ยุคสมัยใหม่อะไร ๆ ก็ต้องสร้างสรรค์  รัฐบาลไทยก็อยากจะมีเศรษฐกิจสร้างสรรค์  เด็กไทยอยากมีอาชีพสร้างสรรค์ (คือเป็นดารา ซึ่งถือว่าเป็นงานใช้ศิลปะ) คำว่า สร้างสรรค์ เป็นคำที่มีความหมายดี  ใคร ๆ ก็ชอบ วันก่อนผมไปพูดเรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์” ให้นักเรียนจากหลายสิบโรงเรียนที่ร่วมกิจกรรม ไทยคอม โรโบแคมป์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ มีการจัดกิจกรรมแข่งขันแบบสร้างสรรค์ โดยรวมทีมคละโรงเรียน ออกแบบหุ่นยนต์ทำงานตามโจทย์ให้ได้ดีที่สุด จึงเก็บเรื่องนี้มาเขียน งานสร้างสรรค์ทำไมถึงสำคัญมาก? สมัยโบราณ งานศิลปะ การแสดง ดนตรี การออกแบบ การเล่านิทาน งานเขียน เป็นงานสร้างสรรค์ มีไว้จรรโลงจิตใจ ปัจจุบันการสื่อสารดี ทำให้โลกแคบลง อีกทั้งผู้คนพ้นจากยุคกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอด เข้าสู่ยุคแสวงหาคุณภาพชีวิต ผลิตภัณฑ์และสินค้าต่าง ๆ มีให้เลือกมากมาย มีการแข่งขันการค้าสูง สิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้กับแทบทุกสิ่งคือ ความคิดสร้างสรรค์ ถึงขนาดเมื่อสิบปีก่อน ผู้รู้ทางการตลาดกล่าววาจาอมตะไว้ว่า “ไม่สร้างนวัตกรรมก็ต้องเจ๊ง” (innovate or die) ซึ่งสะท้อนมาในสินค้าที่เราบริโภคในปัจจุบันอย่างมากมาย โจเซฟ ชุมปีเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์ ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้  ด้วยทฤษฎี การทำลายแบบสร้างสรรค์  (creative destruction) ว่าเป็นการสร้างสมและทำลายความมั่งคั่ง โดยที่เศรษฐกิจทุนนิยมจะพัฒนาขึ้นมาด้วยการทำลายระบบเศรษฐกิจ เดิม โดยการทำให้ความมั่งคั่งเดิมสลายไปเพื่อเปิดทางให้ระบบใหม่พูดง่าย ๆ ว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ใช่แค่พัฒนามาจากผลิตภัณฑ์เดิม แต่มักจะดีกว่ามากจนทำลายตลาดเดิมอย่างย่อยยับ และเกิดตลาดแบบใหม่ เช่น กรณี เพลงแบบดิจิทัล (เอ็มพี 3)  ทำลายวิธีการขายเพลงแบบเดิมโดยสิ้นเชิง สร้างสรรค์มันสำคัญขนาดนี้ ของใหม่ที่ขายดี  ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ เราเรียกมันว่า “นวัตกรรม” ต้องใช้หัวคิดแบบสร้างสรรค์ นวัตกรรมคืออะไร? ผมขอยกคำอธิบายของคุณบุญคลี ปลั่งศิริ  ที่บรรยายเรื่อง “การบริหารหน่วยงานขนาดยักษ์” ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อหลายปีก่อน (ท่านเป็นอาจารย์สอนไฟฟ้าผม สมัยผมเป็นนิสิต ป.ตรี) ให้นึกถึงสามเหลี่ยมสองรูป สีเขียวหัวตั้ง สีแดงหัวคว่ำ สีเขียวแทนผลิตภัณฑ์ โดยแกนนอนบอกปริมาณผลิต และแกนตั้งบอกราคา หมายความว่ามีสินค้าเยอะแยะที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ราคาไม่แพง และมีของจำนวนน้อยที่ราคาสูง ส่วนสีแดง แทนสินค้าในอนาคต มักต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทำยาก ยังอยู่ในขั้นทดลองวิจัย เป็นต้น แกนนอนหมายถึงจำนวนความคิด แกนตั้งหมายถึง ต้นทุนในการผลิต หรือราคาก็ได้  หมายความว่า สินค้าที่กำลังค้นคว้าวิจัยอยู่ มีราคาสูงมาก แต่เมื่อพัฒนาไปจะมีบางชิ้นที่ราคาถูกลงมาได้  บริเวณที่สามเหลี่ยมเกยกัน คือนวัตกรรม คือสินค้าอนาคตที่มีทั้งมูลค่าเพิ่มสูง แต่มีราคาที่ประชาชนซื้อได้ จะทำของอย่างนี้ได้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูง ความคิดสร้างสรรค์ มีได้สองเชิง คือ เชิงศิลปะและเชิงตรรกะ แบบแรกนั้นอยู่เหนือความรู้ผมไปเยอะ จึงไม่ขอพูดถึง แบบตรรกะ คือแนววิศวกรรมนั่นเอง คือคิดอะไรเป็นขั้นตอน ใช้เหตุผล ในแง่นี้ ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะ ฝึกฝนได้  และต้องฝึก ยิ่งฝึกมากก็จะชำนาญขึ้น จนเป็นธรรมชาติ  อาจารย์ชีคเซนมีฮิิ เจ้าของทฤษฎีคิดเชิงบวก และทฤษฎีว่าความสุขกับความคิดสร้างสรรค์สัมพันธ์กัน บอกว่า การเกิดความคิดสร้างสรรค์ มี 5 ขั้นตอน 1. มองหาปัญหา จดจ่อกับปัญหาที่น่าสนใจและเราอยากรู้ 2. เพาะบ่ม ปล่อยให้ความคิดวนเวียนในสมอง โดยไม่ใส่ใจตรง ๆ 3. ปิ๊ง วินาทีที่ “เข้าใจ” 4. ประเมินตรวจสอบว่าความคิดที่ได้ มีคุณค่าพอที่จะเอาไปทำจริง 5. ลงมือสร้างแบบปฏิบัติ แล้วทำทุ่มเทให้สำเร็จ ขั้นแรกคือการมองหาปัญหา จะสร้างสรรค์ได้  ควรอยากรู้อยากเห็น กระตือรือร้น สนใจสิ่งรอบตัว ไม่เป็นผู้อยู่เฉย มองหาปัญหา รักการเปลี่ยนแปลง และผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ต้องเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นอยู่กับเพื่อนหรือคู่แข่ง ว่าดีกว่าด้อยกว่าตรงไหน และหาทางปรับปรุง  เมื่อได้โจทย์ ก็รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง ถ้าติดตามข่าวอยู่เสมอ จะมีข้อมูลทันโลกในเรื่องที่เราสนใจ มีข้อมูลแล้ว อย่าเพิ่งกระโดดเข้าไปทำทันที ให้เวลากับความคิด ปล่อย ให้วนเวียนอยู่ในสมองสักระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้ยึดติดกับความคิดอันใดอันหนึ่งก่อนเวลาอันควร วินาทีที่เราปิ๊ง รู้ขึ้นมาว่า อะไรคือต้นตอของปัญหา อันนี้คล้ายกับเกิดปัญญาขึ้นมาเอง หลังจากไตร่ตรองจนรอบคอบแล้ว การขุดลงไปให้ถึงต้นตอของปัญหาสำคัญมาก ให้คิดซ้ำไปซ้ำมา มองหามุมใหม่ ๆ จนเข้าใจลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่อย่าพายเรือวนอ่าง และอย่ามองโลกในแง่ร้ายเกินไปจนหมดกำลังใจ ว่าไม่มีทางทำได้  เปิดใจให้กว้าง เมื่อเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้  ก็ได้เวลาหาวิธีแก้ ให้คิดไว้หลาย ๆ วิธี  แล้วเอามาเลือก มีเทคนิคมากมายในการสร้างความคิดให้ประเมินว่าทางเลือกไหนดีกว่ากัน สุดท้าย สร้างสรรค์ไม่ใช่คิดอย่างเดียว ต้องลงมือทำ อุปสรรคย่อมเกิด ให้ลงมือด้วยความมั่นใจและทุ่มเท เมื่องานสำเร็จจะทำให้เรามีความสุขจากงานนั้นเอง ที่เล่าให้ฟังนี้ เหมือนจะเป็นนามธรรมมากไปหน่อย ไม่ได้มีตัวอย่างอะไรที่ชัดเจน แต่ก็เป็นทักษะที่ผมได้ฝึกและใช้มาเป็นเวลานานในอาชีพสอนและวิจัย ที่ได้ผลดีสิ่งที่น่าทึ่งคือสร้างสรรค์เป็นทักษะที่ฝึกได้  ฝึกมากจะเก่งพอเลิกฝึกจะเก่งลดลง ต่างกับพรสวรรค์นะครับ (เช่น ผมเขียนบทความนี้ทั้งหมดบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อลองทักษะใหม่ ๆ) ผมนึกถึงครั้งที่ลูกสาวคนเล็ก มาปรึกษาเรื่องทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อไปแสดงที่โรงเรียน  เช่นหัวข้อว่า ใช้พลังงานจากลม ผมสนุกมากกับความพยายาม “สร้าง สรรค์” ในโครงงานนี้  ชวนลูกคุยกันหลายวันหลายเรื่อง มีข้อจำกัดมากมายว่าความคิดอันนั้นอันนี้ทำไม่ได้ ผมพบว่าคำตอบที่ลูกผมเลือก มักจะไม่ตรงกับที่ผมคิด แต่ที่ประหลาดใจกว่านั้น คือคำวิจารณ์ที่ลูกบอกผมว่า “พ่อเอาแต่สนุก หนูต้องทำงานจริง ๆ นะ”. ศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย prabhas@chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : วิศวกรรมสร้างสรรค์ – 1001

Posts related