นายอัทธ์พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลวิเคราะห์ข้าวไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่าขณะนี้กำไรสุทธิต่อไร่ของชาวนาไทยอยู่ในระดับที่ต่ำสุดของชาวนาในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผลศึกษาพบว่าชาวนาไทยมีกำไรสุทธิที่1,555.97 บาทต่อไร ต่ำกว่าชาวนาพม่าที่มีกำไรสุทธิ 3,484.1 บาทต่อไร่ และเวียดนามมีกำไรสุทธิ 3,180.74 บาทต่อไร่เนื่องจากต้นทุนการผลิตของชาวนาไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆอย่างมากแม้ว่าราคาข้าวไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม ทั้งนี้หากพิจารณารายละเอียดพบว่าชาวนาในประเทศไทยจะมีการถือครองที่ดินเฉลี่ยที่20 ไร่ต่อครัวเรือน โดยปริมาณข้าว 1 ตันต้องใช้ที่ดิน 2.22 ไร่ และแต่ละปีทำนาได้2 ครั้ง ส่งผลให้มีกำไรสุทธิที่ 28,035.5 บาทต่อปี  ส่วนเวียดนามจะถือครองที่ดินรายละ 6.25 ไร่มีผลผลิต 1 ตัน ต่อนา 1.11 ไร่ ในแต่ละปีทำนาได้ 3 ครั้ง ทำให้มีกำไรสุทธิ  54,217.23 บาทต่อปี และ พม่าถือครองที่ดิน 10ไร่ต่อราย ผลผลิตข้าว 1 ตันต่อนา 2.38 ไร่ แต่ละปีทำนา 2 ครั้งทำให้มีกำไรสุทธิ29,278.11 บาทต่อตัน  “เป็นการสำรวจปี55 ที่ชาวนาไทยมีต้นทุน 9,763.4 บาทต่อไร่ มีรายได้ 11,319.37 บาทส่งผลให้มีเงินเหลือ 1,555.97 บาท,  เวียดนามมีต้นทุน 4,070.76 บาทต่อไร่ มีรายได้ 7,251.5 บาท และเงินเหลือ 3,180.74 บาท,พม่า มีต้นทุน 7,121.76 บาท รายได้ 10,605.86 บาท และ เงินเหลือ 3,484.1 บาท ซึ่งไม่รู้ว่าจะพูดได้หรือไม่ว่าชาวนาไทยจะจนที่สุดในอาเซียนแม้ว่าจะมีรายได้มากที่สุดและที่ดินเฉลี่ยก็จะเยอะที่สุดก็ตามแต่ปัญหาคือชาวนาไทยมีต้นทุนสูงสุด”   นายอัทธ์กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวนาไทยมีกำไรสุทธิน้อยกว่าประเทศอื่นคือ ประสิทธิภาพการผลิตข้าวที่ปัจจุบันยังต่ำกว่าคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม,ต้นทุนการผลิตที่สูงมาก  และ นโยบายการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลดังนั้นต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาวงการข้าวภาพรวมของประเทศแบบยั่งยืน  ขณะเดียวกันก็ควรตั้งกองทุนอุดหนุนชาวนาวงเงินปีละ 196,000  ล้านบาทโดยการเงินอุดหนุนชาวนา 40% ของต้นทุนการผลิต โดยปัจจุบันต้นทุนการผลิตชาวนาไทยเฉลี่ยที่ 9,763.40 บาทต่อตัน หากอุดหนุน 40% ก็จะทำให้กองทุนฯจ่ายเงินให้ชาวนาเฉลี่ยตันละ3,905.36 บาท แต่การอุดหนุนก็ไม่ควรเกินครอบครัวละ 20 ไร่ “แนวคิดดังกล่าวได้มาจากเวียดนามที่ปัจจุบันให้เงินอุดหนุนชาวประมาณ30% ของต้นทุนซึ่งก็ถือว่าดีเพราะเมื่อรัฐอุดหนุนต้นทุนแล้วชาวนาก็สามารถขายข้าวได้ตามกลไกตลาดโลกและรัฐบาลก็ไม่ต้องนำข้าวมาเก็บไว้ในสต็อกเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวที่อาจทำให้เกิดปัญหาข้าวเต็มสต็อกและต้องเสียค่าบริหารจัดการต่างๆปีละหลายหมื่นล้านบาท” นายอัทธ์กล่าวว่า  ขณะนี้ข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยข้าวผกามะลิ ของกัมพูชา  ข้าวจัสมินประเทศเวียดนาม และ ข้าวเพิร์ล ปอว์ ซาน ประเทศพม่า  ทะยอยเข้ามาตีตลาดข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านไทยได้พัฒนาคุณภาพข้าวดังกล่าวจนทำให้ผู้บริโภคประเทศต่างๆเริ่มติดใจสินค้า โดยเฉพาะข้าวเพิร์ล ปอว์ ซาน และ ข้าวผกามะลิ เคยได้รับตำแหน่งข้าวดีที่สุดในโลกในปี55และ ปี 56 ที่ผ่านมาดังนั้นต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพข้าวไทยทั้งระบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าทั่วโลก ทั้งนี้เป็นห่วงว่าหากประเทศเพื่อนบ้านสามารถพัฒนาศักยภาพของข้าวปริมาณสินค้า และการตลาดในอนาคตก็จะมีหลายประเทศอาจเปลี่ยนการสั่งข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าไทย50-100 เหรียญฯต่อตันแทน เพราะต้องการที่จะประหยัดรายจ่ายในการใช้งบประมาณในแต่ละประเทศ “ตอนนี้ข้าวหอมมะลิไทยเริ่มทะยอยเสียตลาดในบางประเทศแล้วให้แก่ข้าวหอมจากทั้ง3 ประเทศซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากข้าวหอมจากพม่าและกัมพูชามีการเพิ่มปริมาณผลผลิตและมีการพัฒนาการทำตลาดในต่างประเทศอาจจะทำให้ข้าวหอมไทยเดือดร้อนแน่นอน ขณะที่ข้าวหอมจากเวียดนามแม้จะมีเมล็ดยาวสวยงามแต่ก็กำลังที่จะพัฒนาความหอมและรสชาดมาแข่งขันไทยอยู่แต่คาดว่าคงใช้เวลาไม่นาน”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชาวนาไทยจนสุดในอาเซียน

Posts related