shoplri.com ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

shoplri.com ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

Archives for ข่าวไอที นวัตกรรมใหม่ๆ

สกว.แนะจุดสังเกตที่ก่อสร้างเสี่ยงอันตราย

รองศาสตราจารย์ ดร. อมร พิมานมาศรองเลขาธิการสภาวิศวกร และนักวิจัยโครงการการเสริมกำลังโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยวิธีการพ่นวัสดุโพลีเมอร์เสริมเส้นใยภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายวิชาการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย( สกว.)เปิดเผยถึงข้อสังเกตสถานที่ก่อสร้างที่อาจเสี่ยงต่ออาคารถล่มและควรหลีกเลี่ยงว่ามี  7 ประการ ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตได้ คือ 1. ให้ดูโครงสร้างที่กำลังก่อสร้าง หากพบว่ามีขนาดเล็กผิดปกติ เช่น เสามีขนาดเล็ก หรือแผ่นพื้นที่วางบนเสาบางเกินไป เป็นโครงสร้างที่เสี่ยงต่อการถล่ม หากรับน้ำหนักมาก ๆ ในระหว่างการก่อสร้าง เสาอาจหัก หรือพื้นอาจเจาะทะลุผ่านเสาลงมากระแทกพื้นชั้นล่าง แล้วทำให้เกิดการวิบัติที่ลามเป็นลูกโซ่ตามมา ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายมาก 2. โครงสร้างในบริเวณที่พื้นยึดกับเสา โดยเฉพาะเสาต้นมุม และเสาต้นริมที่อยู่ตามแนวขอบอาคาร หากสังเกตเห็นพื้นไม่อมเสาทั้งต้น แต่มีจุดที่สัมผัสกันเพียงเล็กน้อย โดยจะเห็นคล้ายกับเสาลอยแยกออกมาจากพื้น เป็นโครงสร้างที่เสี่ยง เพราะพื้นอาจหลุดออกจากเสาได้ง่าย ๆ แล้วทำให้เกิดการพังถล่มของโครงสร้างได้ 3. สถานที่ก่อสร้าง หากไม่ติดแผ่นป้ายประกาศแจ้งการก่อสร้าง ณ สถานที่ก่อสร้าง ไม่ระบุชื่อเจ้าของโครงการ ชื่อวิศวกรผู้ออกแบบ ชื่อวิศวกรผู้ควบคุมงาน ลักษณะโครงสร้างที่กำลังก่อสร้าง และระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ ย่อมเป็นสถานที่ก่อสร้างที่เสี่ยงอันตราย เพราะไม่เปิดเผยการก่อสร้างให้ประชาชนรับทราบว่าใครเป็นผู้ดูแล 4. การใช้นั่งร้านค้ำยันรองรับน้ำหนักพื้นชั้นที่กำลังเทคอนกรีต หากใช้นั่งร้านน้อยหรือไม่เพียงพอย่อมเสี่ยงอันตราย เพราะตามปกติในขั้นตอนการเทคอนกรีตจะต้องใช้นั่งร้านค้ำยันรองรับน้ำหนักคอนกรีตในพื้นชั้นที่กำลังเทอยู่  และให้นั่งร้านตั้งอยู่บนพื้นชั้นล่างที่ก่อสร้างเสร็จก่อนหน้าแล้วเป็นฐานรองรับ ซึ่งอาจต้องค้ำนั่งร้านกับพื้นชั้นล่างมากกว่า 2 ชั้น ถ้ามีเพียงชั้นเดียวแสดงว่าอาจไม่พอเพียง ย่อมมีความเสี่ยงที่อาคารจะพังถล่มได้ โดยเฉพาะหากมีการเทคอนกรีตกองที่จุดใดจุดหนึ่งโดยไม่กระจายออกไป 5. คนงานในสถานที่ก่อสร้าง หากไม่สวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยในการทำงาน เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่สวมเข็มขัดช่วยชีวิต แสดงให้เห็นว่าการทำงานของคนงานไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย ผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และเป็นสถานที่ก่อสร้างที่มีความเสี่ยง 6. สถานที่ก่อสร้างไม่มีวิศวกรผู้ควบคุมงานอยู่ประจำ ปกติการก่อสร้างเป็นงานที่อันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการเทคอนกรีต ซึ่งจำเป็นต้องมีวิศวกรที่มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกรประจำอยู่ที่สถานที่ก่อสร้างเพื่อควบคุมการก่อสร้าง ไม่ควรปล่อยให้ดำเนินการโดยช่างก่อสร้างหรือแรงงานเพียงลำพัง และ 7. การก่อสร้างที่เร่งรีบเกินไป เช่น เร่งก่อสร้างทั้งเวลากลางวันกลางคืนต่อเนื่องกันไม่หยุดพัก หรือการก่อสร้างที่ลัดขั้นตอนเพื่อพยายามเร่งให้เสร็จงานตามกำหนดสัญญา ย่อมเป็นการก่อสร้างที่อันตราย เนื่องจากวัสดุก่อสร้างคอนกรีต จำเป็นต้องได้อายุเสียก่อนจึงจะมีกำลังรับน้ำหนักที่เพียงพอ หากเร่งการก่อสร้างมากเกินไป คอนกรีตที่ยังไม่แข็งแรงพอ อาจเสี่ยงต่อการวิบัติพังถล่มของโครงสร้างอาคารตามมาได้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สกว.แนะจุดสังเกตที่ก่อสร้างเสี่ยงอันตราย

