ผมเขียนเรื่องนาฬิกาฉลาด (Smart Watch) มาถึงสองตอนแล้ว และได้ซื้อนาฬิกาใหม่มาสองเรือน บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ได้เปิดตัว Smart Watch ในปีนี้ เพื่อเตรียมทำตลาดในช่วงปลายปีกันอย่างคึกคัก อุปกรณ์สวมใส่ข้อมือ (เดี๋ยวนี้มีศัพท์ใหม่ เรียก Wearable) กำลังเข้าสู่ตลาดและเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็ถือได้ว่าเป็นแค่ระยะเริ่มต้น ลองถูกลองผิด และพัฒนาของใหม่ ๆ เพื่อดูว่า ผู้บริโภคจะซื้อแบบไหนกันแน่ ผมเองเลิกใส่นาฬิกาข้อมือไปหลายปี ยังเอานาฬิกาในกรุของพ่อมาปัดฝุ่นใส่ใหม่ และลองใส่นาฬิกาสมัยใหม่เพื่อเข้าสู่ยุค Wearable นี้กับเขาด้วย ผมพบว่าทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนของนาฬิกาฉลาดแยกเป็นสองแนวทางด้วยกัน กระแสหลักที่พยายามผลักดันกันอยู่ คือ ทำให้เป็นคู่หูกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ใช้โทรศัพท์ได้สะดวกขึ้น สามารถเห็นการแจ้งเตือน และข้อความต่าง ๆ บนนาฬิกาข้อมือ โดยไม่ต้องควักโทรศัพท์ออกมา และบวกหน้าที่วัดและกระตุ้นการออกกำลัง เพื่อให้ผู้สวมใส่มีสุขภาพดี   อีกกระแสหนึ่ง คือ เป็นกำไลข้อมือฟิตเนส บันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหว ถ่ายโอนข้อมูลกับโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เป็นระยะ ๆ เพื่อเก็บสถิติ และสร้างการ “รู้ตัว” หรือ “กระตุ้น” ให้ผู้สวมใส่ออกกำลังกายให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ  อันนี้เป็นการพัฒนามาจากเครื่องวัดก้าวเดินที่เคยนิยมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพื่อสุขภาพที่ดี เช่น ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น แนะนำว่า ควรเดินให้ได้วันละหมื่นก้าว หรือการออกกำลังกายอย่างง่ายที่สุดที่ชาวจีนทำมาเป็นศตวรรษแล้ว คือ การแกว่งแขน เป็นต้น ก็สามารถวัดระดับกิจกรรมจากอุปกรณ์เหล่านี้ได้ง่าย นาฬิกาฉลาดในกระแสหลักยังไม่ถูกใจผมหลายประการ (แต่เขาก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเอาใจผม) ด้วยนิสัยที่ชอบคิดโน่นคิดนี่ ก็อดจะแสดงความเห็นในเชิงผู้ใช้ และในเชิงวิศวกรคนหนึ่งไม่ได้ โดยหวังว่า การช่วยกันคิด ช่วยกันทำ จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวหน้า เยาวชนสนใจสร้างนวัตกรรมจนทำรายได้ เป็นเศรษฐีกันเยอะ ๆ นายทุนก็กล้าที่จะสนับสนุน ผมขอสามอย่างจากนาฬิกาฉลาด 1. สวย สวมใส่แล้วดูเท่หรือแสดงบุคลิก (หรูหรา น่ารัก หรือเอาการเอางาน) 2. ใช้งานได้ดี แบตเตอรี่อยู่ได้นาน และ 3.กันน้ำได้ตามควร ฟังแล้วไม่น่าจะทำยากเลยใช่ไหมครับ ไม่น่าเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในขณะนี้จะทำเรื่องแค่นี้ได้ไม่ดี เรื่องแรก ความสวย เนื่องจากบริษัทที่ทำนาฬิกาฉลาดเกือบทั้งหมดมาจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ จึงอาจจะต้องเรียนรู้อีกพักใหญ่ ๆ ว่าจะทำนาฬิกาให้สวยได้อย่างไร เพราะคู่แข่ง คือ นาฬิกาข้อมือในท้องตลาดให้เปรียบเทียบนั้นมีอยู่มากมาย แต่ก็มีข่าวดีอยู่บ้างว่าผู้ผลิตนาฬิกาธรรมดา ก็เริ่มใส่ “ความฉลาด” เข้าไปในผลิตภัณฑ์ของตนเองเช่นกัน ไม่รู้ว่าใครจะเรียนรู้ได้เร็วกว่ากัน เรื่องที่สอง คือ การใช้งาน ขอแยกเป็นสองประเด็น คือ ใช้งานได้ดี และใช้งานง่าย ผมคิดว่า การพยายามเอาความสามารถของโทรศัพท์มือถือมายัดใส่นาฬิกาข้อมือ ไม่ค่อยมีอนาคตเท่าไรในสถานภาพของเทคโนโลยีขณะนี้ การทำเช่นนั้น เท่ากับว่า ต้อง “ย่อส่วน” โทรศัพท์มือถือให้เล็กลงมาจนเป็นนาฬิกาข้อมือสวย ๆ  นอกจากจะมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ไม่เพียงพอใช้งานแล้ว ขนาดจอยังเล็กจิ๋ว มองไม่ถนัดอีกด้วย (กลับไปสู่ยุคโทรศัพท์มือถือจอ 1 นิ้วหรือ 2 นิ้ว) การพยายามทำนาฬิกาฉลาดบนฐานของโทรศัพท์มือถือ เช่น ทุกคนอยากได้แอพเยอะ ๆ ทำงานได้สารพัดอย่าง ไม่ตรงกับลักษณะของนาฬิกาข้อมือเลย แถมซอฟต์แวร์อย่างนั้นกินแบตเตอรี่อย่างมากมายอีกด้วย ดูได้จากโทรศัพท์มือถือปัจจุบัน จอโตขึ้นและแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมาก แต่หลายคนยังต้องพกแบตเตอรี่เสริมเพื่อใช้งานในตอนหลังเลิกงาน ลองมาเปรียบเทียบกับนาฬิกาไม่ฉลาดที่ผมซื้อใหม่มาสองเรือน เรือนแรกแบบวัยรุ่น จอใหญ่ หนา ทั้งตัวทำด้วยพลาสติก ทนการกระแทก กันน้ำ 100 เมตร ผมใส่ว่ายน้ำมาแล้ว ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีเข็มสั้นและเข็มยาวบอกเวลา จับเวลาได้ มีหน้า ปัดบอกเวลาได้สองประเทศ ตอนกลางคืน มันจะหลับเพื่อประหยัดแบตเตอรี่  (ไม่ต้องเสียบชาร์จไฟ) ตอนเช้าเมื่อมีแสงมันจะตื่น ใส่เดินรับแสงอาทิตย์อยู่นอกบ้านสัก 8 นาที จะเติมแบตเตอรี่เต็ม ผมซื้อมาไม่ต้องตั้งเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น แกะจากกล่อง คาดข้อมือ เดินเข้าห้องบรรยายไปสอน พอหันมาดูอีกที นาฬิกาตื่นแล้ว เข็มชี้เวลาถูกต้อง ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้อง login กรอกรหัสผ่าน หรือซิงค์ข้อมูลกับผู้ให้บริการ (นึกถึง gmail) เรือนที่สอง เป็นนาฬิกาพลาสติกของสวิส กันน้ำได้ 200 เมตร มีเม็ดมะยมตั้งเวลา ผมใช้จับเวลาในการว่ายน้ำ โดยหมุนหน้าปัด กลไก ให้ขีดหลักมาตรงกับเข็มวินาที แล้วเริ่มพุ่งตัวออกจากแท่นสตาร์ต พอแตะขอบสระ รีบเหลือบดูว่า ทำเวลาได้เท่าไร กลไกล้วน ๆ ไม่ต้องอ่านคู่มือในการใช้งานใด ๆ ทั้งสิ้น ทนสุดยอด เผลอลืมอยู่ในเครื่องซักผ้า ซักผ้าจนเสร็จ นาฬิกายังใช้งานได้ปกติ มีบทเรียนมากมายที่นาฬิกาฉลาดในอนาคตจะเรียนรู้จากสองตัวอย่างนี้ได้ ผมเป็นวิศวกรที่ปรึกษา ทำงานออกแบบคอมพิวเตอร์ประหยัดไฟขนาดจิ๋ว ร่วมกับวิศวกรของบริษัทไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยล้วน ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งมีข้อกำหนดให้คอมพิวเตอร์ใช้กระแสไฟฟ้าไม่เกิน  0.00001 (หนึ่งในหมื่น) แอมป์ ขณะทำงาน การทำนาฬิกาฉลาดให้แบตเตอรี่ทนทานใช้งานหลายวันหรือเป็นเดือน ทำได้ครับ แต่ไม่ใช่อยู่บนพื้นฐานซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาข้อมือในปัจจุบันประหยัดพลังงานมาก ใช้แสงอาทิตย์บ้าง ใช้กลไกลูกตุ้ม หมุนลาน หรือชาร์จประจุแบตเตอรี่บ้าง ก็ทำอยู่หลายรุ่นที่ไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ตลอดอายุการใช้งาน และไม่ต้องชาร์จไฟทุกวัน เหมือนโทรศัพท์มือถือ ตลาดนาฬิกาฉลาดยังเปิดอยู่ นวัตกรรมใหม่ ๆ ยังรอให้เยาวชนไทย คิดค้น ไขว่คว้า แสวงหาความสำเร็จ งานไฮเทคไม่ได้ยากเหมือนที่คิด การผสมผสานกันระหว่างศาสตร์กับศิลปะ เป็นเรื่องที่คนไทยทำได้ดี ผมขอเชียร์ครับ ความคิดในบทความนี้เอาไปใช้ได้ฟรี ไม่ติดลิขสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น. ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อนาคต Smart Watch – 1001

Posts related