ตลาดรถยนต์ปีมะเส็งที่ผ่านมาแทบจะเรียกได้ว่าเลหลังขายของกันเลยทีเดียว เพราะหันไปทางไหน โชว์รูมรถไม่ว่าค่ายใดก็ตาม ไม่มีใครที่จะไม่จัดรายการส่งเสริมการขาย ในคอนเซปต์ ลด แลก แจก แถม ซึ่งแคมเปญการตลาดเหล่านี้ ผู้บริหารที่คร่ำหวอดในวงการรถยนต์หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่า รุนแรงที่สุดในรอบสิบ ๆ ปีที่ผ่านมา เพราะวงการรถยนต์ไม่เคยเฉือนเนื้อเถือกำไรกันขนาดนี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ต่างเชื่อว่าสินค้ารถยนต์อย่างไรแล้วก็ขายได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจในการซื้อมากมายนัก สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดอย่างมหันต์ จนทำให้กลไกการตลาดรถยนต์ผิดเพี้ยนไป สืบเนื่องจากโครงการส่งเสริมรถคันแรกที่ภาครัฐประกาศเมื่อปลายปี 54 ลดภาษีสูงสุดถึงคันละ 100,000 บาท บริษัทรถยนต์ก็ผสมโรง จูงใจผู้บริโภคด้วยการให้ใช้เงินจองไม่กี่พันบาท กระตุ้นให้ประชาชนซื้อหารถคันแรกไปใช้ได้อย่างง่ายดาย ผู้ประกอบการรถยนต์ ต่างกระหยิ่มยิ้มย่อง สั่งเดินหน้าผลิตรถตามออร์เดอร์ เพิ่มกะ ระดมการผลิตรถให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ส่งมอบรถแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และกอบโกยยอดขายให้ได้มากที่สุด แต่คำสั่งซื้อเหล่านั้นเริ่มออกฤทธิ์ เป็นพิษ มีลูกค้าถอนจอง หรือขอเลื่อนเวลาออกไปอย่างไม่มีกำหนด ระยะแรกที่ประสบเหตุการณ์เหล่านี้ยังนอนใจ ไม่นานลูกค้าต้องมารับรถอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงมีคำสั่งจองถาโถมเข้ามาจำนวนมหาศาลหากเอายอดจองของทุกค่ายรถยนต์ที่เข้าข่ายโครงการรถคันแรกมารวมกันทะลุเกินหลักล้านคัน หากแต่ดึงกำลังซื้อจากอนาคตออกมา ในจำนวนนี้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งสามารถซื้อได้จริง แต่อีกเกินกว่าครึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีศักยภาพในการดาวน์ หรือผ่อนชำระได้หรือไม่ ในกลุ่มหลังนี้เป็นพวกอินเทรนด์ ขอมีส่วนร่วม จองไว้ก่อน เพื่อป้องกันการเสียสิทธิ…! หลังจากนั้นไม่นาน ค่ายรถยนต์ต่างก็ยอมรับความจริงว่ามีคนทิ้งใบจองจำนวนไม่น้อย ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้แจ้งตัวเลขล่าสุดประมาณ 130,000 ใบจอง และยังมีที่เลื่อนรับรถออกไปอีกจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องประเมินว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้หากมองภาพลบที่สุดรวมกันประมาณ 300,000 คัน ส่วนภาคราชการที่ดูแลรับผิดชอบโครงการมองโลกในแง่ดีกว่านั้นคาดว่าจะอยู่ที่ 120,000 คัน ถ้าเป็นคนกลางขอจับหาร 2 เบา ๆ ก็คาดว่าจะประมาณที่ 200,000 คัน ซึ่งจำนวนเท่านี้วงการก็สั่นสะเทือนแล้ว ผลกระทบจากกลไกตลาดรถยนต์ที่ผิดเพี้ยนไป เริ่มเห็นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ค่ายรถยนต์ที่มีสต๊อกรถคงค้าง จำนวนมากเริ่มเกลี่ยรถไปสู่ตัวแทนจำหน่าย หากสั่งรุ่นขายดี ก็ต้องพ่วงรุ่นที่มีสต๊อกเยอะไปด้วย ส่วนที่สั่งรถในโครงการรถคันแรกก็ต้องรับรถกลุ่มนั้นไปด้วยเช่นกัน โดน 2 เด้ง ดีลเลอร์ ก็แบกรับภาระดอกเบี้ย และยังต้องหาสถานที่จอดรถรองรับ พร้อมกันนั้นก็เปิดแคมเปญ ลด แลก แจก แถม ล่าสุดบางค่ายรถยนต์ให้ส่วนลดเงินสดถึง 200,000 บาท แถมประกันภัยชั้นหนึ่ง เอารถเก่ามาแลกซื้อรถใหม่ปรับราคาขายให้อีก ชิงโชค รวมไปถึงอื่น