สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) จัดการประชุมไอโอดี ครั้งที่ 3 หัวข้อ “การยกระดับการดูแลกิจการ : กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการด้านต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าอย่างมั่นคง” โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมให้ความรู้อย่างคับคั่ง  ‘อานันท์ ปันยารชุน’ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะมีการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวง การโกงกินเป็นโรคร้ายต่อไทยมานานแล้วระยะหลังมากขึ้นจนน่ากลัว ทั้งมาจากข้าราชการ นักการเมือง ขณะเดียวกันไร้ศีลธรรม จริยธรรม ทำให้คนไทยนับวันจะยิ่งแต่ลดคุณค่าจนไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สังคมไทยหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ปราบปรามอย่างจริงจัง และใช้กฎหมายบังคับเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้เบาบางลง เช่น สิงคโปร์ที่เคยเป็นประเทศที่มีคอร์รัปชั่นสูง ปัจจุบันลดลงมาก สวนทางประเทศไทยที่มีคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน และประชาชนต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้ตระหนักรู้อะไรผิดอะไรถูก ไม่ใช่เก่งแต่โกง “ประเทศไทยยังมีระบบที่ไม่โปร่งใส ไม่มีมาตรการเอาผิด เพราะกฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถปราบคอร์รัปชั่นได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ การอบรมปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ทำให้เกรงกลัวกฎหมาย สั่งสอนให้คนมีหิริโอตตัปปะ ละอายต่อบาป ทุกอย่างต้องเริ่มที่จิตสำนึกของคนเป็นพื้นฐาน เริ่มจากที่มีอำนาจ มีความรับผิดชอบในสังคมต้องทำตนให้เป็นตัวอย่าง ขณะนี้บรรยากาศในการปราบปรามคอร์รัปชั่นดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ”  ทั้งนี้ควรยกเลิกคอร์รัปชั่นนโยบายรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบประมาณโฆษณาตัวเองผ่านสื่อ ซึ่งไทยยังไม่มีหลักสูตรแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบ โดยภาครัฐเป็นอันตรายสุด มีเงินมหาศาลจากงบประมาณ โดยเฉพาะงบรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท. มีชื่อเสียงเน่ามากมาเป็น 10 ปี เพราะว่ารัฐบาลเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 50% และกรรมการมีแต่ข้าราชการทั้งนั้น และหวังว่า 2-3 วันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ นอกจากนี้ภาครัฐควรหาวิธีการแบ่งปันอำนาจอย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป หรือยกเลิกการผูกขาดอำนาจ “หลังจาก คสช. เข้ามาคนไทยสบายใจ ลดโอกาสเกิดปัญหาความรุนแรงลง ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เมืองไทยปิดตัวเองชั่วคราวเพื่อซ่อมแซม และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เป็นช่วงที่ละเอียดอ่อนและโอกาสสุดท้ายที่จะแบ่งปันอำนาจ เพื่อเปลี่ยนถ่ายระบบใหม่ ซึ่งจะไม่เดินในทางที่ผิดหรือกลับเข้าสู่ทางตันอีกครั้ง เราอาจพูดเล่น ๆ ได้ แต่เราอย่าทำให้ของเสีย และผมไม่ได้พูดเล่น โดยผลครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากตัวเรา แต่จะมีผลต่อลูกหลานในอนาคตของพวกเราขอให้โชคดี”   ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภาคเอกชนกับอนาคตประเทศไทย” มองว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญและเป็นหลักในการปฏิรูปประเทศโดยสามารถผลักดัน กำกับเสนอขับเคลื่อนประเทศให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมีรัฐบาลใดเข้ามาขอให้เอกชนพยายามส่งเสียงให้รัฐบาลนั้น ๆ ปฏิรูปประเทศไปในทิศทางที่ยั่งยืนอย่าหยุดนิ่ง เพราะจากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการเมืองเห็นว่า ทุกสถาบันเริ่มผุกร่อน แต่ภาคเอกชนมีความพร้อมที่สุดที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นจริงได้  “ถ้าเอกชนไม่ปฏิรูปการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจนั้นก็เป็นเรื่องรอง ผมเชื่อว่าภายในวิกฤติมีโอกาสดีที่จะร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย ทำให้น่าอยู่สมบูรณ์ และยั่งยืน ถ้าพ้นโอกาสนี้ไปแล้วผมไม่แน่ใจว่าในช่วงชีวิตผมหรือช่วงชีวิตท่านจะมีโอกาสเห็นเช่นนี้อีกเป็นครั้งที่ 2” ทั้งนี้ปัญหาที่ผ่านมาประเทศไทยใกล้เป็นรัฐที่ล้มเหลว แม้แต่สื่อในต่างประเทศเองยังเห็นว่าประเทศไทยนั้นทุกสิ่งใกล้แตกสลายและอยู่บนขอบเหว หากไม่แก้ไขจะเป็นประเทศที่ล่มสลายได้ และจากนั้นจุดเปลี่ยนแปลงก็ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะถูกหรือผิดคงต้องให้ประวัติศาสตร์ได้ทำหน้าที่ตัดสิน แต่ยอมรับว่ามุมมองของต่างประเทศอาจมีปัญหาบ้าง “ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหาของบ้านเมืองทำให้ประเทศดีขึ้นให้ ผลงานพูดแทนทุกสิ่งให้ต่างชาติได้เข้าใจความมุ่งมั่นของคนไทยให้การรักษาคำมั่นสัญญาที่จะก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศนั้น ตอบแทนเราต่อสังคมโลกเชื่อว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามครรลองที่ได้สัญญาไว้กับ ประชาคมโลกประเทศทั้งหลายในโลกที่ยังขุ่นเคืองประเทศไทยอยู่ก็จะหันกลับมาหาประเทศไทยอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยเปรียบเสมือนอยู่บนทาง  2 แพร่ง โดยแพร่งแรกให้ดูตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่ยังย่ำอยู่กับที่ ส่วนอีกแพร่งนั้นให้ดูตัวอย่างจากอินโดนีเซีย ที่สามารถใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปประเทศ จนทำให้เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในอาเซียนที่ทุกคนอิจฉา” ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เรื่องธรรมาภิบาลไม่ได้เป็นห่วงเอกชนเนื่องจากมีระบบการแข่งขันให้คะแนน ไม่มีใครอยากเสียหน้า ทุกคนให้ความสำคัญเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล แต่ที่ทำให้ประเทศชาติฉิบหายคือรัฐ และสอบไม่ผ่าน ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ทำอะไรเลย อ้างแต่ประชาธิปไตย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอำนาจได้มาจากประชาชน ก็ควรตอบคำถามของประชาชนให้ได้ เนื่องจากเงินที่ใช้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นแสนล้านบาท โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือประชาชนไม่สามารถคานอำนาจรัฐได้ “ต่อไปภาคเอกชนไม่ควรสุภาพกับรัฐมากนัก ถามได้ถาม แม้ว่าจะได้คำตอบที่เฮง ๆ ซวย ๆ เพราะวัฒธรรมไทยเจออำนาจรัฐแล้วหงอ และการตั้งบุคคลในเก้าอี้ปลัดกระทรวงต่าง ๆ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทูตเหมือนเอาเท้าลูบหน้าประชาชนคนไทยดึงเอาอำนาจของรัฐมาเป็นอำนาจตัวเอง เหมือนตั้งคนมารับใช้ส่วนตัว” ‘อาชว์ เตาลานนท์’ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์และทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องเริ่มจากองค์กรของตนเองก่อน ขณะที่หน่วยงานเอกชนต้องมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อให้แก้ปัญหาเป็นรูปธรรมและเป็นโอกาสดีที่ คสช. จะคืนความสุขให้กับประชาชน ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหาโดยเฉพาะเงินเดือนของหน่วยราชการอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงทำให้เป็นช่องโหว่ในการคอร์รัปชั่น เพราะฉะนั้นต่อไปต้องปฏิรูปเงินเดือนหน่วยราชการทั้งระบบ และที่สำคัญหากเอกชนพบว่าหน่วยงานไหนของภาครัฐมีการคอร์รัปชั่น เรียกรับสินบนใต้โต๊ะ ให้เอกชนเปิดรายชื่อหน่วยงานนั้นมาเลยและให้มีองค์กรที่ปราบปราม ลงโทษอย่างเด็ดขาด  ‘อิสระ ว่องกุศลกิจ’ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เอกชนทำได้คือการชี้แนะ การสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่องค์กรและปลูกจิตสำนึกเรื่องธรรมาภิบาลให้กับคนรุ่นใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หนุนเอกชนปฏิรูปประเทศ ปลุกคนไทยต้านคอร์รัปชั่น

Posts related