Posts related

 














เรียนจบคอมพ์แล้วเขียนโปรแกรมไม่ได้ (1) – 1001

ปีการศึกษาใหม่จะเริ่มแล้วนะครับ ปีนี้มหาวิทยาลัยเลื่อนการเปิดเทอมออกไปสามเดือนจากเดิม เพื่อปรับตัวเข้ากับการเปิดรับ  AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ) ผมเองหยุดสอนประจำไปเสียหกเดือน หวังว่าสนิมคงไม่กัดกร่อนจนทักษะการสอนฝืดเคืองไปเสียหมด พูดเรื่องการเรียนคอมพิวเตอร์ สังคมเริ่มมีคำถามที่น่าสนใจเช่นที่จั่วหัวเรื่องไว้ ว่าเรียนจบ (ป.ตรี )  ด้านคอมพิวเตอร์มาแล้ว ทำไมจึงไปทำงานเขียนโปรแกรมไม่ได้ บ้างก็ว่าผู้สอน สอนมาไม่ดี บ้างก็ว่า หลักสูตรไม่ตรงกับที่ผู้ประกอบการต้องการใช้ ผู้ประกอบการก็มีความรู้สึกว่า ในขณะที่ตลาดไอทีขายดี ณ ปัจจุบัน การหาแรงงานคอมพิวเตอร์ ทำไมช่างยากเย็นเหลือเกิน สัมภาษณ์คนสมัครมาเยอะแยะ ก็ไม่สามารถจ้างงานได้พอ มีตัวเลขจากกระทรวงศึกษาธิการ (หาเอกสารอ้างไม่พบ)  ว่า เรียนคอมพิวเตอร์ จบปริญญาตรีแล้ว ตกงานจำนวนมาก มากกว่าเรียนสาขาอื่น ดูอะไร ๆ มันขัดแย้งกันไปเสียหมด บทความตอนนี้ ผมขอเสนอการนิยามปัญหาข้างต้น จะพยายามอธิบายสาเหตุจากความเข้าใจของผู้ที่สอนในมหาวิทยาลัยมานมนานและเสนอทางแก้ไขโดยสังเขป งานทางคอมพิวเตอร์มีหลายด้านนะครับ เช่น พัฒนาซอฟต์แวร์ ดูแลระบบ ออกแบบ ติดตั้ง ซ่อมบำรุง โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ คลังข้อมูล รวมไปถึงงานช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่แค่เขียนโปรแกรมอย่างเดียว ผมขอเสนอปัญหาจากมุมมองของผู้ประกอบการก็แล้วกัน เพราะจะทำให้เห็นเป้าหมายร่วมกันได้ ประการแรก ผู้ประกอบการมีความต้องการจ้างคนทำงานคอมพิวเตอร์ แต่จ้างคนได้ไม่เพียงพอ ถึงมีคนจบ ป.ตรีคอมพิวเตอร์มาเยอะ แต่ทักษะไม่พอทำงาน สาเหตุนี้ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยไปไม่ถึงตลาดโลก เพราะมีคนไม่เพียงพอที่จะทำงานใหญ่ ประการที่สอง ไอทีมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ปัจจุบันบริการไอทีต่าง ๆ หนีไปอยู่บนก้อนเมฆแล้ว (Cloud Services) คนของเราปรับตัวช้า เรียนรู้ของใหม่ด้วยตนเองไม่ทัน (ผมขอเน้นนะครับ “ด้วยตนเอง”)ขอกำหนดขอบเขตปัญหาที่จะมาพูดกันแค่นี้นะครับ สาเหตุที่คนเรียนจบป.