ครบรอบ 8 ปีเต็ม  ย่างเข้าสู่ปีที่ 9 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) หรือ   สทน . ยืนยันที่จะเป็นสถาบันด้านนิวเคลียร์ของประเทศ เน้นการวิจัย ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าของสินค้าในภาคอุตสาหกรรม “ดร.สมพร จองคำ” ผู้อำนวยการ สทน.  บอกถึงแผนปฏิบัติงานของสทน.ในปีที่ 9 นี้ว่าจะผลักดันให้เกิดโครงการเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องใหม่ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อทดแทนเครื่องปฏิกรณ์ ปปว.-1/1 ซึ่งเป็นเครื่องเก่าที่มีขนาด 2 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอายุกว่า 50 ปี และเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องปฏิกรณ์ฯตัวนี้ไม่มีการผลิตแล้วในโลก … นั่นหมายความว่า อีกไม่เกิน 5 ปี เครื่องปฏิกรณ์ตัวนี้อาจจะต้องปิดตัวลง… และหากเครื่องปฏิกรณ์ฯ เครื่องนี้หยุดเดินเครื่อง ผลเสียที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดเจนคือ ในเชิงการผลิต ประเทศไทยต้องนำเข้าเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งปีละกว่า  300 ล้านบาท  ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากจะขาดโอกาสในการรักษาด้วยยาที่มีราคาถูก รวมถึงการฉายรังสีอัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งมีมูลค่าในตลาดกว่า 100 ล้านบาท และโอกาสในงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญของเครื่องปฏิกรณ์ฯ นอกจากนี้  เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนการสอนด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ วิศวกรรมนิวเคลียร์แก่นิสิต นักศึกษาในประเทศจำนวนมาก และในแต่ละปี ซึ่ง สทน. ได้เปิดให้ นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ และผู้สนใจเข้าชมเครื่องปฏิกรณ์ฯเครื่องนี้ ปีละกว่า 2 พันคน เพื่อให้องค์ความรู้ด้านนิวเคลียร์ได้พัฒนาทัดเทียมนานาประเทศ สทน.มีแผนดำเนินการจัดสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องใหม่ที่ขนาด 10-20 เมกะวัตต์   ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางการใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ฯ เครื่องใหม่นี้ ล่าสุด สทน.ได้ไปศึกษาดูงานการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของเกาหลีนี้มีกำลังสูงกว่าของประเทศไทยกว่า  15 เท่า และการวิจัยที่เกิดจากเครื่องปฏิกรณ์ฯเครื่องนี้ สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและด้านพลังงานได้กว้างขวาง ดร.สมพร บอกว่า   สทน.มุ่งหวังที่จะใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ฯตัวใหม่ จากการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจและการสร้างรายได้ ในทางการแพทย์ สามารถผลิตเภสัชรังสีได้หลากหลายชนิดขึ้น ปีละประมาณ 20,000 คูรี  ในส่วนอุตสาหกรรมการผลิตสารกึ่งตัวนำ เครื่องปฏิกรณ์ฯขนาดใหม่นี้จะสามารถผลิตได้มากถึงปีละ 10 ตัน  ฉายรังสีอัญมณีได้มากขึ้นกว่า 2 ตันต่อปี.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สทน. ผลักดันเครื่องปฏิกรณ์ วิจัยตัวใหม่ – ฉลาดคิด

Posts related