“20 ต.ค.57” นี้ จะเป็นวันแรก ที่บรรดาพี่น้องชาวนากว่า 3.4 ล้านครัวเรือน เริ่มได้รับเงินช่วยเหลือค่าปลูกข้าวจากรัฐบาล ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกินครอบครัวละ 15,000 บาท หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย ของรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ที่หวังไว้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจะช่วยหยุดยั้งไม่ให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ดิ่งเหวลงลึกไปมากนัก หลังจากการส่งออกของไทยกำลัง “สาหัส”การแจกเงินชาวนาครั้งนี้…ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลชุดนี้ก็หนีไม่พ้นต้องใช้นโยบายประชานิยมเช่นกัน ขณะเดียวกันการแจกเงินให้ชาวนาก็ยังมีข้อกังขาจากสังคมว่า เงินที่แจกนั้นถึงมือชาวนาตัวจริงหรือไม่ เพราะกระแสข่าวที่ออกมาในเวลานี้กลับกลายเป็นว่า “เจ้าของที่นา” กำลังสวมสิทธิ ชาวนา หรือไม่ก็บังคับหรือขอมีเอี่ยวในสิทธิครั้งนี้ด้วย หรือไม่ก็ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีสิทธิ เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ หรืออาจขึ้นทะเบียนไม่ทัน หรือรายชื่ออาจตกหล่นสั่งคุมเข้มจ่ายเงิน
สารพัดปัญหา…ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้หัวหน้ารัฐบาลอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลให้การจ่ายเงินนั้นถึงมือชาวนาอย่างแท้จริง ไม่มีรั่วไหล ไม่มีทุจริตด้วยเพราะมาตรการเยียวยาชาวนาครั้งนี้ เป็นการใช้เงินงบประมาณมากถึง 40,000 ล้านบาท ที่สำคัญเมื่อรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” เข้ามาบริหารประเทศ ต้องไม่เกิดเหตุซ้ำรอยเฉกเช่นที่ “นักการเมือง” ชอบทำหรือปฏิบัติกันอยู่เป็นกิจวัตร!!แต่ในความเป็นจริง..เรื่องราวเหล่านี้คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศก็ตามคำว่า “โกง” อาจไม่หลุดพ้นไปจากสังคมไทย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ชาวนาเจ้าของสิทธิ ก็ต้องปกป้องสิทธิของตัวเอง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญก็ต้องมี “จิตสำนึก” ที่ทำให้ชาวนาได้รับเงินอย่างถูกต้อง ส่วนเจ้าของที่นา ก็ต้อง “เห็นใจ” ชาวนา ไม่เบียดเบียนหรือไปขูดเลือดเอากับปู เพราะชีวิตชาวนาที่ยากจนนั้นก็ลำบากมากพออยู่แล้วธ.ก.ส.แม่งานจ่ายเงินอย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำหน้าที่หลักคงหนีไม่พ้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ต้องเข้ามาเดินหน้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเรื่องของการจ่ายเงิน ตามที่รัฐบาลมอบหมาย ให้เป็นแม่งานในการโอนเงินเข้าบัญชีชาวนาที่ลงทะเบียน ที่คาดว่ามีชาวนาได้รับประโยชน์กว่า 3.49 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีประมาณ 63.8 ล้านไร่กระบวนการ…เริ่มจากการแจ้งขอขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นผู้ออกใบรับรองให้เกษตรกร จากนั้นจึงไปแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยแนบสำเนาใบรับรองเกษตรกร สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก สำเนาบัตรประชาชน ซึ่ง ธ.ก.ส. จะตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลในระบบของกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งจำนวนเงินชดเชยและเลขที่บัญชีเงินฝาก และเมื่อเอกสารครบถ้วน จึงโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงนอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้ซักซ้อมแนวทางการดำเนินงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ ไปยังสาขากว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ พร้อมจัดเตรียมทีมพนักงาน ออกสุ่มตรวจสอบการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ และตรวจสอบจากระบบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะลูกค้าที่ได้กำหนดไว้ 1 ครัวเรือนต่อ 1 บัญชีเท่านั้น ที่สำคัญต้องระบุชัดเจนว่า ทำอาชีพอะไร พื้นที่ในการทำการเกษตรเท่าใด อยู่บ้านเลขที่เท่าใด เพื่อนำมาเปรียบเทียบสถิติย้อนหลัง ในปีที่ผ่านมา ว่าปลูกข้าวจำนวนเท่าใด หรือมีความผิดปกติหรือไม่ ทำให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และชาวนาต้องได้รับเงินอย่างแท้จริงนำร่องก่อน 6 จังหวัดเมื่อเอกสารชาวนาได้รับการตรวจสอบถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเกษตรกรชาวนาตามลำดับการขึ้นทะเบียน ภายใน 3 วันทันที โดยประเมินว่าวันที่ 20 ต.