นายวชิรคูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าขณะนี้แรงงานไทยเริ่มหางานได้ยากลำบากมากขึ้นหลังจากผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงรวมถึงเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามเป้าหมายส่งผลให้หลายๆบริษัทโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจำเป็นต้องระมัดระวังในการรับพนักงานเพิ่มเพื่อไม่ให้เป็นภาระต้นทุนมากนักส่วนรายใหญ่ที่มีศักยภาพก็มีการนำเข้าเครื่องจักรจำนวนมากมาทดแทนแรงงานคน “การหางานที่ทำยากของแรงงานไทยนั้นจะสอดคล้องกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่พบว่าในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ เท่ากับ 68.2  ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน ตั้งแต่ ส.ค. 55  แสดงให้เห็นว่าการหางานทำในช่วงนี้ค่อนข้างจะยากมากต่างจากช่วงปลาย 55ถึงต้นปี 56 ที่หลายๆบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจนทำให้ผู้ประกอบการต้องแย่งแรงงานโดยการให้ค่าจ้างที่สูงในการดึงดูดใจ” นอกจากนี้ยังพบว่าสาเหตุที่ทำให้โรงงานระมัดระวังในการรับพนักงานใหม่คือกรณีของผลกระทบจากการส่งออกไทยที่ชะลอตัวอย่างมากจากเดิมที่มีการตั้งเป้าขยายตัวในปี56 ในระดับ 7-7.5% แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ปรับตัวเลขเหลือลง0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ดีทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องลดกำลังการผลิตลงรวมทั้งมีการนำสินค้าที่จะส่งออกส่วนหนึ่งหันมาขายในประเทศแทนเพื่อระบายสต็อก สำหรับพื้นที่ที่มีการหางานทำยากมีทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑลและในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในส่วนต่างจังหวัดที่อยู่ไกลกับเส้นทางโลจิสติกส์เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ300 บาททั่วประเทศเท่ากันทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวยิ่งมีภาระต้นทุนมากขึ้นส่งผลให้บางรายต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตมาอยู่ใกล้เส้นทางโลจิสติกส์ส่วนรายที่อยู่ก็มีนโยบายรัดเข็มขัดเต็มที่ ขณะนี้ยอมรับว่าปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงและการจำหน่ายสินค้าได้ลำบากส่งผลให้สถานการณ์ในช่วงนี้ไม่มีแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจโดยเห็นจากดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในเดือนพ.ย. 56 ที่อยู่ในระดับ 70.4 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 89เดือนนับตั้งแต่มีการทำผลสำรวจในเดือน ก.ค. 48 เป็นต้นมา เนื่องจากผลกระทบจากต้นทุนการผลิตสูงเศรษฐกิจชะลอตัว และการขายสินค้าได้ลำบาก ส่งผลให้เอสเอ็มอีต้องมีการชะลอการลงทุนลงเพื่อรอโอกาสให้เศรษฐกิจฟื้นกลับคืนมาในปี57ที่หลายฝ่ายประเมินว่าประเทศต่างๆทั่วโลกจะดีขึ้นจากเดิม นายวชิรกล่าวว่าปัจจัยที่มีผลทำให้การลงทุนของภาคเอกชนกลับการคึกคักอีกรอบคงมาจากการผลักดันโครงการเมกะโปร์เจคของรัฐบาลโดยเฉพาะการลงทุน2 ล้านล้านบาทเพราะจะทำให้มีการตั้งบริษัทผู้รับเหมาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นจำนวนมากเพื่อรับงานต่อๆกันไป  แต่หากไม่มีโครงการใหญ่ๆก็ไม่มีผลต่อการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนมากนักเพราะงบลงทุนทั่วไปตามปกติของรัฐบาลส่วนใหญ่ก็จะเป็นงบฯในการซ่อมแซมถนนซ่อมแซมสถานที่ต่างๆ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ธุรกิจต้นทุนสูงหันใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน

Posts related