พ.ศ. นี้อะไร ๆ ก็ซัมซุง เจอเอ็นเอ็กซ์ 30 (NX30) กล้องมิเรอร์เลสล่าสุดยี่ห้อนี้เลยรีบคว้าขอมาลอง เป็นมิเรอร์เลสเปลี่ยนเลนส์ที่มีรูปร่างกระชับเหมาะมือ ทรงเดียวกับดีเอสแอลอาร์(DSLR)ที่มืออาชีพใช้กันแต่นํ้าหนักเบาและขนาดย่อมกว่ากัน ระดับความละเอียด 20 ล้านพิกเซลใช้เซ็นเซอร์รับภาพซีมอส (CMOS) ฟอร์แมต APS-C ขนาด 23.5 x15.7 มม. ประมวลผลภาพด้วยชิพ DRIMeIV เลนส์ที่ติดกล้องขนาด 18 -55 ใช้งานได้อเนกประสงค์ มีค่าความไวแสง(ISO)ตั้งแต่ 100-25600 ความเร็วชัตเตอร์กว้างเริ่มที่ 30 ไปถึง 8000 สเปกนี้ทำให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยทำงานได้ดี หยุดภาพความเคลื่อนไหวช่วงโพล้เพล้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแฟลช ซัมซุงขยายความว่าเซ็นเซอร์ซีมอส และ SamsungNX AF System II เป็นตัวช่วยจับโฟกัสแบบอัตโนมัติรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น จุดโฟกัสแบบ TotalAF Point 105 จุดและระบบตรวจสอบโฟกัสไฮบริดหาความคมชัดถึง 247 จุด จุดเด่นที่ NX30 มีและหาจากรายอื่นไม่เจอเป็นช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์วิวไฟน์เดอร์ ที่ดึงออกมาปรับมุมมองได้ถึง 80 องศาช่วยให้การคิดสร้างสรรค์มุมภาพแปลก ๆ ทำได้ง่ายในขณะที่จอมองภาพไลฟ์วิวขนาด 3 นิ้วก็ปรับหมุนได้ ภาพต่อเนื่องในโหมดนี้กดชัตเตอร์ค้างไว้ทีเดียวได้ภาพเรียงมา 9 เฟรมต่อวินาทีมั่นใจได้ว่าช็อตสำคัญจะไม่ตกหล่น เราพกพา NX30 ไปลุยงานสนามหลายแห่งความชอบใจอย่างแรกคือไม่มี ภาระนํ้าหนักรบกวนกริปหรือมือจับทำได้เหมาะกระชับจับแล้วขยับนิ้วไปปิดเปิดสวิตช์ง่ายกดชัตเตอร์สะดวก โหมดแมนน่วล (M) ตอนแรกใช้อาจงงนิดหน่อยแต่สักพักก็ชิน ส่วนการใช้งานถ่ายคลิปวิดีโอเอ็นเอ็กซ์ 30 น่าจะเป็นกล้องที่ให้ความคล่องตัวมากที่สุดเพราะปุ่มแดงสำหรับบันทึกภาพเคลื่อนไหวอยู่ตรงนิ้วหัวแม่มือที่ไม่ว่าจะถ่ายภาพนิ่งในโหมดใดถ้านึกอยากได้คลิปก็แค่เปลี่ยนจากนิ้วชี้ที่กดชัตเตอร์ขยับนิ้วโป้งกดลงไปทีเดียวก็เคลื่อนกล้องไปหามุมที่ต้องการพอใจแล้ว อยากเปลี่ยนเป็นภาพนิ่งแค่คลิกนิ้วชี้ ก็คืนสู่ระบบภาพนิ่ง แต่ถ้าค้างอยู่ในโหมดเอ็มจะต้องระวังว่า รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์พร้อมสำหรับสภาพความสว่างขณะนั้นหรือไม่แต่ถึงจะไม่เหมาะก็เห็นจากช่องมองภาพให้รีบปรับรูรับแสงให้พอดีได้อยู่แล้ว เอ็นเอ็กซ์จึงน่าจะเหมาะกับผู้ใช้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะที่มีเป้าหมายให้ได้ภาพที่ดี หรือถ้าเป็นคนที่ติดว่าต้องใช้แบรนด์ดังซัมซุง ก็รู้จักกันดีอยู่แล้ว. วีระพันธ์ โตมีบุญ@vp2650 veeraphant@gmail.com  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : NX30 อารมณ์โปร – ฉลาดใช้

Posts related