’นายกฯ คนกลาง!“ ได้กลายเป็นทางเลือกของหมู่มวลมหาประชาชนที่เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยนำพาให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้…  และเมื่อควบคู่ไปกับการ ’เขย่า“ หรือ “ปฏิรูป” ประเทศใหม่ ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง โดยเฉพาะ…การเมือง ที่เป็นรากเหง้า เป็นตอ เป็นตมของสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ รวมทั้งยังเป็นตัวดึงตัวฉุดให้เศรษฐกิจไทยดิ่งเหวลงมากขึ้นไปอีก  แม้ว่าระบบของเศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาระบบเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการส่งออกเกือบ 70% แต่..ระบบเศรษฐกิจในประเทศก็ถือเป็นเครื่องยนต์กลไกสำคัญ ที่ช่วยผลักดันหรือช่วยประคับประคองให้ประเทศเดินหน้าได้ แต่เครื่องยนต์สำคัญ กลับถูกกระแสการเมืองกดดันให้หวาดกลัว ให้หวาดผวา ทำให้ความเชื่อมั่นลดน้อยถอยลง ซึ่งยิ่งทับถมให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวมากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้…จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บรรดาสำนักวิจัยต่างออกมาปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจว่าในปีนี้จะเติบโตได้ไม่ถึง 2%   เช่นเดียวกับสภาพัฒน์ หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. ที่เชื่อว่าในการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกและการคาดการณ์ทั้งปี 57 ในวันที่  19 พ.ค.นี้ ต้องปรับลดตัวเลขลงจากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ 4-5% ซึ่งเบื้องต้นฟันธงได้แน่นอนว่าสภาพัฒน์ต้องปรับลดตัวเลขลงอยู่ในระดับ 2-3% แน่นอน  ด้วยเหตุที่ว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน ความเชื่อมั่น การส่งออก การท่องเที่ยว ต่างลดลงเหมือนกันหมด แถมบางตัวกลับออกอาการติดลบ แม้สัญญาณเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ใช่อาการ “ลูกโป่งแตก” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่เป็นอาการ “ซึมยาว” ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเกิดอาการอย่างไรแต่สภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ได้ส่งผลให้คนไทยทั้งประเทศต้องรับกรรม! ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนก่อ…โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเอสเอ็มอี ที่มีสายป่านเพียงน้อยนิดหรือมีเงินสดหมุนเวียนได้ไม่ถึง 30-45 วัน คงต้องนับวันรอปิดกิจการทิ้งไป เพราะจะผลิตสินค้าอย่างไรก็ขายไม่ได้เพราะไม่มีคนซื้อ ไม่ว่าจะลูกค้าในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม ซึ่งจากผลสำรวจของศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ บรรดาเอสเอ็มอีกว่า 2 ล้านราย ต่างมีรายได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ย 19.2% เพราะได้รับผล กระทบจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย, การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น และการมีหนี้ครัวเรือนของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการซื้อสินค้า   นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบอีกว่าหากปัญหาการเมืองไทย ยืดเยื้อไปจนถึงปลายปีก็เชื่อได้ว่าจะมีธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากทยอยปิดกิจการอีกรอบ โดยเวลานี้ที่เป็นห่วงก็คือเอสเอ็มอีที่เป็นรายเล็กรายย่อย มาก ๆ กว่า 2-3 แสนรายที่มีเงินสภาพคล่องเหลือเพียง 15 วัน ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างมากทีเดียว  ไม่ใช่เพียงแค่เอสเอ็มอีเท่านั้นที่ต้องรับกรรม แต่บรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ผลประกอบการในไตรมาสแรกที่ทยอยออกมา สะท้อนให้เห็นว่า เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพิษการเมืองแบบเต็ม ๆ ตั้งแต่รายได้หาย ยอดขายหด งดขึ้นโครงการใหม่ ไล่ปิดยอดโอนลูกค้าเก่า ตั้งทีมศึกษาหากลยุทธ์ทุกวิธีป้องกันทิ้งดาวน์-กู้ไม่ผ่าน ท่ามกลางกำลังซื้อที่หดหายไปเกินครึ่ง จนบริษัทแทบล่ม ทำให้เจ้าของโครงการต่างประเมินกันว่า ถ้าการเมืองยังยืดเยื้ออยู่แบบนี้ ตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เคยโตปีละ 8-10% จะกลายเป็นดิ่งเหวติดลบ 5-10% แทนในปีนี้แน่นอน นี่ยังไม่รวมปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางสินค้าที่เริ่มล้นตลาด ทั้งในโครงการที่กำลังก่อสร้าง และก่อสร้างแล้วเสร็จ มียูนิตที่ยังว่างมากกว่ายูนิตที่ขายแล้ว โดยเฉพาะโครงการแนวดิ่ง หรือคอนโดมิเนียม ที่ยอดขายอืดเป็นเรือเกลือ สวนทางกับดอกเบี้ยเงินกู้ จนหลายรายต้องหันมาทำตลาดแนวราบ พวกบ้านเดี่ยว หรือทาวน์เฮาส์แทน ขณะที่รายกลางก็ย่ำแย่ โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ต้องเร่งเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ชะลอการขึ้นโครงการใหม่ออกไปไม่มีกำหนด หรือเร่ขายโครงการที่กำลังก่อสร้างให้แก่รายใหญ่ไปบริหารต่อ หรือบางรายก็หยุดกิจการชั่วคราวแบบไม่มีกำหนดไปก่อน ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการด้านสินค้าคอนซูเมอร์ในหลาย ๆ ประเภทที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยได้ยินเสียงบ่น ต่างออกมาระบายความในใจกันเป็นแถว เช่นกรณีของ “แอมเวย์” เจ้าของสารพัดสินค้า ที่ยอมรับว่าตั้งแต่เปิดบริษัทแอมเวย์ในไทยในรอบ 27 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยพบว่าสถานการณ์กำลังซื้อที่ย่ำแย่เช่นนี้มาก่อน ด้วยเป็นเพราะปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกันส่งผลให้กำลังซื้อในเดือน ม.ค. และ ก.พ. ที่ผ่านมาต้องเหือดหายลงไปมาก ขณะที่ในไตรมาสสองยังเป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าสถานการณ์จะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ได้แต่จับตาสถานการณ์การเมืองเป็นรายวัน เช่นเดียวกับ “หอแว่น” ที่บอกว่าปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและกำลังซื้อที่ลดลงในเวลานี้ ได้ทำให้ยอดขายของหอแว่นเติบโตน้อยที่สุดในรอบ 3 ปี หรือแม้แต่ “เครือสหพัฒน์” ยักษ์ใหญ่วงการสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติไทย ที่เห็นว่าเวลานี้ เป็นเวลาที่ยากลำบาก เพราะกำลังซื้อไม่มี อัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าไปก็ได้ผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงไม่ฝืนตลาดในเมื่อขายได้น้อยก็ผลิตน้อย ทำให้ปีนี้จึงตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโตน้อยกว่าทุกปีเหลือแค่ 5% ถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี จากปกติเติบโตได้ประมาณปีละ 10-12% แต่ปัญหาการเมืองที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแข่งขันกับเพื่อนบ้านอาเซียนและอีก 3 ประเทศคือจีน เกาหลีและญี่ปุ่น  ที่เวลานี้สินค้าไทยต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปเป็นจำนวนมากโดยคาดกันว่าในปีนี้ ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดไปมากถึง 2.5 แสนล้านบาทกันทีเดียว โดยเฉพาะในสินค้า 5 ประเภทคือ ข้าว, น้ำมันปาล์มดิบ, เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องใช้ไฟฟ้า  เพราะปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นได้ฉุดรั้งให้ทุกอย่างไม่เดินหน้าโดยเฉพาะนโยบายที่จะพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจไทยให้แข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ที่สำคัญหากยืดเยื้อไปอีก 3 เดือนจากนี้ ก็มีแต่ดิ่งเหวและจมเหวมากขึ้นไปอีก   ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่ก็หนีไม่พ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน ที่บรรดานักท่องเที่ยวต่างหนีหาย ชาร์เตอร์ไฟลต์หรือเครื่องบินเช่าเหมาลำมาที่ภูเก็ตต่างถูกยกเลิก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ยกเลิกไป นี่ยังรวมไปถึงบรรดานักท่องเที่ยวจากแดนเอเชียอย่าง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ก็ลดน้อยถอยหายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือททท.