shoplri.com ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

shoplri.com ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

Archives for ข่าวไอที นวัตกรรมใหม่ๆ

PwCเผยปี2557ภัยไซเบอร์ทั่วโลกพุ่งสวนทางกับงบป้องกันที่ลดลง

วันนี้ (28 ตุลาคม 2557 ) นางสาววิไลพร   ทวีลาภพันทอง    หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจ The Global State of Information Security Survey 2015 ซึ่งจัดทำโดย PwC(ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) ร่วมกับนิตยสาร CIO และ CSO ผ่านการสำรวจความคิดเห็นบรรดานักธุรกิจและผู้นำบริษัทไอทีชั้นนำทั่วโลกกว่า 9,700 ราย ครอบคลุม 154 ประเทศ พบว่า จำนวนภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Information security) ทั่วโลกในปี 2557 สูงถึง 42.8 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นถึง 48% จากปี 2556  และมีการโจมตีเฉลี่ย 117,339 ครั้งต่อวัน หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 66% จากปี 2552 ที่เริ่มทำการสำรวจภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก นางสาววิไลพร    กล่าวว่า ในปี 2557 ถือเป็นปีที่สร้างความกังวลที่สุดปีหนึ่งหลังพบว่า ภาคธุรกิจมีการลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลลดลง สวนทางกับความถี่และความเสียหายทางการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆโดย ภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในยุโรปพบว่า ภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น 41% อเมริกาเหนือ 11% และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 5% ด้วยเหตุนี้เองทำให้มูลค่าความเสียหายทางการเงิน (Financial losses) ที่เกิดจากภัยคุกคามความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศทั่วโลกในปีนี้มีมูลค่าถึง 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 87 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 27 ต.ค.57 ที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 32.32 บาท) เพิ่มขึ้น 34% จากปี 2556 และมีจำนวนบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อไซเบอร์โดยรายงานความเสียหายเป็นมูลค่าถึง 20 ล้านดอลลาร์ หรือราว 646 ล้านบาทขึ้นไปเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา ขณะเดียวจากผลสำรวจกลับพบว่า การลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล (Information security budgets) ในปี 57 ปรับตัวลดลง 4% มาที่ 4.1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 132 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2556 ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลในส่วนของงบด้านไอทีคงตัวอยู่ที่ 4% หรือน้อยกว่านั้น ติดต่อกันมาเป็นเวลา 5 ปี  ซึ่งภาคอุตสาหกรรมที่ลดงบด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมคอมพิวเตอร์มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน-อวกาศและการป้องกันประเทศ   ธุรกิจด้านเทคโนโลยี  ค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค  ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวโน้มธุรกิจของบางอุตสาหกรรมมีทิศทางไม่สดใสเปรียบเทียบกับอดีต ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มงบประมาณด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ สำหรับแนวโน้มอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในเอเชียและไทย  นางสาววิไลพร กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นผู้นำในการดำเนินกลยุทธ์และนำมาตรการการป้องกันความปลอดภัยด้านข้อมูลในด้านต่างๆมาใช้  แต่มีความไม่ต่อเนื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้   ส่วนประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตต่างๆ นั้นสามารถทำได้จากโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ทำให้การเข้าเน็ตเป็นเรื่องง่าย   นอกจากนี้ ข้อมูลของกองบัญชาการปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่า ในปี 2556 มีการฉ้อโกง ซื้อ-ขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากที่สุดจำนวนกว่า 250 คดี รองลงมา เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจำนวน 100 คดี มีมูลค่าการเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไปคือ แนวโน้มอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในไทยที่เพิ่มขึ้น จะสวนทางกับความพร้อมในการรับมือภัยจากโลกไซเบอร์ เพราะมาตรการรักษาปลอดภัยที่มีนั้น อาจไม่ทันสมัย หรือเพียงพอต่อการก่ออาชญากรรมที่พัฒนารูปแบบไปอย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้ โซลูชั่นที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ก็อาจกลายเป็นบ่อเกิดของภัยคุกคามเสียเอง ทั้งจากการใช้งานผู้ให้บริการภายนอก แอพพลิเคชั่นมือถือ การเข้ารหัสข้อมูล และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กร ดังนั้น ภาคธุรกิจและหน่วยงานของรัฐฯต้องหันมาให้ความสำคัญและแนวทางรับมือภัยคุกคามความปลอดภัยอย่างจริงจัง  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : PwCเผยปี2557ภัยไซเบอร์ทั่วโลกพุ่งสวนทางกับงบป้องกันที่ลดลง

