เมื่อไทยก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลอย่างเต็มตัว การเติบโตและแข่งขันที่รุนแรงคงไม่พ้นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ต้องสร้างสรรค์คอนเทนต์ดี ๆ มีจุดเด่นมาป้อนตลาด นายนิธิพัฒน์ สมสมาน นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย หรือ TACCA เล่าว่าเมื่อช่องทีวีดิจิตอลมีเพิ่มมากขึ้น จะต้องมาดูว่าต่อจากนี้ไปช่องไหนจะมีความน่าสนใจมากกว่ากัน โดยดึงจุดขายของช่องออกมาสู้กัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของช่องเด็ก 3 ช่องที่ประมูลทีวีดิจิตอลไปนั้น ขณะนี้จะต้องเร่งหาคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและผังรายการตามที่ กสทช.กำหนด ซึ่งทั้ง 3 ช่องได้ติดต่อกับทางสมาคมเพื่อหาคอนเทนต์มาลงช่วงเวลา “ยอมรับว่าตอนนี้ช่องเด็กต้องซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูปจากต่างประเทศมาออกอากาศ เนื่องจากการที่จะผลิตคอนเทนต์แต่ละเรื่องต้องใช้เวลา 1-2 ปี ดังนั้นต้องลงทุน เพราะการจะสร้างคอนเทนต์แต่ละเรื่องไม่ใช่ว่าฉายแล้วจบ จะต้องสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ ด้วย” นายนิธิพัฒน์ เล่าว่า จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิตอลทีวี ทำให้มูลค่าของตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในภาคการผลิตมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ผู้ประกอบยังไม่เข้าใจถึงต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์จะต้องแบกภาระในส่วนนี้พอสมควร ปัจจุบันตลาดรวมของแอนิเมชั่นยังคงดีอยู่ ยังคงมีงานในประเทศและต่างประเทศในสัดส่วนที่ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก ทั้งนี้ จากการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล การผลิตคอนเทนต์มีต้นทุนสูงขึ้น สิ่งที่สมาคมพยายามผลักดันตลอดมาคือ การเจรจากับภาครัฐให้สนับ สนุนนักพัฒนาแอนิเมชั่นไทย ทั้งนี้ ได้เข้าหารือกับกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อขอความคิดเห็นในการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทย ให้เป็นสินค้าที่พร้อมส่งออก เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ภาครัฐให้เงินทุนสนับสนุนตลาดที่เป็นงานสร้างสรรค์ สำหรับกองทุนจะมีลักษณะการสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ การให้เงินสนับสนุนตามโครงการต่าง ๆ ที่ทางผู้ประกอบการเสนอเข้าไป หรือ เป็นรูปแบบที่ให้ผู้ประกอบการสามารถลดหย่อนภาษีได้ 30% และขั้นตอนต่อไปอาจเข้าพูดคุยกับตลาดหลัก ทรัพย์ และกระทรวงการคลัง จะเห็นได้ว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดแอนิเมชั่นไทยค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่บริษัทต่างชาติจ้างงานคนไทยให้ผลิต แต่ตอนนี้บริษัทต่างชาติเริ่มเข้ามาตั้งสำนักงาน แล้วให้คนไทยเข้ามาเป็นลูกจ้าง ซึ่งในระยะยาวจะมีผลต่อการผูกขาดตลาดในประเทศมากขึ้น “ปัญหาของคนไทยคือยังไม่มีการสนับสนุนจากเงินทุนภาครัฐ หากมีกองทุนดังกล่าวจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดผู้ผลิตที่เป็นสตาร์ตอัพมากขึ้น อีกทั้ง รัฐควรเข้ามาสนับสนุนภาคการศึกษาให้กับกลุ่มนักศึกษาที่จบหลักสูตรแอนิเมชั่น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีผลการศึกษาในระดับกลางลงมาให้มีระดับเทียบเท่าระดับบน” ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2554 ที่ผ่านมาระบุว่ามูลค่าทางด้านการตลาดของเนื้อหาดิจิตอล มีทั้งหมด 3 ประเภทประกอบด้วย แอนิเมชั่น เกม และอี-เลิร์นนิ่ง คิดเป็นมูลค่าทางด้านการตลาดรวมกันประมาณ 16,467 ล้านบาท แยกเป็นตลาดเกม ประมาณ 8,806 ล้านบาท ตลาดแอนิเมชั่น 5,623 ล้านบาท และตลาดอี-เลิร์นนิ่ง 2,038 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดของการสร้างภาพเคลื่อนไหวและคอมพิวเตอร์กราฟิก มีมูลค่าการตลาดอยู่ประมาณ 424 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็นสำหรับกราฟิกโฆษณา 241 ล้านบาท และกราฟิกภาพยนตร์ 183 ล้านบาท นายนิธิพัฒน์ ประเมินว่า กลุ่มกราฟิกจะได้รับอานิสงส์จากดิจิตอลทีวีมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2557 นี้ในส่วนสื่อโทรทัศน์ จะมีการเติบโตของคอนเทนต์เพิ่มขึ้น 2% หรือคิดเป็นมูลค่า 70,800 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่สมาคมและผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันมานาน โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตและทำกรอบราคาเพื่อเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ คนไทยมีความสามารถไม่แพ้ใคร หากได้รับการสนับสนุนที่ตรงจุด ปัญหาต่างชาติเข้ามาลงทุนและกดราคาแรงงานไทยคงจะไม่เกิด. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : TACCA วอนรัฐหนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย หวั่นต่างชาติตั้งบริษัทดัมพ์ค่าแรง

Posts related