ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปแฮก (Hack) หรือโจรกรรมข้อมูลใคร แต่นี่เป็นอีกมุมที่ดี ๆ ของการใช้คำว่า “แฮก” อย่างสร้างสรรค์ และนำมาเป็นชื่อกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Growth Hacking”  (โกรว์  แฮกกิ้ง) ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้อย่างก้าวกระโดด กลยุทธ์นี้คืออะไร ! “นีล  พาเทล” ผู้ประกอบการดาวรุ่งที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของนักการตลาดออนไลน์ระดับโลก  ซึ่งดีแทค ลงทุนเชิญมาติวเข้มให้กับสตาร์ตอัพที่ผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายในโครงการดีแทค แอคเซอเลเรท  อธิบายให้ฟังว่า Growth Hacking เป็นศาสตร์ใหม่  ที่ใช้ในการทำตลาดออนไลน์ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือสตาร์ตอัพ ที่ต้องใช้ทรัพยากรรวมถึงงบประมาณอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันการลงโฆษณาหรือซื้อแอด  อาจไม่คุ้มค่ากับการได้มาซึ่งลูกค้าเพียงไม่กี่ราย เทคนิคที่นำมาใช้จึงมีตั้งแต่ การใช้เพื่อนแนะนำเพื่อน อย่างเช่น ดรอปบ๊อกซ์ ที่เติบโตจากการให้พื้นที่ฟรี และจะเพิ่มพื้นที่ให้เป็นพิเศษหากมีการแนะนำเพื่อนมาใช้งาน เทคนิคต่อมาก็คือ การใช้งานร่วมกับ ผู้อ่ืน อย่างเช่น การนำแอพพลิเคชั่นไปฝากไว้กับบริการที่กำลังเป็นที่นิยมและมีฐานลูกค้ามากอยู่แล้ว และให้ประโยชน์กับบริการนั้น ๆ เรียกว่ามีประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย วิธีการนี้ “นีล พาเทล” บอกว่า เจ้าของบริการสุดฮิตจะช่วยโปรโมตให้เราโดยไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่น้อย ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วและใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด และเทคนิคสุดท้ายก็คือการให้ฟรีกับลูกค้าได้ทดลองใช้ก่อน ซึ่งอาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นคอนเทนต์หรือข้อมูลต่าง ๆ ก็ได้ “นีล  พาเทล” บอกอีกว่า นี่คือแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบนโลกออนไลน์ที่เหมาะกับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่เพียงแค่ปรับวิธีคิดเล็กน้อย เพราะหากพึ่งการทำโฆษณาอย่างเดียว งบประมาณเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่กลยุทธ์  Growth   Hacking  ก็ใช่ว่าจะใช้ได้ผลทันที  ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ต่างกับการใช้โฆษณาที่วัดผลได้ ทั้งนี้หากใช้ร่วมกับทั้งกลยุทธ์นี้และการโฆษณา คาดว่าจะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ 1-2 เท่าตัวทีเดียว สำหรับสตาร์ตอัพเมืองไทย “นีลพาเทล” บอกว่าเทคนิคที่เหมาะสมก็คือการใช้เพื่อนแนะนำเพื่อน และการให้ฟรีไปก่อน ส่วนการมองว่าเทคนิคเพื่อนแนะนำเพื่อนจะกลายเป็นสแปมหรือไม่นั้น ก็มีเทคนิคที่ทำให้มีความเป็นส่วนตัวและมีประสิทธิภาพในการชวนมากขึ้น  ซึ่งที่สำคัญก็คือสิ่งที่แชร์ให้เพื่อนนั้นต้องมีประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ดีจากการพบกับสตาร์ตอัพที่ผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายในโครงการดีแทค แอคเซอเลเรท “ นีล  พาเทล” บอกว่า ส่วนใหญ่สตาร์ตอัพในเอเชียมักจะสร้างธุรกิจเพราะว่าอยากทำ แต่ที่เมืองไทยแปลกไปกว่านั้น  เพราะที่นี่… เหตุผลในการสร้างธุรกิจ เพราะอยากที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับลูกค้าซึ่งเชื่อว่าแนวทางเหล่านี้จะเป็นไปได้ดี และมีโอกาส ปัจจุบันสตาร์ตอัพไทยอาจจะยังขาดแหล่งเงินจากนักลงทุน รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ  แต่คาดว่า 5 ปีข้างหน้า จะโตอีกมากและนักลงทุนจะเข้ามาเอง. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : Growth Hacking เทคนิคใหม่ในตลาดออนไลน์ – ช็อปฉลาดตลาดอัจฉริยะ

Posts related