ๆ อีกมากมาย เหมือนโชค 2 ชั้นของผู้บริโภค ยังมีรถรุ่นเก่าที่ต้องการเคลียร์ให้หมดรุ่น เพื่อเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ได้เข้าร่วมแคมเปญเช่นเดียวกัน จากรายการส่งเสริมการขายที่รุนแรง และต่อเนื่องถึงปลายปีส่งผลให้ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ และดีลเลอร์กำไรหด หรือบางรายก็เสมอตัว ส่วนจะมาก หรือจะน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการต้นทุน เชื่อได้ว่าธุรกิจรถยนต์ ไม่มีใครหายใจได้คล่อง แต่งานนี้ผู้บริโภคมีแต่ได้กับได้ หากตัดสินใจซื้อรถตั้งแต่ปี 56 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 55-56 อู้ฟู่กว่าปีไหน ๆ ยอดการผลิตรถยนต์ 2.4-2.5 ล้านคัน ตามลำดับ ส่วนยอดขายในประเทศปี 55 ทะลุ 1.43 ล้านคัน ปี 56 อยู่ที่ 1.3-1.32 ล้านคัน จากยอดผลิตและยอดขายที่ก้าวกระโดดตัวเลขโชว์ปริมาณ ทำให้ไทยได้หน้า แต่เนื้อในมีความเจ็บปวดร้าวลึก ทั้งในส่วนของค่ายรถยนต์ ดีลเลอร์ ที่ต้องเฉือนเนื้อ การขยายธุรกิจชะลอตัวลงอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องไปถึงสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อรถคันแรกต้องมาจับตาดูว่าจากนี้ไปหนี้เสีย หนี้สูญ จะปูดออกมาเมื่อใด ตลาดรถยนต์มือสองที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี พลอยฟ้าพลอยฝนราคาร่วงแบบไม่เป็นท่า แถมยังขายไม่ออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแผลที่ยังไม่ตกสะเก็ด ส่วนปี 57 คาดว่ายอดขายจะลดลงมาอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน หรือลดลงเกือบ ๆ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถือว่าเป็นจำนวนไม่มากนัก เพราะยอดขายเกินหลักล้านคัน ยังอยู่ในภาวะที่รับได้ หากเปรียบเทียบกับยอดรวมปีก่อนที่มียอดขายหลักแสนคันเท่านั้น ตลาดยานยนต์ไทยยังมีอัตราการเติบโตขึ้นในทิศทางที่ดี ขณะเดียวกันกูรูวงการยานยนต์หลายราย รวมไปถึงบรรดาผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถยนต์ ต่างมีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยเชื่อว่าคงไม่มีผู้ประกอบการรายใด จะอัดงบประมาณลงไปในแคมเปญการตลาดได้รุนแรง และยาวนาน ไม่ได้หมายความว่าแคมเปญการตลาดเดิมที่ทำ 100% จะหายวับไปในพริบตา แต่จะค่อย ๆ ลดความรุนแรงลงทีละเล็ก ทีละน้อยคาดว่าเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปีมะเมีย ตลาดจะกลับสู่ภาวะปกติ หรือใกล้เคียงกับปกติ ถึงเวลาที่ตลาดรถยนต์จะขับเคลื่อนไปตามกลไกอย่างแท้จริงแล้ว แต่อาจทำให้เป้าหมายการผลิตไม่พุ่งพรวด จะเป็นการเติบโต อย่างแข็งแรง ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ออกสู่ตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ส่วนการขายในประเทศนั้นยังมีอัตราการขยายตัวต่อไปได้ เพราะผู้บริโภคคนไทยยังมีความต้องการใช้ และปริมาณการครอบครองรถยังมีสัดส่วนจำนวนน้อย หากเป็นเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมาตามแก้ปัญหาที่เกิดจากนโยบายประชานิยม แต่ปัญหาได้เกิดขึ้นเสียแล้ว ดังนั้นในอนาคตไม่รู้ว่าจะสางปัญหาให้จบสิ้นได้เมื่อใด… เนตรนภางค์ บุญนายืน
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เทกระจาดรถคันแรก แห่ซื้อ รับของแถม จับตาตาม..แก้ปัญหา ‘นโยบายประชานิยม’
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs