเองก็เขียน ตเอง เป็นต้น ถึงแม้ว่าการเพี้ยนของภาษาจะเป็นคอนเซ็ปงานสัปดาห์การเขียนจดหมายปี 56 ที่ได้มีการจัดงานไปแล้วเมื่อวันที่ 7-13 ต.ค. ที่ผ่านมาก็ตาม แต่ไปรษณีย์ไทยก็อยากส่งเสริมให้คนไทยรักในการภาษาไทยเพราะเป็นภาษาของประเทศถือเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ หากนำภาษาไทยยุคเก่ามาใช้กับคนยุคปัจจุบันก็อาจถูกตราหน้าว่าหลงยุคเอาง่ายๆ การปรับเปลี่ยนของคำแสลงในภาษาไทยถือว่าเกิดขึ้นตลอดเวลา คำบางคำยังใช้กันอยู่จนปัจจุบัน แต่บางคำก็ตกหล่นหายไปตามยุคสมัย เช่นคำว่ากิ๊ก ยังนิยมใช้กันโดยทั่วไป ขณะที่ แอ๊บแบ๊ว ถอยห่างไปไกล เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องมือสื่อสารมวลชน นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งต่อการทำให้เกิดคำแสลง สมัยก่อนคำแสลง หรือศัพท์หวือหวามักเริ่มขึ้นบนหน้าหนังสือพิมพ์ สร้างเป็นต้นแบบให้คนได้รับรู้และนำไปใช้ตามอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก้าวเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น คำแสลงใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น และส่วนใหญ่จะมาจากดารานักร้อง พิธีกรทางหน้าจอทีวี ดังนั้น ภาษาเปลี่ยนเพราะสังคมเปลี่ยน คำแสลงเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เป็นภาษาพูดที่นิยมกันบางหมู่คณะ บางกรณีพูดเพื่อให้ออกรส จึงพยายามสร้างรูปภาษาให้แปลกออกไป เรียกว่าภาษาที่เขียนมีใช้กันมาทุกยุคทุกสมัยขึ้นอยู่กับความนิยม และวิถีชีวิตของผู้คน. กัญณัฏฐ์ บุตรดี
Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สื่อออนไลน์ ที่มาของภาษาเพี้ยน

Posts related