คำถามหนึ่งซึ่งค้างคาใจสังคมไทยมาก คือทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ บางครั้งมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันที่โรงกลั่นน้ำมันขายในประเทศ  การที่จะทำความเข้าใจในปัญหานี้ได้อย่างลึกซึ้งคงต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปถึงการเริ่มต้นส่งเสริมให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยกันก่อน วัตถุประสงค์ของการส่งเสริมให้มีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยนั้นก็เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ และเพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศ ในระยะแรกโรงกลั่นฯ ในประเทศยังมีจำนวนไม่มากนัก การกลั่นน้ำมันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โรงกลั่นฯ กลั่นน้ำมันได้เท่าไรก็ขายในประเทศได้หมด ต่อมาในปี 35 รัฐบาลได้มีนโยบายเปิดเสรีโรงกลั่นน้ำมัน และได้มีการสร้างโรงกลั่นฯ ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นในไทยอีก 2 แห่งทำให้มีกำลังการกลั่นเกินความต้องการภายในประเทศ ประกอบกับไทยประสบกับภาวะ      วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 จึงทำให้ความต้องการน้ำมันในประเทศลดต่ำลงโรงกลั่นฯ จึงต้องหันไปพึ่งพาตลาดส่งออก เพื่อระบายน้ำมันส่วนเกินออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ แน่นอนว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ส่วนเกินความต้องการในประเทศไปขายต่างประเทศนั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการสร้างโรง กลั่นฯ ในไทยเพราะเราสร้างโรงกลั่นฯ มาเพื่อทดแทนการนำเข้าไม่ได้สร้างมาเพื่อการส่งออกเหมือนอย่างโรงกลั่นฯ ในสิงคโปร์ ดังนั้นเมื่อต้องส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศ เราก็ต้องไปแข่งขันกับสิงคโปร์ที่มีความได้เปรียบเราในทุกด้านและเป็นผู้ครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว ถ้าเราต้องการขายให้ได้เราก็ต้องลดราคาลงมาเพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายถูกกว่าราคาในประเทศไปเสียทั้งหมดในบางตลาดที่เรามีความได้เปรียบด้านการขนส่ง เช่น ลาว กัมพูชา เราก็ขายราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่น ยกเว้นบางตลาดที่เราเสียเปรียบด้านการขนส่งทางเรือเท่านั้นที่เราต้องตัดราคาลงมาเพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์  ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการค้าระหว่างประเทศ ที่ราคาส่งออกนั้นมีทั้งราคาถูกและราคาแพง มีทั้งราคาที่สูงกว่าที่ขายในประเทศ หรือบางกรณีก็ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่เรามีสินค้าส่วนเกินเหลือมาก ๆ และต้องระบายออกอย่างรวดเร็วอย่างเช่น ข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่ทำให้บางครั้งผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมีราคาถูกกว่าราคาที่ขายในประเทศคือ 1. น้ำมันที่ส่งออกมีคุณภาพไม่เหมือนกับน้ำมันที่ขายภายในประเทศ เช่นน้ำมันเบนซินและดีเซลของเราต้องได้มาตรฐานยูโร 4 ในขณะที่ของประเทศเพื่อนบ้านเราบางแห่งไม่ได้มีมาตรฐานสูงขนาดนั้น 2. การส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศมีต้นทุนที่ถูกกว่าขายในประเทศ เพราะตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างลงได้เช่น ไม่ต้องสำรองน้ำมันตามกฎหมายเหมือนกับการขายในประเทศ ทำให้ลดราคาลงมาได้ 3. ตลาดส่งออกถือเป็นตลาดซื้อขายที่ไม่มีความแน่นอน (SpotMarket) ไม่มีสัญญาซื้อขายกันเป็นระยะยาว โรงกลั่นฯ ไม่ถูกผูกมัดว่าจะต้องขายให้ตลอดเวลาจึงอาจขายในราคาถูกเป็นครั้ง ๆ ไปได้ 4. การส่งออกไม่ใช่ธุรกิจหลักของโรง กลั่นฯ ดังนั้นการระบายน้ำมันออกได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเก็บสินค้าไว้เป็นเวลานานสิ้นเปลืองเนื้อที่คลังน้ำมันและถังเก็บน้ำมันอีกทั้งยังทำให้กลั่นน้ำมันได้เต็มกำลังการผลิตตลอดเวลา ดังนั้นถ้าจะต้องส่งออกในราคาที่ต่ำลงไปบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในเชิงธุรกิจ ทั้งหมดนั้นเป็นเหตุผลและความเป็นจริงในเชิงธุรกิจล้วน ๆ นะครับ แต่ใครจะทำใจยอมรับได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนี่งครับ!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ทำไมราคาน้ำมันส่งออกจึงถูกกว่าราคาน้ำมันที่ขายในประเทศ – พลังงานรอบทิศ

Posts related