ตรี “คอมพิวเตอร์” (มีหลากหลายหลักสูตร) แล้วไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้ง ๆ ที่มีความต้องการสูง สาเหตุใหญ่เนื่องมาจากทักษะไม่เพียงพอครับ งานคอมพิวเตอร์ เป็นงานที่ใช้ทักษะมาก ท่านอาจจะแปลกใจ ผมยกตัวอย่าง เช่น การลงซอฟต์แวร์ในเครื่อง (เช่น ลงวินโดว์สในเครื่องโน้ตบุ๊ก) การแก้ปัญหา ลำโพงเสียงไม่ดัง เมื่ออัพเดทซอฟต์แวร์ไปแล้ว การติดตั้งเครื่องพิมพ์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ตัวอย่างที่ยกมาเป็นงานพื้น ๆ เจอแทบทุกวันในสถานประกอบการ ยังมีทักษะที่เจาะจง เช่น การเขียนโปรแกรมด้วยเครื่องมือต่าง ๆ การตรวจสอบและทดสอบโปรแกรมก่อนส่งให้ลูกค้า ผมขอแจงสาเหตุที่ทักษะไม่พอดังนี้ 1.  เมื่อเป็นงานทักษะ สภาพการเรียนการสอนที่เหมาะสม จะต่างจากหลักสูตร ป.ตรี “คอมพิวเตอร์” ในปัจจุบัน เพราะต้องมี “โปรเจคท์” ให้ผู้เรียนฝึกหัดทักษะโดยสม่ำเสมอ ให้เก่งขึ้นตามลำดับ 2. งานทักษะ ต้องการ “ครู” จับมือสอน ถ้าไม่มีครู ก็ผลิต “แรงงาน” ยาก การผลิตแรงงานจำนวนมาก (เช่นที่เราพยายามทำอยู่ในปัจจุบัน) ให้ได้คุณภาพจึงต้องใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากการเอาครูมาบรรยายหน้าชั้นเรียน 3. การเรียนคอมพิวเตอร์ ต้องใช้ความรู้พื้นฐาน เรื่องตรรกะและคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่อยากเรียนคอมพิวเตอร์จะถนัด ปัญหาของผู้เรียนไม่เก่ง มักจะมาจาก พื้นฐานความรู้อ่อนแอจนไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ต้องเรียนได้ 4. งานด้านนี้ ต้องหาความรู้เองเยอะ เพราะของใหม่มาทุกวัน เทคโนโลยีใหม่ ภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ วิธีใช้แบบใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่ทางสังคม (เช่น เฟซบุ๊ก) ทักษะที่จำเป็น คือ ภาษาอังกฤษ ต้องคล่อง อย่างน้อยต้องอ่านเก่ง เข้าใจได้เร็ว 5. ทักษะอีกอย่างที่จำเป็นคือเรียนรู้ไว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง งานทำโปรแกรม เป็นงานหยุมหยิม งานละเอียดเยอะ ผู้เรียนส่วนใหญ่ “ผิดคาด” ส่วนการ  “ผิดคาด” นั้น จะผิดคาดอย่างไร อาทิตย์หน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ. ศ.ดร.ประภาส จงสถิตวัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เรียนจบคอมพ์แล้วเขียนโปรแกรมไม่ได้ (1) – 1001