ค.นี้ คาดวงเงินก้อนแรกอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากความสามารถในการจ่ายเงินตามกำลังของธนาคารเฉลี่ยวันละ 4,000-5,000 ล้านบาท และคาดว่าไม่เกิน 1 เดือนจะจ่ายเงิน 40,000 ล้านบาทให้ชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือนได้ทั้งหมด เบื้องต้นจะนำร่องก่อนใน 6 จังหวัด เพราะมีความพร้อมในระบบการขึ้นทะเบียน คือ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร ลพบุรี ขอนแก่นและศรีสะเกษขณะเดียวกันยังมี 8 จังหวัดภาคใต้ อาจมีปัญหาในเรื่องของฤดูการผลิต ที่ปลูกข้าวล่าช้ากว่าภาคอื่น ๆ ส่งผลให้การลงทะเบียนเกษตรกรจำเป็นต้องขยายออกไปอีก คาดว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 15 พ.ย. 57 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ และเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ภาคใต้ได้ในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย.นี้ขู่หัวหมอขึ้นบัญชีดำแต่ขั้นตอนที่ว่า…ไม่ได้ผ่านไปอย่างง่าย ๆ หากไม่เกิดการทุจริตขึ้นเสียก่อน ดังนั้นจึงต้องป้องกัน…ถ้าตรวจสอบภายหลังพบว่าชาวนาผิดเงื่อนไข เช่น แบ่งพื้นที่นาจาก 30 ไร่ เป็นครัวเรือนละ 15 ไร่ เพื่อให้เป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หรือกรณีเมื่อปีที่ผ่านมามีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ 5 ไร่ แต่หลังจากมีมาตรการนี้ขึ้นมา กลับมีจำนวนไร่พุ่งสูงขึ้นเป็น 10 หรือ 15 ไร่ เพื่อให้ได้รับสิทธิเพิ่มขึ้น ทาง ธ.ก.ส. เตรียมขึ้นบัญชีดำกับเกษตรกรชาวนาบุคคลนั้น และถูกตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือทุกโครงการนโยบายรัฐทุกโครงการทันที รวมถึง ไม่ได้รับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อใด ๆ จาก ธ.ก.ส. พร้อมถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากทางกรมส่งเสริมการเกษตรอีกด้วย เรียกได้ว่าทุจริตครั้งเดียว ถือว่าตัดอนาคตไปเลยทั้งนี้หลายคนอาจสงสัยว่ากระบวนการตรวจสอบ จะเชื่อถือได้หรือไม่? แต่ ธ.ก.ส. ยืนยันว่าจากอดีตที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ชาวนาในหลายโครงการแล้ว สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ เพราะมีข้อมูลอยู่ในระบบ ส่วนการนำพื้นที่ปลูกข้าวมาซอยไม่ให้เกิน 15 ไร่ เชื่อว่าทำได้ยาก เพราะการตรวจสอบมีขั้นตอนไปดูว่าบ้านเลขที่นี้ ขอใช้สิทธิหรือยัง ถ้ามาขอใช้สิทธิแล้วไม่ได้ ซึ่งทั้ง ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตร จะตรวจสอบเรื่องนี้ใกล้ชิด หากแจ้งข้อมูลเท็จทางกรมส่งเสริมการเกษตรมีบทลงโทษถึงขั้นดำเนินคดีทันทีภาครัฐผนึกป้องรั่วไหลขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางและตรวจสอบ การจดทะเบียนเกษตรกร พร้อมออกใบรับรองอย่างเข้มงวดป้องกันการสวมสิทธิ หรือรู้เห็นกับเจ้าของที่นาให้สิทธิเช่านารายใหม่ เพื่อมารับแจกเงิน รวมทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ จัดชุดเฝ้าสังเกตการณ์การจ่ายเงินให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และเงินต้องถึงมือชาวนา ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ส่วนที่กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้ผู้บริหาร ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ลงมาถึงนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกรายต้องรับผิดชอบ หากเงินช่วยเหลือชาวนาไปไม่ถึงมือของชาวนาจริง ๆ
สุดท้ายแล้ว! นโยบายจ่ายเงิน 1,000 บาท ให้ชาวนาในรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” จะสามารถส่งเงินถึงมือให้ชาวนาตัวจริงเสียงจริง ได้หรือไม่ คงต้องรอดู…วุฒิชัย มั่งคั่ง
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ดีเดย์จ่ายเงินปลูกข้าวไร่ละพัน การันตีเงินถึงมือชาวนาแน่!!!