หนี้โครงการรับจำนำข้าวที่มีผลขาดทุนสูง 6-7 แสนล้านบาท สุดท้ายแล้วต้องตกเป็นเงินภาษีของทุกคนในประเทศ การใช้หนี้ขาดทุนจำนำข้าว มีทางแก้ทางเดียวคือต้องใช้หนี้ และคาดว่าอาจใช้เวลามากกว่า 30 ปี หรือต้องใช้หนี้จำนำข้าวกันถึงรุ่นหลาน เป็นคำให้สัมภาษณ์ของขุนคลัง “สมหมาย ภาษี” เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคงต้องหันมาหยุดคิด …ว่า นโยบายประชานิยมที่บรรดานักการเมืองสร้างสรรค์กันออกมาเพื่อแลกกับคะแนนเสียงนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ถูกต้องหรือไม่…เพราะสุดท้ายคนไทยทั้งประเทศต้องมานั่งแบกรับภาระหนี้เป็นการตอบแทน แทนที่จะนำเงินมาลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศซึ่งทุกคนย่อมได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ข้าวค้างสต๊อก 18 ล้านตัน ณ วันนี้ ผลงานที่นักการเมืองรังสรรค์ปั้นแต่งไว้ ได้โผล่ “ความเน่า” ออกมาให้เห็นแล้ว ข้าวสารที่รับซื้อมาตันละ 15,000 บาทนั้น ได้กองอยู่ในสต๊อกของรัฐบาล 18 ล้านตัน ที่น่าอึ้ง…คือ ในจำนวนนี้เป็นข้าวที่คุณภาพดีเพียง 10% เศษ เท่านั้น อีก 70% เป็นข้าวคุณภาพต่ำ มีสีเหลืองเพราะเก็บไว้นาน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพ คนไม่สามารถกินได้ ต้องนำไปขายเพื่อผลิตเป็นเอทานอล และสุดท้ายเป็นข้าวที่หายไป มีจำนวนเบื้องต้นประมาณ 1 แสนตัน แม้ว่าเวลานี้…ผลที่เกิดขึ้นยังไม่มีอะไรแน่ชัดว่าจะดำเนินการความผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร โดยเฉพาะ “ผู้นำ” อย่าง “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่นัดถกวันที่ 12 พ.ย. “นายพล” รับเผือกร้อน เผือกร้อนชิ้นนี้กลายเป็นภาระหนักอึ้งของรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ที่ต้องหาทางดับร้อนให้ดีที่สุด เชื่อได้ว่าใครต่อใครคงรอดูฝีมือของเหล่า “ครม.นายพล”ทั้งหลายว่าจะรับมืออย่างไร โดยเฉพาะการบริหารหนี้ก้อนโต 6-7 แสนล้านบาท รวมไปถึงการระบายหรือขายข้าวที่ค้างเติ่งในโกดัง 18 ล้านตัน ที่มีคำถามจากผู้เสียภาษีมากมายว่าจะทำอย่างไร ทำไมก่อนหน้านี้ไม่เร่งระบายให้หมด เพราะอีกไม่กี่วันนี้…ข้าวนาปีฤดูใหม่ 57/58 จะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 27 ล้านตัน ที่สำคัญหากใช้วิธีทยอยขาย กว่าจะหมดก็เชื่อได้แน่ว่าความเสียหายจะบังเกิดขึ้นมากกว่า 6 แสนล้านบาท อาจเฉียดไปถึงล้านล้านบาทก็ได้เพราะยิ่งปล่อยไว้ข้าวยิ่งเสื่อมคุณภาพ ตามที่สถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้ศึกษาไว้ ขณะที่หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน พ่อค้าข้าว ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวในสต๊อกที่เหลือส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว ส่วนข้าวหอมมะลิ ได้ระบายไปเกือบหมด หรือหากจะเหลือคงมีปริมาณน้อยแล้ว ขายได้ปีละ 3 ล้านตัน ดังนั้นการระบายข้าวขาวซึ่งเป็นข้าวเก่าอย่างเก่งก็คงระบายได้ปีละไม่เกิน 