การปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ… ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องคนไทยกว่า 15.7 ล้านเสียง และยังเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา แม้จะบริหารงานมาแล้ว 3 ปี และยังไม่แน่นอนว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ครบเทอม 4 ปีหรือไม่? คำมั่นสัญญาที่รัฐบาลสามารถรักษาไว้ได้ก่อนหน้านี้ คือเรื่องของการปรับลดภาษีนิติบุคคล ที่ลดจาก 30% เหลือ 23% และเหลือ 20% ในปี 56 ซึ่งเป้าหมายก็คือ.. เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชนไทย โดยให้มีอัตราภาษีที่ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้เอกชนไทยเสียเปรียบ ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ โดยเพิ่มขั้นอัตราภาษีเงินได้สำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้นอัตรา เป็น 7 ขั้นอัตรา เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ แม้จะทำให้รายได้ของรัฐบาลหายไปกว่า 27,000 ล้านบาท ก็ตาม แต่เชื่อว่าหลังปรับโครงสร้างภาษีไปแล้ว จะช่วยกระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มมากขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.มาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ยอมรับว่ากระบวนการทางรัฐสภาอาจทำให้อัตราโครงสร้างภาษีใหม่อาจไม่ทันใช้กับปีภาษี 56 ดังนั้น…รัฐบาลจึงต้องพลิกกลยุทธ์ โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา แทนที่คาดว่าจะเสนอครม.ให้เห็นชอบภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อให้ทันกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ สำหรับโครงสร้างอัตราภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ ทั้ง 7 ขั้นนั้น ประกอบด้วยบุคคลธรรมดาที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ยังได้รับการยกเว้นภาษีเหมือนเดิม ส่วนผู้มีรายได้ตั้งแต่ 150,001 บาท ถึง 300,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 5% ลดลงจาก 10%, ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป ถึง 500,000 บาท เสียในอัตรา 10%, ตั้งแต่ 500,001 บาทขึ้นไป ถึง 750,000 เสียในอัตรา 15%, ตั้งแต่ 750,001 บาทขึ้นไป ถึง 1 ล้านบาท เสียในอัตรา 20%, ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ถึง 2 ล้านบาท เดิม 30% เหลือ 25%, ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ถึง 4 ล้านบาท เสียในอัตรา 30% และตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป เดิมเสียในอัตรา 37% ลดเหลือ 35% ด้านห้างหุ้นส่วนสามัญ เสียในอัตรา 20% ขณะที่ คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ให้เสียภาษีจากรายได้พึงประเมิน 20% เช่นกัน โดยให้มีผลบังคับใช้ในปีภาษี 56 ที่จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีในปี 57 เป็นต้นไป นอกจากนี้อธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ ภายใต้รัฐบาลประชานิยม อย่าง “สุทธิชัย สังขมณี” ก็ออกไอเดียให้แก้กฎหมายโครงสร้างภาษีอีกรอบ ด้วยการเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 60,000 บาท เป็น 120,000 บาท โดยวงเงิน 60,000 บาทแรก เป็นการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมปกติ อย่างที่เคยทำกันมาทุกปี แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอีก 60,000 บาทนั้น ต้องมีใบกำกับภาษีมาแสดง ถึงจะหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ เบื้องต้นจะเคาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และหวังว่าแนวทางนี้จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเรียกใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและโอทอปมากขึ้น โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จทันการยื่นแบบเสียภาษีปี 57 ที่จะต้องยืนภายในเดือน มี.