ขณะนี้เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์เจริญก้าวหน้าไปมาก จินตนาการเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่เราเห็นในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั้งหลายเช่น ทรานสฟอร์เมอร์ส สตาร์ วอร์ส  โดราเอมอน กำลังจะกลายเป็นความจริงในไม่ช้า แต่มีศัพท์หลายคำเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่เรามักได้ยินในนิยายวิทยาศาสตร์หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ  เรามาดูกันว่า แต่ละคำมีความหมายแตกต่างกันอย่างไรครับ หุ่นยนต์ (Robot) คือเครื่องจักรกลที่ทำงานด้วยตัวเองหรือมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ตัดสินใจได้ด้วยตนเอง หุ่นยนต์จึงมีรูปร่างได้หลายแบบและนำไปใช้ในงานต่าง ๆ มากมาย  เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านมีรูปร่างคล้ายจานหนา ๆ หุ่นยนต์รูปร่างคล้ายงูที่ค้นหาผู้รอดชีวิตในแผ่นดินไหว หุ่นยนต์คล้ายแมลงที่ทำงานเป็นทีม หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ที่ใช้ในทางการแพทย์ หุ่นยนต์สำรวจใต้ทะเลลึก  เป็นต้น ขณะนี้มีบริษัทคนไทยพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์บ้างแล้วคือ หุ่นยนต์ดินสอ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศมีหลักสูตรการเรียน การสอนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ ศาสตร์ด้านหุ่นยนต์หรือ Robotics จึงเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมาก เพราะต้องอาศัยความรู้หลายด้านมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า  วิศวกรรมเครื่องกล และมีแนวโน้มทางเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดว่า หุ่นยนต์ที่ใช้งานส่วนตัวหรือหุ่นยนต์ที่ใช้ในบ้านกำลังมาอย่างแน่นอน ผมจึงขอเชิญชวนเยาวชนที่มีความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ การคำนวณ เครื่องจักรกลมาเรียนหุ่นยนต์กันครับ ตัวอย่างของหุ่นยนต์ในภาพยนตร์ เช่น R2-D2 จากภาพยนตร์ชุดสตาร์ วอร์ส โดราเอมอนก็คือหุ่นยนต์แมวดี ๆ นี่เอง  หุ่นยนต์จากภาพยนตร์ชุดทรานสฟอร์เมอร์สที่เปลี่ยนเป็นยานพาหนะต่าง ๆ  รวมทั้งหุ่นยนต์จากการ์ตูนญี่ปุ่นอีกหลายเรื่องซึ่งเน้นด้านการต่อสู้หรือการทหาร แอนดรอยด์ (Android) ซึ่งไม่ใช่ระบบปฏิบัติการของกูเกิล คือหุ่นยนต์พิเศษที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์นั่นเองครับ  นิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับหุ่นยนต์มักกล่าวถึงแอนดรอยด์ว่า รูปร่างภายนอกเหมือนมนุษย์มากจนแทบจะแยกไม่ออก แต่ข้างในคือเครื่องจักรกลทั้งหมด แอนดรอยด์ส่วนใหญ่ที่เราเห็นในยุคปัจจุบันมีรูปร่างเหมือนมนุษย์ แต่ภายนอกยังเป็นเครื่องจักรกลอยู่ ตัวอย่างแอนดรอยด์ที่โด่งดังที่สุดตัวหนึ่งคือ อาซิโม ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทฮอนด้านั่นเอง หลายประเทศเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ก็เริ่มพัฒนาแอนดรอยด์ที่ดูเหมือนมนุษย์จริงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ดูแลผู้สูงอายุ ไกด์ หรือผู้ให้คำแนะนำต่าง ๆ  ตัวอย่างของแอนดรอยด์ในภาพยนตร์ชุดสตาร์ วอร์ส ก็คือ C3PO หุ่นยนต์ล่ามพูดมากนั่นเองครับ  นิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับหุ่นยนต์ของไอแซค อาซิมอฟ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ระดับโลกก็มักเน้นเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างแอนดรอยด์กับมนุษย์ในสังคม ไซบอร์ก (Cyborg) เราอาจแปลไซบอร์กง่าย ๆ ว่า มนุษย์กล หมายความว่า ไซบอร์กคือสิ่งมีชีวิตที่มีเครื่องจักรกลอยู่ในร่างกายเพื่อเพิ่มศักยภาพหรือรักษาโรค  หนังโทรทัศน์มีไซบอร์กมากมาย ตัวอย่างไซบอร์กที่ผู้ใหญ่หัวใจเด็กทุกคนรู้จักกันดีก็คือ ไอ้มดแดงหรือที่ยุคนี้เรียกว่า คาเมน ไรเดอร์นั่นเองครับ ไอ้มดแดงคือไซบอร์กหรือมนุษย์ดัดแปลงที่มีความสามารถมากกว่าคนธรรมดา หลายสิบปีก่อนมีภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด “จารชนคอมพิวเตอร์” ที่ฉายในช่อง3 ซึ่งพระเอกเป็นนักบินแต่ประสบอุบัติเหตุและได้รับการดัดแปลงร่างกายทำให้มีความสามารถเหนือมนุษย์ แล้วทำงานเป็นจารชนให้รัฐบาล นี่ก็คือไซบอร์กเช่นกันครับ  ผู้อ่านเดาได้ไหมครับว่า ไซบอร์กในภาพยนตร์ชุดสตาร์ วอร์สคือใคร  (อ่านคำเฉลยท้ายบทความ) ในขณะนี้หุ่นยนต์ยังมีราคาแพงอยู่ เปรียบได้กับโทรศัพท์มือถือรุ่นแรก ๆ ที่ราคาแพง และเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ก็จะมีราคาถูกลงจนทุกคนซื้อหามาใช้เป็นของส่วนตัวและกลายเป็นสิ่งของที่แพร่หลายในชีวิตประจำวัน ในทำนองเดียวกัน อีกไม่นานนัก หุ่นยนต์ก็จะมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งแพร่หลาย  ดังนั้น คงไม่ผิดนัก ถ้าเรากล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ โลกของเราจะเต็มไปด้วยจักรกลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์แอนดรอยด์ หรือไซบอร์ก จนเราอาจเรียกโลกว่าพิภพหุ่นยนต์ครับ (ไซบอร์กในภาพยนตร์ชุดสตาร์ วอร์ส คือ ดาร์ท เวเดอร์ครับ). ธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Thongchai.R@chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พิภพหุ่นยนต์ – 1001

Posts related