เทคโนโลยีด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมา โดยมีความเร็วในการทำงานเพิ่มขึ้น ขนาดเล็กลงและกินพลังงานต่ำ สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราย่อขนาดคอมพิวเตอร์ลงไปจนพกติดตัวได้ เช่นกลายเป็นโทรศัพท์ฉลาด นอกจากใช้เป็นอุปกรณ์โทรศัพท์ และติดต่ออินเทอร์เน็ตแล้ว มีผู้คิดถึงอนาคตที่คอมพิวเตอร์สามารถสวมใส่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย ทำงานต่าง ๆ ได้หลากหลาย ความคิดเหล่านี้มีในนวนิยายวิทยาศาสตร์บ้าง มีผู้ทดลองประดิษฐ์ตั้งแต่สมัยยุคต้น ๆ ของไมโครคอมพิวเตอร์บ้าง (1970) และในเวลาปัจจุบัน มีการผลิตเป็นอุปกรณ์ออกมาขายแล้วบ้าง มีสองอย่างที่เป็นที่กล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ คือ แว่นตา กลาส ของกูเกิล และ นาฬิกาฉลาดของหลาย ๆ บริษัท อาจารย์ Steve Mann (ขณะนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัย Toronto, Canada) ประดิษฐ์ กล้องสวมศีรษะŽ เพื่อใช้บันทึกภาพและแพร่ภาพออกอากาศ ในปี ค.ศ. 1970 (ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น กลุ่มวิจัยอีกกลุ่มในอเมริกา ใส่อุปกรณ์วัดและคอมพิวเตอร์จิ๋วเข้าไปในรองเท้าโดยใช้ตัวสั่นเพื่อสื่อสารกับผู้สวม) ต่อมาอาจารย์ สตีฟ ไปทำวิจัยปริญญาเอกในการพัฒนาคอมพิวเตอร์สำหรับสวมใส่ ที่มหาวิทยาลัยเอ็มไอที เขาสามารถบรรจุกล้อง อุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์จิ๋ว และแบตเตอรี่ ติดไว้ตามเสื้อผ้าและเป้สะพายหลัง ทำให้เขาเดินไปไหนมาไหน และบันทึกภาพได้ตลอดเวลาตามที่ตาเห็น (ปี ค.ศ. 1981) สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก สิ่งประดิษฐ์ของเขาถือว่าล้ำยุค สิ่งที่ทำได้ตามมาอีกคือ เขาสามารถบันทึก สถานที่Ž หรือตำแหน่งของจุดที่แพร่ภาพได้ โดยใช้เรดาร์ (ยุคนั้นยังไม่มีจีพีเอส) โดยเขาหวังจะทำระบบช่วยนำทางคนตาบอด นี่คือที่มาของแว่นตาฉลาด ถ้าเอาจอภาพมาใส่ประกอบในแว่นให้ฉายแสงสะท้อนเข้าไปในตา ทำให้เห็นภาพเหมือนจอคอมพิวเตอร์ลอยอยู่ในอากาศ ซ้อนกับภาพที่มองเห็น แว่นตาฉลาดก็สามารถ เสริมŽ ภาพที่มองเห็นได้ โดยจะเห็นทั้งภาพจริงผสมกับภาพที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น สามารถ เพิ่มŽ ลดŽ และ เสริมแต่งŽ ภาพที่เห็นอย่างไรก็ได้ แว่นตาคอมพิวเตอร์ สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น นำทาง ลองนึกถึงว่าฉายภาพของ สตรีท วิว (street view) ในแผนที่กูเกิล ขึ้นมาผสมกับภาพจริงที่เรากำลังเห็นอยู่ แล้วมีระบบนำทางบอกให้รู้ว่า จะไปยังที่หมาย ต้องเดินไปทางไหน เลี้ยวที่แยกข้างหน้าหรือไม่เป็นต้น หรือนึกถึงว่า เพื่อนส่งข้อความ แล้วมาปรากฏที่แว่นตาของเรา เห็นข้อความขึ้นซ้อนกับภาพที่เห็นอยู่ หรือว่ามองหน้าใครสักคน แล้วมีชื่อคนนั้นขึ้นให้ เพื่อเตือนความจำ แว่น กลาส ของกูเกิล ในปัจจุบัน (ลองค้นดูรูปในเน็ต จะเห็นว่ารูปทรงเท่มาก) มีกล้องติดตา สามารถบันทึกวิดีโอสิ่งที่เราเห็นได้ตลอดเวลา และแสดงจอภาพขนาดเล็กไปพร้อม ๆ กัน คอมพิวเตอร์ ในแว่นสามารถติดต่อกับโทรศัพท์ฉลาดที่ใช้ระบบของกูเกิล สั่งงานด้วยเสียง จึงไม่ต้องใช้มือหยิบโทรศัพท์มาใช้งาน นอกจากนั้นยังส่งข้อความและรูปจากโทรศัพท์มายังแว่นตาได้ สามารถค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต โดยใช้การค้นด้วยเสียงของกูเกิล แว่น กลาส ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนา มีการทดลองใช้ในหมู่คนจำกัด ยังไม่จำหน่าย การเกิดขึ้นของแว่นตากูเกิลนี้ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงในสังคม (ความจริงมีมาตั้งแต่สมัยอาจารย์ สตีฟ ทดลองใส่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว) เกิดการ ระแวงŽ การบันทึกภาพ และการละเมิดความเป็นส่วนตัว คงต้องจับตาดูต่อไปว่า ทั้งสังคม ผู้ใช้ และผู้ผลิต จะปรับตัวอย่างไรกับเทคโนโลยีนี้ คอมพิวเตอร์สวมใส่อีกอย่างหนึ่ง คือนาฬิกาฉลาด ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนแว่นตา มีจุดกำเนิดมานานแล้วเช่นกัน ในการ์ตูน Dick Tracy ของอเมริกา (1930, เป็นหนังภาพยนตร์ 1990 ) นักสืบตัวเอกของเรื่อง มีอุปกรณ์สื่อสารเป็นนาฬิกาข้อมือ ปี ค.