Posts related

 














บุ๊คโดส พัฒนา “อี-ไลบรารี่” ส่งตรง ปตท.สผ

บริษัท บุ๊คโดส จำกัด ได้พัฒนาระบบ “อี-ไลบรารี่” ให้กับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)(ปตท.สผ )โดยเป็นการผลิตระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารได้โดยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ “Smart Reading Everywhere” ที่สามารถทำให้การอ่านเกิดขึ้นได้ทุกที่ โดยประกอบด้วยคอนเทนท์ต่างๆ เช่น อีบุ๊คและอีแมกกาซีน ที่ได้รับลิขสิทธิ์เผยแพร่จากสำนักพิมพ์ ได้แก่ เครืออัมรินทร์ เอเชียบุ๊ค และนานมีบุ๊ค เพื่อเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ที่สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานและลดการใช้กระดาษ สร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนายเกียรติขจร วรปรัชญา ผู้อำนวยการจัดการข้อมูล บริษัท บุ๊คโดส จำกัด กล่าวว่า ปตท.สผ เป็นบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่มีพนักงานอยู่แท่นขุดเจาะทั่วโลกที่มีความต้องการอ่านหนงสือต่างๆ แม้จะมีห้องสมุดส่วนกลางแล้วก็ไม่สามารถสร้างสังคมการอ่านได้จริง เพราะมีข้อจำกัดด้านการขนส่งไปยังแท่นขุดเจาะที่มีค่าใช้จ่ายสูงแต่พอวางระบบ “อี-ไลบรารี่” แล้วพนักงานสามารถโหลดอี-บุ๊ค หรืออี-แมคกาซีน เล่มนั้นบนแอพฯ “อี-ไลบรารี่” ของบริษัท มาอ่านได้ทันทีที่ต้นฉบับวางแผนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ประหยัดค่าขนส่งและรวดเร็วทันทีที่ดาวน์โหลดมาอ่านสำหรับบุ๊คโดสเป็นผู้ผลิตระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์แห่งเดียวในประเทศไทย โดยพัฒนาสังคมการอ่านที่ทันสมัยและสะดวกในการใช้งาน คัดสรรหนังสือที่น่าสนใจจากผู้มีความรู้ และคาดว่าจะให้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์เพื่อบริการประชาชนในโรงพยาบาล โรงแรม หมู่บ้าน คอนโด อพาร์ทเมนต์หรือร้านกาแฟต่อไป

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บุ๊คโดส พัฒนา “อี-ไลบรารี่” ส่งตรง ปตท.สผ