เลือกซื้อแท็บเล็ตให้เหมาะกับการใช้งาน

หลายคนมักคิดว่าตัวเลขสูง ๆ จะนำมาซึ่งประสิทธิภาพที่สูงกว่าอยู่เสมอ แต่บางครั้งตัวเลขเพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะไม่ได้สะท้อนประสิทธิภาพที่แท้จริงก็ได้  ตัวอย่างเช่นเรื่องของ คอร์ (core) บนชิปประมวลผล บางครั้งชิปที่มีจำนวนคอร์น้อยกว่าอาจจะใช้พลังงานได้ประหยัดกว่าและมีประสิทธิภาพเหนือกว่าชิปที่มีคอร์มากกว่าก็ได้ เพราะว่า “จำนวน” คอร์ ไม่ได้สำคัญเท่า “คุณภาพ” ของแต่ละคอร์ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเมื่อมีคอร์มากขึ้น ชิปประมวลผลจะต้องหาวิธีให้คอร์แต่ละคอร์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าชิปที่มีจำนวนคอร์มากกว่า มักจะมีประสิทธิภาพสูงกว่านั้นไม่จริงเสมอไป เพราะว่าคอร์แต่ละคอร์ไม่ได้มีความสามารถเท่ากัน เปรียบเทียบกันแค่จำนวนคอร์ในแท็บเล็ต อาจจะไม่ได้บอกถึงประสิทธิภาพทั้งหมด คอร์ มีหน้าที่ประมวลคำสั่งที่ได้รับมาจากผู้ใช้งานเปรียบเหมือนกับเครื่องคิดเลข แต่ว่าต่อให้มีเครื่องคิดเลขหลายเครื่องเพื่อการคำนวณเลขง่าย ๆ ย่อมไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนคอร์เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าชิปนั้น ๆ ได้ถูกออกแบบมาให้ทุกคอร์ทำหน้าที่เสริมกันได้อย่างดีหรือไม่ นอกจากนั้นคอร์จะมอบประสิทธิภาพสูงสุด ก็ต่อเมื่อนำไปใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อสามารถกระจายคำสั่งให้ตัวคอร์ทั้งหมดทำงานร่วมกันได้อย่างดี ถ้าชอบเล่นเกมบนแท็บเล็ต จำเป็นต้องเน้นคอร์สูง ๆ หรือไม่ การเล่นเกมหรือการใช้งานที่เน้นกราฟิกเยอะบนเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีอาจจะต้องการคอร์ที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามเกมบนแท็บเล็ตที่เป็นที่นิยมในท้องตลาดปัจจุบัน ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานบนชิปประมวลผลแบบ 2 คอร์ และ 4 คอร์เท่านั้น ดังนั้นไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ผู้ใช้งานจะต้องไปเลือกชิปที่มีคอร์มากที่สุดมาเพื่อใช้งาน เช่น หลายคนหันไปซื้อชิปที่มีคอร์มากถึง 8 คอร์ แต่หากเกมหรือโปรแกรมที่จะใช้งานนั้น ไม่ได้ออกแบบมาให้ทำงานแบบ 8 คอร์ได้ มันก็จะใช้เพียงแค่ 2 หรือ 4 คอร์จากที่มีทั้งหมดเท่านั้น “การออกแบบชิปของอินเทล เราจะใส่คอร์เพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานจริง ๆ เท่านั้น นอกจากนั้น เรายังทุ่มเทเวลาในการพัฒนาเพื่อให้แน่ใจได้ว่าทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อประสิทธิภาพที่สูงสุดและคุ้มค่านั่นเอง” คริสโตเฟอร์ เคลลี่ หัวหน้าอินเทล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ ประเทศมาเลเซียกล่าว “สมมุติว่าคุณจะเล่นเกม  Candy Crush* หรือ Modern Combat 4* คุณไม่จำเป็นต้องใช้คอร์สูง ๆ เลย เพราะว่าเพียง 2 คอร์ก็สามารถทำให้การใช้งานลื่นไหลได้แล้ว  ต่อให้เครื่องของคุณมี 8 คอร์ ก็ไม่ได้หมายความว่าการประมวลผลของเกมนั้นจะเร็วขึ้น” ชิปประมวลผลของอินเทลนั้น