เชื่อว่าคุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมหลายคนคงเคยประสบปัญหาเวลาต้องเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ใช่ไหมครับ ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดสำหรับต้องรับ AEC ในปีหน้าก็คือการเรียนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะถ้าภาษาที่คุณผู้อ่านกำลังเรียนอยู่นั้นไม่ใช่แค่ภาษาที่สอง แต่เป็นภาษาที่สาม ที่สี่ หรือมากกว่าด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนเรียนใหม่ ๆ เกิดอาการสับสนในการใช้ภาษาได้ง่าย สมัยที่ผมเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นใหม่ ๆ เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วก็เคยมีประสบการณ์สับสนระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาญี่ปุ่นมาแล้วเหมือนกันครับ ไหนจะเรื่องหลักภาษาที่แตกต่างกัน คำศัพท์ที่ต่างกัน และอย่างอื่นจิปาถะอีกมากมาย คุณผู้อ่านหลายคนคงเห็นด้วยกับ   ผมว่าการที่ต้องมาเริ่มต้นเรียนอะไรใหม่ ๆ การที่ต้องมาเรียนภาษาใหม่ ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าเป็นเรื่องของการเรียน ภาษา เดี๋ยวนี้ก็มีเทคโนโลยีอย่าง Google Translate ที่แค่คลิกเดียว ก็สามารถแปลทุกสิ่งทุกอย่างบนหน้าเว็บไซต์ออกมาได้อย่างง่ายดาย หรือ ถ้าเป็นตัวอย่างที่ใหม่ขึ้นมาอีกหน่อย ก็เช่นแอพพลิเคชั่น Word Lens ที่ผสานความสามารถของกล้องบนสมาร์ท   โฟน เทคนิคการรู้จำตัวอักษร และเทคนิคโลกเสมือนประสานโลกจริงจนสามารถแปลความหมายของคำที่เขียนอยู่ในภาพที่กล้องส่อง      อยู่ แล้วแสดงคำแปลทับลงไปบนภาพได้แบบทันที คุณผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์วันพุธผมเป็นประจำอาจจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการแปลเหล่านี้ดีอยู่แล้ว แต่คำถามต่อมา คือ แล้วในอนาคตข้างหน้าอีกล่ะ นอกจากการช่วยแปลแล้ว จะมีเทคโนโลยีอะไรอื่นมาช่วยให้การเรียนรู้ภาษาใหม่ของเราง่ายขึ้นได้บ้างไหม? ล่าสุดในปีนี้เองครับ มีนักวิศวกรคอม พิวเตอร์คนหนึ่งนำเสนอไอเดียที่น่าสนใจในงาน TED Talk โดยเขาคนนั้นมีชื่อว่า นิโคลัส เนโกรพอนตี (Nicholas Negroponte) ผู้ก่อตั้ง MIT Media Lab ห้องวิจัยชื่อดังก้องโลกแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ อเมริกา และผู้คิดโครงการ One Laptop Per Child (OLPC) โครงการอันโด่งดังที่จัดคอม พิวเตอร์แล็ปท็อปราคาประหยัดส่งให้เด็ก ๆ ทั่วโลกได้มีโอกาสใช้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่กันดารของประเทศกำลังพัฒนา นิโคลัส เนโกร พอนตี ได้นำเสนอ   ไอเดียไว้ในรายการว่า เขาเชื่อว่าในอนาคตรูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นจะเปลี่ยน  ไป มนุษย์เราจะเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ด้วยวิธีที่พิเศษและแปลกไปกว่าเดิม โดยเขาทำนายว่าภายใน 30 ปีข้างหน้า การเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นภาษาต่างประเทศ องค์ความรู้ หรือ ทักษะความสามารถอื่น ๆ จะสามารถส่งผ่านกันได้โดยยาเพียงแค่เม็ดเดียว เขาเชื่อว่าเม็ดยาพิเศษนี้จะมีหลักการทำงานคือ เราทานยาเข้าไป ยาก็ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย รวมทั้งไหลเวียนไปสู่สมองด้วย และเมื่อตัวยานี้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องของสมอง ก็จะส่งข้อมูลความรู้ที่ตัวยานั้นมีอยู่ให้กับสมองของผู้ใช้ได้ทันที จะว่าไปแล้วก็คล้ายกับก้อนวุ้นแปลภาษา ที่เจ้าแมวทานูกิสีฟ้าสัญชาติญี่ปุ่นชื่อก้องโลกอย่าง โดราเอมอน ชอบใช้นะครับ แค่กินวุ้นก้อนเดียวก็สามารถทั้งพูดและฟังภาษาอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาต่างประเทศ หรือภาษามนุษย์ต่างดาวก็ตาม ถ้าคำทำนายนี้เกิดเป็นจริงขึ้นมา ในอนาคตพวกเราคงจะสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนทักษะความสามารถต่าง ๆ ของแต่ละคนได้ ถ้าอยากจะเรียนรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ หรืออยากจะเรียนรู้จดจำความรู้อะไร ก็ไม่จำเป็นต้องไปนั่งอ่านหนังสือเล่มหนา ๆ ไม่ต้องมานั่งท่องสูตรคูณ ไม่ต้องฝึกทักษะทำนู่นทำนี่แล้ว เพียงแค่ทานยาเข้าไปก็จะสามารถเรียนรู้ได้ในทันที ฟังดูแล้วเหมือนนิยายอิงวิทยาศาสตร์เลยใช่ไหมล่ะครับ แต่ก็อย่าลืมนะครับว่าคำทำนายของอัจฉริยะหลายคนนั้นไม่ได้ถูกต้อง 100% เสมอไป แม้แต่คนดัง ๆ อย่าง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ยังเคยหน้าแตกกับคำทำนายในปี ค.ศ. 2004 ที่ว่า “สแปมอีเมลหรืออีเมลขยะต่าง ๆ จะหมดไปภายใน 2 ปี” มาแล้ว เพราะจนถึงตอนนี้ที่ผ่านมากว่า 10 ปีสแปมอีเมลก็ไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปแต่   อย่างใด ณ วันนี้ เวลานี้ มันยังเร็วเกินไปครับที่จะสรุปว่าคำทำนายอนาคตของนิโคลัส เนโกรพอนตี จะถูกต้องหรือไม่ ถ้ามองในแง่ร้ายหน่อย คงมีคุณผู้อ่านบางคนคิดอยู่ในใจว่า อะไรกัน ความรู้ความสามารถที่พวกเรามีในตอนนี้ต้องพยายามลำบากฝ่าฟันเพื่อ   ให้ได้มันมาติดตัว ต่อไปมันจะกลายเป็น     แค่สินค้าชิ้นหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถซื้อได้ด้วยเงินน่ะหรือ แต่ถ้าลองก้าวออกมามองภาพกว้างอีกสักนิด ลองมองมันในแง่ดีบ้าง ผมคิดว่ายาวิเศษนี้จะทำให้วงการการศึกษาทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างสิ้นเชิงเลยล่ะครับ แทนที่การศึกษาจะเป็นไปเพื่อเรียนรู้อดีต เรียนเพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่มีใครบางคนคิดไว้หรือทำไว้ให้อยู่แล้ว การศึกษาในโลกอนาคตก็จะกลายเป็นการเรียนรู้เพื่อมุ่งไปสู่อนาคตข้างหน้าจริง ๆ เป็นการเรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่มีขายอยู่ในยาเม็ดไหนบนโลกใบนี้ เรียกว่าเป็นยุคของการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของแท้เลยล่ะครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เม็ดยาส่งต่อความรู้ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related