กล้องจุลทรรศน์นาโน พิชิตโนเบล

จากคลื่นลูกใหม่ “นาโนเทคโนโลยี” ในอดีต ขณะนี้กลายมาเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับและได้รับความสนใจจากแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพราะกลายมาเป็นศาสตร์สำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ นำมาพัฒนาเทคนิควิธีการต่างๆ จนกระทั่งเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น ” การพัฒนาเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ความละเอียดสูง” ผลงานได้รับรางวัลโนเบล ประจำปี 2557 จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน กรุงสต๊อกโฮล์ม ซึ่งประกาศรางวัลให้กับ 3 นักวิทยาศาสตร์ได้แก่ เอริค เบตซิค แห่งสถาบันวิจัยการแพทย์โฮเวิร์ด ฮิวจส์ สหรัฐอเมริกา วิลเลียม อี. โมร์เนอร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา และสเตฟาน ดับเบิลยู เฮลล์ แห่งสถาบันวิจัยแม๊กซ์แพลงค์เพื่อการวิจัยเคมีชีวกายภาพ ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี ศาสตราจารย์นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า ในปี ค.ศ. 1873 (พ.ศ.2416) หรือ 141 ปีที่แล้ว นักฟิสิกส์และนักประดิษฐ์ ชื่อ เอิร์นส์ แอบเบ (Ernst Abbe) ได้เสนอว่าเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกนั้น ไม่สามารถให้ความละเอียดสูงที่เล็กกว่าระดับ 200 นาโนเมตรได้ เรียกว่าเห็นได้แค่แบคทีเรีย แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์3 ท่านนี้ ทำได้นั้น ก็คือการก้าวข้ามข้อจำกัด ที่ เอิร์นส์ แอบเบ ได้วางไว้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านฟลูออเรสเซนส์ในระดับนาโนที่พัฒนาไปได้รวดเร็วอย่างต่อเนื่อง จนได้วิธีการที่เรียกว่า นาโน สโครป( Nano Scope) ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเห็นความละเอียดที่คมชัดสูง จากเดิมขนาดเล็กกว่าระดับ 200 นาโนเมตร ลงไปอยู่ที่ขนาดเล็กในระดับ 50 นาโนเมตรได้แล้วในปัจจุบัน หรือเรียกว่าสามารถมองเห็น ไวรัส ได้แล้วนั่นเอง ด้านดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ระดับนาโน นาโนเทค อธิบายถึงการพัฒนาเทคนิควิธีการ ที่ทำให้ 3 นักวิทยาศาสตร์พิชิตรางวัลโนเบล ว่า มี 2 เทคนิค โดยเทคนิคแรก คือเทคนิคที่เรียกว่า STED (stimulated emission depletion) พัฒนาขึ้นโดย สเตฟาน ดับเบิลยู. เฮลล์ เป็นเทคนิค ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเห็นอนุภาคและรายละเอียดขนาดเล็กในระดับนาโนเมตรได้ โดยไม่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แต่จะอาศัยการทำงานของลำแสงเลเซอร์พร้อมกัน 2 ลำแสง ลำแสงแรกจะไปกระตุ้นให้โมเลกุลฟลูออเรสเซนท์เรืองแสงขึ้นมา ส่วนอีกลำแสงจะทำหน้าที่หักล้างลำแสงลำแรก โดยเว้นให้เหลือเส้นลำแสงแคบๆ เล็กๆ ในระดับนาโนเมตร เมื่อขยับส่องไฟฉายนาโนนี้ไปทีละนาโนเมตรทั่วๆ วัตถุก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นภาพที่มีความละเอียดในระดับนาโนเมตร ส่วน เทคนิคที่สอง คือ เทคนิคที่เรียกว่า single-molecule microscopy ซึ่งพัฒนาโดย เบตซิค และวิลเลียม อี.โมร์เนอร์ หลักการของเทคนิคนี้ อาศัยพื้นฐานความน่าจะเป็นที่จะเกิดการเรืองแสงของแต่ละโมเลกุลฟลูออเรสเซนท์ เมื่อกระตุ้นให้เกิดการเรืองแสงและใช้กล้องจุลทรรศน์ถ่ายภาพในตำแหน่งเดียวกันหลายๆภาพ จากนั้นก็นำภาพมาซ้อนกันและประมวลรวมให้เป็นภาพเดียว ก็จะได้ภาพความละเอียดสูงออกมา จากเทคนิคดังกล่าวทำให้นักวิจัยสามารถดูพัฒนาการ การเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นถึงระดับโปรตีน นำมาซึ่งการวิเคราะห์ทดสอบที่แม่นยำขึ้น เช่น การทดสอบการให้ยาซึมเข้าไปในเซลล์ ซึ่งแต่ก่อนมองไม่เห็นว่าโมเลกุลยาซึมเข้าไปในเซลล์ได้อย่างไร แต่ถ้าใช้วิธีการนี้จะมองเห็น สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการรักษามะเร็งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการนาโนเทค บอกว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ศาสตร์ทางด้านนาโนเทคโนโลยี เริ่มถูกนำมาใช้ต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดวิทยาการที่ล้ำยุค ล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รางวัลการันตีระดับโนเบลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยไทยก็มีโอกาสใช้เทคนิคนี้ในห้องปฏิบัติการชั้นนำระดับโลกมาบ้าง และสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับประเทศไทยก็คือ ขณะนี้ นาโนเทคกำลังจะนำเทคนิควิธีการนาโน สโครป นี้ มาใช้ในต้นปี 2558 โดยเทคนิควิธีการ ดังกล่าวจะเป็นเทคนิคแรกที่นำมาใช้กับงานวิจัยของศูนย์นาโนเทค และยังเป็นเทคนิควิธีการแรกของประเทศไทย ที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนางานวิจัยนาโนเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อนักวิจัยไทยได้ใช้เทคนิคดังกล่าวในการทำงานวิจัยอย่างแพร่หลายแล้ว จะช่วยสร้างผลกระทบต่องานวิจัยไทยให้เกิดประสิทธิภาพของงานวิจัยที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ ทัดเทียมงานวิจัยระดับนานาชาติได้อย่างแน่นอน.       

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กล้องจุลทรรศน์นาโน พิชิตโนเบล

Page 14 of 805:« First« 11 12 13 14 15 16 17 »Last »
Home Webmail Password Help File Manager Logout Edit a file