หลังจากจังหวัดแพร่โดยคุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ประกาศให้ยุทธศาสตร์เฟอร์นิเจอร์ซิตี้ เป็นยุทธศาสตร์จังหวัดแพร่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2556 ที่ผ่านมาก่อนจะตามมาด้วยงานมหกรรมไม้สักงานแสดงสินค้าอย่างไม้สักที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จังหวัดแพร่ได้รับเชิญจากกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ผู้สนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า Thailand International Furniture Fair (TIFF) ร่วม กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวคิดเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ กลุ่มไม้จริง, โซฟา, พาแนลเข้าร่วมแสดงในงานแสดงสินค้า ซึ่งไม่เพียงทำให้งาน TIFF 2014 มีความน่าสนใจที่สินค้าหลากหลาย แต่ยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพได้มีโอกาสนำสินค้ามาแสดงในงาน TIFF 2014 งานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับการยอมรับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดและรวมเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ล้ำสมัยมากที่สุดของไทยที่ผู้ซื้อทั้งไทยและต่างประเทศรอคอยที่จะมาชมงาน โดยจังหวัดแพร่ส่งตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ต.ดอนมูล และกลุ่มผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์แพร่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยมีพื้นที่แสดงสินค้าในงาน TIFF 2014 ขนาดพื้นที่ 100 ตารางเมตรร่วมกับพื้นที่ของจังหวัดแพร่ตามแนวคิดและรูปแบบผลิตภัณฑ์ GoldenTeak Furniture Exhibition from Phrae : where we start the very firstforest plantation in Thailand sine 1910 “เอาของมาลองตลาดเอาคนของเรามาดูงาน” คือเป้าหมายหลักของจังหวัดแพร่ในการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อเป็น การเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ขณะที่สินค้าไม้จริงในแบบที่ผ่านการดีไซน์ในรุ่นแรก ๆ ที่นำมาจัดแสดงก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานชาวต่างชาติเป็นอย่างดีเพราะการนำไม้จริงมาใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในห้วงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป “การมาร่วมงานในครั้งนี้เราได้นำผู้ประกอบการไม้สักในพื้นที่กว่า 40 ชีวิตให้มาดูงานเพื่อจะเป็นการพัฒนารูปแบบเฟอร์นิเจอร์ ไม้สักของเมืองแพร่ให้ก้าวไปสู่ระดับสากล เพราะอีกไม่นานเราก็จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อนั้นสินค้าจากพม่าและลาวซึ่งมีรูปแบบไม่ต่างกันก็จะเข้ามาตีตลาดในราคาที่ถูกกว่า ขณะที่จีนและอินโดนีเซียแม้จะมีช่างฝีมือดีราคาถูกแต่คุณภาพของไม้สักก็ยังด้อยกว่า เราจึงต้องพัฒนาเพื่อให้ก้าวนำออกจากรูปแบบเดิม ๆ ไปให้ได้”  ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวต่อว่า แพร่ได้เปรียบที่อื่นตรงที่มีป่าไม้สักปลูกในพื้นที่ของเอกชนซึ่งมีพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ มีไม้สักอายุ 30 ปีขึ้นอยู่มากกว่า 20 ล้านต้น จึงมีวัตถุดิบพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ผลิต เพราะในขณะนี้การใช้ไม้จากพื้นที่อนุรักษ์เป็นเรื่องที่ทั่วโลกไม่ยอมรับแต่สำหรับแพร่แล้วนี่คือความแตกต่าง โดยผู้ซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นตอแหล่งผลิตว่าไม้สักที่นำมาใช้นั้นมาจากที่ใดและปลูกขึ้นเมื่อใดตามหลักมาตรฐานสากล “งานไม้สักนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในดีเอ็นเอของคนแพร่นอกจากจะมีแหล่งไม้สักที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังมีโรงงานกว่า 1,700 แห่ง มีช่างไม้กว่า 40,000 คน แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือเรื่องของดีไซน์และการผลิตอย่างเป็นระบบ การที่ผู้ประกอบการได้มีโอกาสมาดูงานในครั้งนี้จะทำให้โลกทัศน์ของแต่ละคนกว้างขึ้น และทางจังหวัดเองก็พร้อมที่จะสนับสนุน โดยจะมีการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบต่อไปในอนาคต”  โรงงานต้นแบบที่ว่านั้นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ร่วมกันลงขันซื้อที่ดินจำนวน 10 ไร่ ที่ ต.หัวดง อ.สูงเม่น จ.แพร่ เพื่อก่อสร้างโรงงานต้นแบบ โดยจังหวัดได้ให้งบประมาณสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง โรงงานต้นแบบนอกจากจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว ยังมีองค์ความรู้ในเรื่องไม้ที่จะช่วยเสริมให้กับช่างเมืองแพร่ไม่ว่าจะเป็นการต่อไม้หรือการตัดโค้ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีในงานไม้สักของแพร่มาก่อน ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องไม้หดตัวไม่ได้คุณภาพนั้นสามารถแก้ปัญหาได้แล้วด้วยเทคโนโลยีการอบไม้โดยมีโรงอบ 23 แห่งกระจายตัวอยู่ในวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัด ขณะเดียวกันวิทยาลัยชุมชนแพร่ภายใต้การดูแลของคุณสมศักดิ์ตันติแพทยางกูร ผอ.สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน ได้ร่วมนำร่องโครงการเฟอร์นิเจอร์ซิตี้โดยผ่านกระบวนการศึกษาสร้างกระบวนความคิดในการออกแบบและการผลิตอย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ รวมทั้งทำการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์อย่างเป็นระบบ งาน TIFF 2014 จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของเฟอร์นิเจอร์ไม้สักเมืองแพร่ที่จะก้าวข้ามรูปแบบเดิม ๆ ไปสู่ดีไซน์แบบใหม่ที่พร้อม ตอบโจทย์เฟอร์นิเจอร์ไม้จริงเพิ่มมูลค่าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในวันนี้.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : TIFF 2014 อีกก้าวของไม้สักแพร่

Posts related