ศ. 2000 ทีมวิจัยของบริษัท ไอบีเอ็ม แสดงผลงานการบรรจุคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ลงในนาฬิกาข้อมือ ซึ่งทำงานได้เหมือนคอมพิว เตอร์ตั้งโต๊ะ คือใช้ระบบลีนุกซ์ได้ ตอนที่ผมอ่านรายงานนี้เมื่อสิบปีก่อนเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นมาก ผมจำได้ว่าแบตเตอรี่อยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมง ถือเป็นความสำเร็จในการบรรจุเทคโนโลยีขั้นสูง ลงในอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อมา ไอบีเอ็ม ร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ นาฬิกา ข้อมือที่บรรจุความสามารถต่าง ๆ เช่น วัดความดันอากาศ วัดความสูง วัดสุขภาพ เช่น อัตราเต้นของหัวใจ ปริมาณออกซิเจนในเลือด หรือใส่เซลล์แสงอาทิตย์เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งพลังงาน ก็เป็นสิ่งที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นของที่ซื้อหาได้ ไม่ใช่อยู่ในห้องวิจัย เราจึงคุ้นเคย นาฬิกาฉลาดเป็นการต่อยอดขึ้นไป โดยเป้าหมายคือ ผนวกการใช้งานกับโทรศัพท์ฉลาด เช่น แสดงข้อความของโทรศัพท์ที่นาฬิกา เพื่อให้ใช้โทรศัพท์ได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องหยิบโทรศัพท์ นาฬิกาฉลาดที่หลายบริษัทผลิตจำหน่าย หรือกำลังจะผลิต คือการย่อส่วนคอมพิวเตอร์ของโทรศัพท์มือถือ ลงไปในกล่องเล็ก ๆ เพราะนาฬิกาย่อมพกพาสะดวกกว่าโทรศัพท์ เนื่องจากมีขนาดเล็ก ผูกติดข้อมือเลย ปัญหาคือ จะเอาไปทำอะไรได้? จุดอ่อนของนาฬิกาฉลาดในปัจจุบันคือ แบตเตอรี่อยู่ได้ไม่นาน นาฬิกาปกติอยู่ได้เป็นปี นาฬิกาฉลาดต้องอัดแบตเตอรี่ทุกวัน นอกจากนั้น ถ้าทำงานโดยใช้จอสัมผัส ย่อมไม่สะดวกเพราะจอเล็ก ลองคิดถึงการพิมพ์ข้อความบนจอจิ๋วของนาฬิกาข้อมือ ขนาดจอเล็กทำให้แสดงข้อความได้น้อย ดังนั้นถ้ามองว่า นาฬิกาฉลาดทำงานบางส่วนของโทรศัพท์ฉลาด ก็ยังไม่โดนใจนัก นาฬิกาฉลาดน่าจะเหมาะกับเรื่องสุขภาพ เพราะอยู่ติดกับร่างกาย วัดอะไร ๆ ทางสุขภาพ ได้หลายอย่าง เช่น การเต้นของหัวใจ ระยะทางที่เดิน และเพื่อให้สะดวก การใช้งานควรใช้การพูดประกอบการแตะจอ เพื่อให้มีประโยชน์จากจอเล็ก ๆ นาฬิกาฉลาดต้องใช้ ตำแหน่งที่อยู่Ž ของผู้ใส่ เสนอข้อมูลและบริการที่เฉพาะเจาะจง อีกอย่างหนึ่ง การผูกการทำงานของนาฬิกาฉลาดกับโทรศัพท์ คงเป็นแค่ชั่วคราว เพราะนาฬิกาฉลาดเป็นอนาคตของโทรศัพท์มือถือ ลักษณะการทำงานที่ยอดเยี่ยมของนาฬิกาฉลาด เป็นเรื่องที่เราจะคิดค้นต่อไปในอนาคต อาจารย์วีระ เหมืองสิน ได้ให้ข้อสังเกตผมอย่างหนึ่งว่า แว่นตาฉลาดมีปรากฏในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง ดราก้อนบอล (1984-1995) ตอนที่โงคู (พระเอก) พบกับญาติของตัวเอง คือ ราดิช เป็นครั้งแรก ราดิช เป็นชาวต่างดาว ใส่แว่น (ต่อมาเรียกอุปกรณ์นี้ว่า สเก้าเตอร์) ที่เป็นแว่นตาฉลาด สามารถอ่าน พลังต่อสู้Ž ของสิ่งมีชีวิตได้ นับว่าผู้แต่ง คือคุณ อากิรา โทริยามา สามารถมองเห็นอนาคตได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 โน่น. ศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย prabhas@chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ย้อนอดีต มองอนาคตคอมพิวเตอร์สำหรับสวมใส่ – 1001

Posts related