น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 1.6% จากเดิมตั้งไว้ว่าเติบโต 2.4 % คิดเป็นเงินสูญหายไปกว่า 800,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ไม่มีรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเดิมที่คาดว่ามีรัฐบาลชุดใหม่บริหารประเทศภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเป็นปลายปี ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า โดยเฉพาะงบประมาณปี 58 คาดว่าจะเบิกจ่ายได้จริงไตรมาส 2 ปี 58 และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจปีหน้ายังอยู่ภาวะชะลอตัว นอกจากนี้การไม่มีรัฐบาลทำให้ไทยเสียสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับการเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรปคิดเป็นสัดส่วน 0.7% ของจีดีพีสำหรับงบลงทุนภาครัฐประเมินว่าปีนี้ติดลบ 6.6% การบริโภคภาคครัวเรือนลดลง 0.5% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 2.8% เห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนเริ่มชะลอตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะเป็นการลดสินค้าทุนแสดงให้เห็นว่าเอกชนไม่มั่นใจเศรษฐกิจรุนแรงหากปรับ ลดลงต่อเนื่องจะมีปัญหาต่อเศรษฐกิจได้ ขณะที่การส่งออกโตเพียง 4% จากเดิมอยู่ที่ 5%“เศรษฐกิจไทยแม้จะชะลอตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย แม้ว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา จีดีพีอาจจะติดลบ 0.3% แต่เชื่อว่าจีดีพีในไตรมาส 2 ยังทรงตัว และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด หรือใต้ท้องช้างมาแล้ว หากสถานการณ์การเมืองไม่รุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายยังผันผวน จากปัจจัยการเมืองในประเทศ และสถานการณ์ต่างประเทศ"ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มปรับลดลง เหลือ 1.75% จากปัจจุบัน 2% ซึ่ง สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน และ แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงเงินทุนไหลออก ส่งผลเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 33 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้ สำหรับการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7%เป็น 10% คาดว่าจะไม่กระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แบงก์ลดจีดีพีเหลือ 1.6%

Posts related