ค. ปี 58 ทันทีที่กรมสรรพากร โยนไอเดียบรรเจิดชิ้นนี้เข้าสู่สาธารณะก็มีเสียงสะท้อนกลับไป ทั้งในเชิงตอบรับและปฏิเสธ… โดยมุมมองของนักวิชาการอย่าง “ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องการให้รัฐเพิ่มวงเงินลดหย่อน อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะปัจจุบันค่าครองชีพของประชาชนล้วนก็เกิน 120,000 บาทอยู่แล้ว และการหักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษี 60,000 บาทนั้น ก็เป็นตัวเลขที่ล้าสมัย ใช้มาเนิ่นนานแล้ว จึงควรที่จะปรับเปลี่ยนใหม่เสียที เนื่องจากคนที่เสียภาษีในระบบมากสุดในขณะนี้ยังเป็นชนชั้นกลาง หรือมนุษย์เงินเดือน ไม่ใช่คนรวย ดังนั้นถ้าเพิ่มลดหย่อนให้แบบไม่มีเงื่อนไข จะทำให้ประชาชนไม่ต้องเกิดความกังวลในการเก็บใบกำกับภาษี ซึ่งอาจทำให้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากโดยไม่จำเป็น ส่วนมุมมองของผู้ประกอบการ อย่าง “ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเป็นผลดีต่อภาพเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนให้ใช้จ่ายมากขึ้นกว่าปกติ หากได้รับการลดหย่อนเพิ่ม ขณะที่จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบฐานภาษีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาแสดงความเห็นในมุมกลับด้วยว่า วิธีการนี้อาจจทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น เพราะการขอใบกำกับภาษีอาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบ และหันเข้ามาในระบบ ต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กับสินค้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ประชาชนเคยซื้อสินค้าได้ถูก ก็จะต้องซื้อแพงขึ้น และถ้านำมาหักลบกับรายได้ที่เข้ากระเป๋าเพิ่ม แต่ต้องซื้อสินค้าในราคาแพง ก็ดูเหมือนว่าประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการประชานิยมในครั้งนี้มากเท่าใดนัก ลองหันไปฟังเสียงของผู้บริโภคและผู้เสียภาษี ในฐานะผู้ที่น่าจะได้ประโยชน์จากแนวทางเพิ่มค่าลดหย่อนดังกล่าว ก็สอดคล้องกันกับความเห็นของนักวิชาการ ที่อยากให้มีการเพิ่มการหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่อยากให้ใช้วิธีการที่ยุ่งยากเกินไป โดย “น.ส.ทวิติยา สมัตถะ” อาชีพอิสระ มองว่า อยากให้รัฐเพิ่มวงเงินลดหย่อนไปเลย โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณอยู่แล้ว และอัตราการลดหย่อน 60,000 บาทต่อปี ก็มีมานานแล้ว ซึ่งยังไม่มีการปรับอัตราใหม่เลยตลอดเวลาที่ทำงานมากว่า 20 ปี แต่ก็เห็นว่า หากให้ประชาชนรวบรวมใบเสร็จ เพื่อยื่นภาษีจะมีขั้นตอนยุ่งยากในการส่งหลักฐานใบเสร็จให้กับกรมสรรพากร โดยเฉพาะประชาชนที่ยื่นเสียภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต จะทำให้เสียเวลาในการขอคืนภาษี ขณะเดียวกัน ก็ไม่รู้ว่าใบเสร็จประเภทไหนที่หักเป็นค่าใช้จ่ายได้บ้าง ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต จากเสียงตอบรับจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชนคนเสียภาษี ค่อนข้างจะชัดเจนว่า หากภาครัฐต้องการจะเดินหน้าตามหินที่โยนออกมาถามทางในครั้งนี้ ก็ไม่น่าจะเจอกับแรงเสียดทานและต่อต้านมากนัก แต่สิ่งที่ต้องพึงตระหนักไว้ก่อนจะดำเนินการ คือจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไข และวิธีการต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้คนที่อยากจะให้ได้รับประโยชน์ เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จริง ๆ ที่สำคัญ ก่อนจะลงมือดำเนินมาตรการนี้ หรือมาตรการใด ๆ ภาครัฐคงจะต้องประเมินผลได้ผลเสียให้ถี่ถ้วนมากกว่านี้ก่อน เพราะหลาย ๆ บทเรียนที่ผ่านมา คงสอนให้รู้แล้วว่า การหว่านนโยบายแนวประชานิยมแบบเล็งผลเลิศจนเกินกว่าเหตุ นอกจากไม่ค่อยเกิดประโยชน์แล้ว ยังกลับมาสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติในท้ายที่สุดด้วย. สุกัญญา สังฆธรรม
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : วัดใจรัฐบาลเพิ่มลดหย่อนภาษี เฉือนเนื้อเพื่อชาติหรือหาเสียง!