เองก็ยอมที่จะปรับลดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือเพียงแค่ 26.3 ล้านคน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 28.4 ล้านคน รวมไปถึงการลดเป้าหมายรายได้เหลือเพียง 1.24 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดหวังไว้ที่ 1.32 ล้านล้านบาท ที่สำคัญการปรับเป้าหมายครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยเวลานี้เติบโตต่ำที่สุด เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปิดสนามบินและการเผาบ้านเผาเมืองเมื่อปี 51 และ 52 ต้องยอมรับว่า…ด้วยปัญหาการเมืองที่หมักหมมมานาน ด้วยการประสานประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของคนเพียงไม่กี่คน จนสร้างความบอบช้ำให้กับประเทศในเวลานี้ ถึงเวลาที่ต้องได้รับการเยียวยา ต้องได้รับการแก้ไข    แต่…มีใครประกันได้บ้างว่าทางเลือก “นายกฯ คนกลาง” จะช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้จบสิ้น!. ทีมเศรษฐกิจ ชี้รอปาฏิหาริย์เท่านั้น “วีรพงษ์ รามางกูร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี บอกว่า เวลานี้ไม่เห็นสัญญาณอะไรที่เข้ามาช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นมีแต่เรื่องตรงกันข้ามทั้งนั้น ยกเว้นอย่างเดียวคือต้องรอปาฏิหาริย์เท่านั้น ซึ่งสถานการณ์การเมืองเวลานี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยต้องอยู่ในภาวะซึมลงต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี และโอกาสที่เห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งคงเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญปัญหาการเมืองไทยเวลานี้ยังเป็นทางตันที่ไม่สามารถจบลงได้โดยง่าย “การเกิดช่องว่างมีนายกฯคนกลางก็ยุ่ง เกิดปฏิวัติ รัฐประหารก็ยุ่ง อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรก็เป็นท้องอืดอยู่อย่างนี้ แต่ตัวที่จะต้องเคลื่อนไปข้างหน้าคือเศรษฐกิจ การลงทุนต่างประเทศไม่มีขวัญกำลังใจเข้ามาลงทุนและการบริโภค ก็คงถดถอยลงเรื่อย ๆ โดยผลที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ จีดีพีติดลบแล้ว และในไตรมาสที่ 2 เชื่อว่าจะติดลบอีก ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คงเป็นไปได้ยาก”  ย้ำปัญหารุนแรงที่สุด “นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากปัญหาทางการเมืองของประเทศในตอนนี้ถือว่า เกิดผลกระทบรุนแรงที่สุด เพราะหากพิจารณาเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่การปิดสนามบิน เผาเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ละครั้งที่เกิดขึ้นก็มีรัฐบาลบริหารประเทศอยู่ ผิดจากในปัจจุบันที่มีรัฐบาลแต่เป็นแค่รักษาการ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับการตัดสินใจกับนโยบายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของงบประมาณ และการลงทุน  ดังนั้นจึงเชื่อได้เลยว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คงเดาไม่ได้ว่าจะจบลงอย่างไร เพราะแต่ละฝ่ายคงตกลงกันไม่ได้ แต่ประเทศตายแน่ โดยสิ่งที่เห็นได้ชัด คือผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวเพราะนักท่องเที่ยวที่มาไทยเริ่มลดลง และหนีไปเที่ยวมาเลเซีย และอินโดนีเชียหมดแล้ว ไทยตกเป็นผู้ป่วยอาเซียน “อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  มองว่า ปัญหาทางการเมืองที่ยืดยาวและไม่สามารถประเมินได้ว่าจะจบลงเมื่อใดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเวลานี้ต้องถือว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเหมือนกับผู้ป่วยของอาเซียน เพราะนอกจากเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอแล้ว ยังส่งผลต่อการทำข้อตกลงต่าง ๆ ในกรอบของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพราะในประเทศอื่นทั้ง 9 ชาติที่เป็นสมาชิกเออีซี นั้นต่างพร้อมกันหมดแล้ว ยกเว้นไทยประเทศเดียวเท่านั้น ที่ยังไม่มีรัฐสภา ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การส่งออก การทำข้อตกลงด้านต่าง ๆ กับต่างประเทศ รวมถึงกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ซึ่งหากปัญหาการเมืองลากยาวไปอีก 3 เดือน เชื่อว่าธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยมีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการลง 700,000-800,000 ราย 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เศรษฐกิจล้มระเนนระนาด เหตุ…การเมืองไทยเน่า!!

Posts related