ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะยอมรับว่าทุกวันนี้พฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้คนมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตค่อนข้างมาก ด้วยเหตุที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คน จากที่เราต้องรอพึ่งแต่สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์เท่านั้น ก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่ออื่น ๆ ที่เราเข้าถึงและจัดการได้ด้วยตนเองอย่างมือถือ แท็บเล็ต หรือแม้แต่การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า โซเชียล มีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือแม้แต่โปรแกรมไลน์   แม้ว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีทั้งคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา ถึงขนาดมีคนวิเคราะห์สถิติเอาไว้ในนิตยสารต่างประเทศ ฟาสต์ คอมปานี ว่าปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นกิจกรรมทางเว็บยอดนิยมมากที่สุด แซงหน้ากิจกรรมอื่น ๆ ทั้งหมด แม้กระทั่งกิจกรรมการดูหนังหรือรูปอนาจารเสียอีก ซึ่งตัวเลขตรงนี้น่าสนใจมากครับ โดยเฉพาะสำหรับคนที่คิดจะทำการตลาดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของตัวเอง หรือแม้แต่แผนการตลาดขององค์กรของตัวเอง ว่าจะหวังเพียงใช้แต่เว็บไซต์หรือการตลาดแบบเก่า ๆ เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องรู้จักบูรณาการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูล Thailand Top 10 Salary 2014 ของอเด็คโก้ ว่าตำแหน่งเกี่ยวกับ ดิจิทัล มาร์เกตติ้ง  มาแรงทีเดียว  หรืออย่างสถิติตัวเลขผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกที่ปัจจุบันมีคนใช้เกินพันล้านคนไปแล้ว โดยสิ่งที่น่าสนใจคือในตัวเลขผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้ มีถึง 189 ล้านคนที่ใช้เฟซบุ๊ก บนมือถือเพียงอย่างเดียว หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า โมบาย โอนลี และถ้ามองลึกลงไปถึงรายได้จากการโฆษณาที่ทางเฟซบุ๊กได้รับ จะเห็นว่ากว่า 30% มาจากทางมือถือ ซึ่งนี่ถือเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียวครับ และผมก็เชื่อว่าตัวเลขนี้มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกในอนาคต เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดจะวางแผนการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ของเรา ก็ไม่ควรที่จะละเลยกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ หรือกล่าวอีกอย่างก็คือยุคนี้สมัยนี้เราจำเป็นที่จะต้องพยายามขยายกรอบความคิดของเราให้ก้าวข้ามกรอบของคอมพิวเตอร์ชนิดตั้งโต๊ะไปให้ได้ ซึ่งการจะก้าวข้ามคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะให้ได้นั้นอาจรวมไปถึงการพยายามออกแบบการนำเสนอข้อมูลที่ต้องพอดีกับหน้าจอขนาดเล็กของมือถือ หรือแม้แต่การออกแบบให้เนื้อหาของเราสามารถเข้าถึงได้ด้วยความเร็วของ 3จี หรือ 4จี ที่คนใช้มือถือในประเทศนั้น ๆ นิยมใช้กัน เป็นต้น อีกหนึ่งตัวเลขสถิติที่น่าสนใจก็คือ 93 % ของนักการตลาด ได้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์กับธุรกิจของตัวเองไปเรียบร้อยแล้วครับ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นนักการตลาดและยังไม่เคยคิดที่จะเอาเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้าไปช่วยในแผนการตลาดของคุณ ก็ต้องบอกว่าตอนนี้คุณคือคนส่วนน้อย 7 ใน 100 คนเท่านั้นที่ยังมีแนวความคิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองบ้าง เพื่อที่จะนำเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ แม้ว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์จะดูมาแรงในการทำแผนการตลาด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพียงอย่างเดียวนะครับ เราสามารถนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ด้านอื่น ๆ เข้าไปบูรณาการ เป็นแนวการตลาดแบบใหม่ได้ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การสร้างป้ายโฆษณาแบบใหม่ ซึ่งได้เอามาใช้ในสายการบินที่ผมเพิ่งไปใช้บริการมาหมาด ๆ นั่นก็คือ บริติช แอร์เวย์ โดยเขาใช้ป้ายโฆษณาดิจิทัลที่สามารถตอบโต้กับเครื่องบินจริง ๆ ที่บินผ่านเพื่อดึงดูดความสนใจของคน เรียกว่าไม่ใช่ป้ายที่โฆษณาเป็นกราฟิกภาพเคลื่อนไหวที่ถูกอัดเอาไว้แล้วเอามาฉายซ้ำทั่ว ๆ ไป แต่สามารถมีการตอบสนองหรือที่เรียกว่า อินเตอร์แอ๊คชั่น กับเครื่องบินที่บินอยู่บนท้องฟ้าได้จริง ๆ โดยการทำป้ายโฆษณาแบบใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Surveillance Technology มาเชื่อมต่อกับตารางการบิน หลังจากนั้นระบบจะทำการบันทึกและวิเคราะห์ว่าเครื่องบินจะบินผ่านป้ายในเวลาใด ซึ่งทันทีที่เครื่องบินบินผ่าน ป้ายก็จะปรากฏเป็นภาพเด็กที่เคลื่อนไหวพร้อมทั้งชี้มือไปยังเครื่องบินที่กำลังบินผ่านได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถแสดงรายละเอียดของเครื่องบินลำนั้นได้ ว่าหมายเลขเที่ยวบินอะไร ออกเดินทางมาจากเมืองอะไร หรือกำลังจะบินไปที่ไหน เป็นต้น การใช้ป้ายโฆษณาแบบใหม่นี้ ถือเป็นครั้งแรกในวงการโฆษณาของอังกฤษเลยทีเดียวครับ ซึ่งถ้าพูดในเชิงเทคนิคแล้วก็ไม่ได้ทำยากจนเกินไป แต่ความยากจริง ๆ น่าจะอยู่ที่ไอเดีย ความคิด จินตนาการที่จะเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วไปบูรณาการกับเทคโนโลยีปัจจุบัน เพื่อก้าวข้ามกรอบความคิดแบบเดิม ๆ แล้วสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาให้ได้อย่างไร เท่านั้นเองครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การตลาดเชิงเทคโนโลยีแห่งอนาคต – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related