การอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว ทำให้คนในวงการอุดมศึกษาโลกเริ่มหันมามองนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ที่จะสามารถทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงได้และสามารถประกอบสัมมาอาชีพจากสิ่งที่เรียนรู้ไปได้ดี ในวงการศึกษาโลกขณะนี้ เริ่มหันไปมองการอุบัติของเทคโนโลยีทางการศึกษาใหม่ที่สามารถทำให้ทุกคนเข้าเรียนได้อย่างทั่วถึง ราคาที่เป็นไปได้ และมีคุณภาพที่จบไปแล้วสามารถทำงานและประกอบสัมมาอาชีพเพื่อสร้างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ดี นวัตกรรมแบบก้าวกระโดดซึ่งเจ้าของทฤษฎีชื่อเคลย์ตัน คริสเตนเซ่น (Clayton Christensen) ศาสตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งหมายถึง การคิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่แล้วเข้ามาทดแทนของเก่าไปตลอดกาล ตัวอย่างเช่น การกำเนิดโลกคอมพิวเตอร์ในยุคแรกของไอบีเอ็ม ก็คือเมนเฟรมคือเครื่องที่มีขนาดใหญ่และมีวิธีการเขียนโปรแกรมและการใช้งานยุ่งยากมากและราคาแพง ต่อมาการกำเนิดของยุคมินิคอมพิวเตอร์ราคาถูกกว่าใช้งานได้สะดวกเข้ามาทดแทนระบบเมนเฟรม  และในยุคหลังก็มีการกำเนินคอมพิวเตอร์พีซีโดยใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ รวมทั้งแล็ปท็อปก็เข้าไปทดแทน ทั้งเมนเฟรมและมินิคอมพิวเตอร์เกือบหมด ปัจจุบันเริ่มมาใช้ระบบมือถืออัจฉริยะขนาดเล็กซื้อได้ราคาไม่แพงใช้ได้สะดวกสารพัด ซึ่งก็จะมาทดแทนเทคโนโลยีเก่าอีกหลายประเภทหลังการกำเนิดของยุคอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ปรากฏการณ์เช่นนี้ ดร.คริสเตนเซ่น ให้คำจำกัดความไว้ว่าคือนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด หรือ Disruption Innovation ผมไม่ทราบว่าใช้คำถูกหรือไม่เพราะเข้าใจว่าราชบัณฑิตยังไม่น่าจะแปลศัพท์ออกมา ในวงการอุดมศึกษาก็มีความพยายามสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนในเชิงคุณภาพตลอดมาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งเกิดมานานซึ่งยังคงนิยมสอนแบบต้องเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยพบผู้สอนในห้องเรียน มีตำราเรียนแต่ละวิชาเล่มหนา ทำการบ้านและเข้าสอบเพื่อวัดระดับความรู้แล้วตัดเกรดเพื่อวัดคุณภาพของผู้เข้าเรียนสุดท้ายก็จบเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิตและดอกเตอร์-ดุษฎีบัณฑิต ใครได้คะแนนการเรียนสูง ๆ เรียกว่าเกียรตินิยม การเรียนแบบนี้ก็ยังคงเป็นการเรียนการสอนหลักในมหาวิทยาลัยของรัฐขนาดใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบันรวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่น ๆ โดยทั่วไป แต่ถ้าจะไปมองดูความสำเร็จของบัณฑิตที่จบการศึกษาในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันคงไม่พ้นจะต้องมามองการได้งานทำของบัณฑิตคือการที่บัณฑิตสามารถไปประกอบสัมมาอาชีพได้สำเร็จ แต่ปรากฏว่าตัวเลขการว่างงานคนจบปริญญาตรีและไม่มีงานทำก็ยังจะมีอีกมากแถมได้คะแนนเกียรตินิยมได้งานทำในช่วงแรกแต่เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านการทำงานในช่วงต่อมา คุณภาพของใบปริญญาจึงเป็นแค่ทางผ่านแต่ไม่ใช่การวัดเชิงคุณภาพในโลกความเป็นจริงของเศรษฐกิจในปัจจุบันในช่วงหลังการให้การศึกษาแก่มวลชนจำนวนมากด้วยระบบการศึกษาทางไกลด้วยตำราเรียนและศึกษาด้วยตนเองเพื่อเข้าสอบ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งก็มักจะเกิดกับมหาวิทยาลัยเปิด (Open University) โดยทั่วไปแต่อัตราการจบจะค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคนที่เข้ามาเรียน เพราะนักศึกษาจะต้องมีระเบียบวินัยของตนเองค่อนข้างมาก ในประเทศไทย เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในปัจจุบันและในแง่การตลาดเชื่อว่าค่าเล่าเรียนราคาถูกเพื่อเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสเรียน จึงมีการคิดว่าจะทำอย่างไรให้การศึกษามีคุณภาพซึ่งสะท้อนถึงบัณฑิตที่มีงานทำประกอบสัมมาอาชีพได้สำเร็จพร้อมทั้งเปิดกว้างพอให้นักศึกษาทั่วไปเรียนได้ ซึ่งผมจะเขียนในบทความหน้า. รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด boonmark@stamford.edu

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นวัตกรรมการศึกษายุคใหม่(1) – โลกาภิวัตน์

Posts related