เพิ่มความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ให้กับคนไทย   โดยเฉพาะเรื่อง “ราแมลง” ที่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีความหลากหลายมากแห่งหนึ่งของโลก  แม้ว่า “รา”  จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตในระบบนิเวศ เพราะส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายอินทรีย์สาร แต่ก็ยังมีราชนิดหนึ่งที่ทำลายและก่อโรคในสัตว์ขนาดเล็กเช่นแมลงและแมง ซึ่งเรียกว่า “ราแมลง” นั่นเอง คณะนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) ได้มีการออกสำรวจข้อมูลความหลากหลายของราแมลงในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศไทยมากว่า 20 ปี  “ดร.เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด”   หัวหน้าห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์   ไบโอเทค บอกว่า  ที่ผ่านมา ทีมวิจัยไบโอเทคมีการค้นพบราแมลงในประเทศไทยกว่า 400 ชนิด  เป็นราแมลงสายพันธุ์ใหม่ที่สำรวจพบครั้งแรกของโลกในประเทศไทยและรายงานไปแล้วจำนวน 24 ชนิด  โดยราแมลงนั้นสามารถพบได้ตั้งแต่พื้นที่ในระดับน้ำทะเล เช่น ป่าพรุราบต่ำ จังหวัดนราธิวาส ไปจนถึงพื้นที่ที่มีระดับสูงสุดในประเทศไทยเช่น ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะของราแมลง ก็คือ การงอกเส้นใยแทงผ่านผนังลำตัวแมลง และใช้แมลงเป็นแหล่งอาหาร หลังจากนั้นราจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการแพร่กระจายสปอร์  งอกออกมาจากตัวแมลงเพื่อแพร่พันธุ์ต่อไปอย่างเช่น ราแมลงบนดินที่พบระบาดในประเทศไทย และมีผู้คนเก็บไปขายเพราะเห็นว่าเป็นของประหลาด เหมือนจักจั่นมีเขา แล้วเรียกกันว่า ว่านจักจั่น  ซึ่งแท้จริงแล้วคือ ราแมลงที่ก่อโรคบนจักจั่นนั่นเอง ราแมลงใช่ว่ามีแต่โทษเท่านั้น   จากผลการวิจัยพบว่าราแมลงบางชนิดมีคุณสมบัติในการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพระดับห้องปฏิบัติการ  สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้านทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ไบโอเทคมีฐานข้อมูลวิจัยด้านราแมลงที่เก็บมากว่า 20 ปี  และได้เผยแพร่ผ่านทางหนังสือแอทลาส ออฟ ฟังไจ (Atlas of Fungi ) ตั้งแต่ ฉบับที่ 1- 4    ล่าสุดเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงความรู้ด้านราแมลง  ให้ง่ายและสะดวกขึ้น  ไบโอเทค  ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ไทย-ฟังไจ ( Thai-Fungi ) ราแมลง ขึ้น   “ดร.สุภาวดี  อิงศรีสว่าง” หัวหน้าห้องปฏิบัติการอินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ (Information Systems) ไบโอเทค บอกว่า   พัฒนาแอพพลิเคชั่นไทย-ฟังไจ ขึ้น  เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ความหลากหลายของราในประเทศไทย    โดยรวบรวมข้อมูลราแมลงไว้ในแอพพลิเคชั่นนี้กว่า 100 ชนิด แสดงตัวอย่างราแมลง ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ และลักษณะสัณฐานวิทยาของราแมลงแต่ละชนิดที่สำรวจพบในประเทศไทย ซึ่งนอกจากราแมลงแล้ว ต่อไปในอนาคตคาดว่าจะมีการเพิ่มข้อมูลของราชนิดอื่นเข้าไปเพิ่มเติมอีกด้วย สำหรับการนำราแมลงไปใช้ประโยชน์  ดร.เจนนิเฟอร์ บอกว่า  ส่วนใหญ่มีการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ในการปราบศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมี  บางชนิดนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ในการสร้างและผลิตพลังงานทดแทนที่มีราคาต่ำ ปัจจุบัน ไบโอเทคอยู่ระหว่างการศึกษาจีโนมราแมลงบนมด ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้มดเดินขึ้นที่สูงเช่น ต้นไม้  ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อว่ายีนของราแมลงรวมถึงมด  มีผลต่อพฤติกรรมนี้อย่างไร และมีกลไกการทำงานอย่างไรบ้าง การศึกษานี้ในอนาคต อาจนำไปสู่การศึกษาสารที่มีผลต่อระบบเซลล์ประสาทต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ดีแอพพลิเคชั่น ไทย-ฟังไจ จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานประชุมราวิทยานานาชาติ (The 10th International Mycological Congress) หรือ IMC10  ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน  โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการฟรีที่ ฮอลล์ เอ  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  วันที่ 4-8 สิงหาคม 2557 เวลา 09.00-18.00 น. แอพนี้ นอกจากจะให้ความรู้ด้านราแมลงแล้ว ยังมีส่วนของการถามตอบ  หากพบราที่ไม่รู้จัก สามารถถ่ายภาพแล้วส่งเข้ามาเพื่อให้นักวิจัยช่วยตอบได้ทันที   ไม่แน่ …ภาคประชาชนอย่างเรา ๆ อาจจะเป็นหนึ่งในผู้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ของโลกก็ได้!!!. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รู้จักราแมลงผ่านแอพ Thai-Fungi – ฉลาดคิด

Posts related