ถูกผลิตขึ้นมาบนพื้นฐานสถาปัตยกรรมแบบ 64 บิต ต่างจากชิปทั่วไปที่เป็นแบบ 32 บิต นั่นหมายความว่าชิปแบบ 64 บิต จะประมวลผลได้เร็วกว่า และถ้านับในเวลาที่เท่ากันก็สามารถประมวลผลข้อมูลได้จำนวนมากกว่า เปรียบได้เหมือนเวลาไปเข้าคิวซื้อตั๋วหนัง การมีช่องให้บริการ 64 ช่อง ก็จะสามารถให้บริการลูกค้าได้เร็วกว่าการที่มีเพียง 32 ช่องเท่านั้น อินเทลได้ทำการทดลอง อินเทล อะตอม   Z3480 โดยทดลองในโหมด 64 บิต กับ 32 บิต บนแอพพลิเคชั่นเดียวกัน   พบว่าโหมด 64 บิตนั้นทำงานดีกว่า โดยการบีบอัดข้อมูลมีความเร็วกว่าถึงร้อยละ  33 และการเล่นเกมหมากรุก คอมพิวเตอร์สามารถประมวลเลือกตัวหมากออกมาแข่งได้เร็วกว่าถึงร้อยละ 34 พูดง่าย ๆ คือว่า การใช้ชิปที่มีเทคโนโลยี  64 บิต จะมอบประสิทธิภาพที่สูงกว่าให้กับเครื่องได้ หากเราจะเปรียบเทียบนวัตกรรมของชิปในแท็บเล็ตกับเครื่องบิน ตัวคอร์ก็เหมือนการพัฒนาจากใบพัดเครื่องบินมาเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบ เมื่อก่อนเราจำเป็นต้องมีใบพัดหลายใบเพื่อทำให้เครื่องบินมีสมรรถนะสูงขึ้น แต่ปัจจุบันเรามีเครื่องยนต์เทอร์โบแล้ว จึงเห็นว่าทั้งแอร์บัส A330 และโบอิ้ง 787 ใช้เครื่องยนต์เพียงแค่ 2 ตัว เพราะว่ามีความแรงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ถ้าหากไปติดตั้งเครื่องยนต์เพิ่มเป็น 8 เครื่องก็มีแต่จะเสียเชื้อเพลิงไปเปล่า ๆ ซึ่งก็เหมือนกันกับแท็บเล็ตที่ใช้ชิปที่มีหลายคอร์ อินเทลได้มีการพัฒนาคอร์ ของโปรเซสเซอร์ให้กินไฟน้อยลงเมื่อทำงานที่เท่ากัน และยังได้มีการพัฒนาให้ชิปสามารถทำงานได้หลายงานพร้อมกัน ด้วยเทคโนโลยีอย่าง อินเทล ไฮเปอร์ เทรดดิ้ง เทคโนโลยี โปรเซสเซอร์ของอินเทลสามารถใช้คอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำงานได้เหมือนชิปอื่น ๆ ที่มีคอร์มากกว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไร เวลาไปเลือกซื้อแท็บเล็ตว่า เครื่องไหนจะมีประสิทธิภาพมากกว่า  คำตอบคือ เมื่อหันมาดูปัจจัยหลาย ๆ อย่างแล้ว การที่จะบอกว่าชิปที่มีคอร์เยอะ จะมีประสิทธิภาพมากกว่านั้น อาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและอาจไม่ได้เลือกซื้อสิ่งที่เหมาะสมกับการใช้งานที่สุดเสมอไป เพราะว่าคอร์แต่ละคอร์ สร้างมาบนพื้นฐานที่ต่างกัน และการมีหลายคอร์ทำให้แท็บเล็ตกินไฟมากขึ้น วิธีง่าย ๆ คือตอบตัวเองให้ได้ว่าต้องการแท็บเล็ตเครื่องนั้นไปใช้ทำงานประเภทใด แล้วไปลองใช้งานจริงที่ร้านค้าดู รวมถึงศึกษาข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากจำนวนคอร์ เช่น การใช้งานแบตเตอรี่ การเชื่อมต่อไวไฟและ 3จี เพื่อประกอบการตัดสินใจไปด้วย อย่าให้จำนวนคอร์มาทำให้หลงเชื่อว่าจะทำงานได้ดีกว่า   เพราะว่ามันไม่จริงเสมอไป.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เลือกซื้อแท็บเล็ตให้เหมาะกับการใช้งาน

Page 180 of 805:« First« 177 178 179 180 181 182 183 »Last »
Home Webmail Password Help File Manager Logout Edit a file