3 ล้านตัน ส่วนใหญ่จะขายในตลาดแอฟริกาปีละ 2 ล้านตัน และระบายในประเทศ 5-6 แสนตัน ยังมีผู้บริโภคที่ยังต้องการข้าวเก่าอยู่ ขณะที่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีน ยังต้องการข้าวใหม่มากกว่า ซึ่งการจะเร่ขายข้าวเก่าค้างเติ่งทั้ง 18 ล้านตัน หรือระบายให้หมดภายในปีเดียวจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะ… ประการแรก…ความต้องการข้าวเก่าในตลาดมีจำกัด เนื่องจากในแต่ละปีจะมีข้าวใหม่ของแต่ละประเทศออกมาเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าการค้าข้าวในตลาดโลกอยู่ที่ 40 ล้านตันข้าวสารต่อปี ส่วนใหญ่ต้องการข้าวใหม่ และที่สำคัญผลผลิตข้าวนาปี 57/58 ของทั่วโลก ไม่ลดน้อยลงแม้ว่าบางช่วงจะเกิดปัญหาภัยธรรมชาติก็ตาม ประการที่ 2 ไทยคงไม่สามารถแย่งตลาดข้าวประเทศอื่นได้ เพราะหากขายในราคาถูก ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินเดีย พร้อมดั๊มพ์ราคาสู้เพื่อรักษาตลาดไว้เช่นกัน ประการที่ 3 ประเทศคู่ค้าคงไม่สามารถซื้อข้าวเก่าได้ในปริมาณมาก ๆ เพราะเสี่ยงต่อคุณภาพเสื่อมและเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ประการที่ 4 ถ้าระบายมากจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลกจนเกษตรกรทั่วโลกต้องดั๊มพ์ราคามาสู้กัน และ สุดท้าย หากตลาดโลกต้องการข้าวมากขึ้นอาจมีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์และเรือบรรทุกสินค้า ที่ก่อนหน้านี้ไทยนำเข้าลดลง ทำให้เรือสินค้าไม่ต้องการวิ่งเรือเปล่าเข้ามาในไทย เพราะไม่คุ้มต้นทุนส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องแย่งตู้ฯและเรือบรรทุกสินค้าต้องใช้เวลา 3-5 ปี ดังนั้น…ความน่าจะเป็นไปได้ที่รัฐบาลและเอกชนร่วมกันระบายข้าวในสต๊อกให้หมดคงต้องใช้เวลา 3-5 ปี ซึ่งแนวทางที่ระบายได้ดีและรวดเร็วที่สุดคือ การเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แต่ในส่วนของบาร์เตอร์เทรด หรือโครงการแลกเปลี่ยนสินค้า เช่น ข้าวกับรถไฟฟ้าของจีน คงทำได้ยาก สุดท้าย! ใครต้องการซื้อสินค้าใดก็ซื้อไปโดยไม่ต้องมาแลก นอกจากนี้ยังมีแนวทางการร่วมมือกับเอกชน ที่ให้เอกชนออกไปร่วมประมูลข้าวใหม่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางช่วยไม่ให้ราคาข้าวใหม่ตกต่ำ โดยรัฐจะชดเชยผู้ส่งออกที่ขาดทุนจากการดั๊มพ์ราคาแข่งขันกับเวียดนามด้วยการจ่ายเป็นข้าวสารเก่าในสต๊อกเป็นการชดเชย ซึ่งกรณีนี้ได้ดำเนินการมาแล้วในการเข้าร่วมประมูลขายข้าวแก่ฟิลิปปินส์ 3 แสนตัน โดยครั้งนั้นเอกชนขาดทุนตันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท เพราะต้องขนข้าวไปถึงหน้าโกดังตามหมู่เกาะของฟิลิปปินส์ และรัฐบาลชดเชยส่วนต่างราคาข้าวให้เอกชนด้วยการจ่ายชดเชยเป็นข้าวสารให้ประมาณ 8,500 ตัน ไทยครองแชมป์ขายข้าว หากมองในภาพรวมของตลาดข้าวแล้ว ต้องยอมรับว่าเวลานี้ราคาข้าวของไทยเป็นไปตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถขายข้าวได้ เพราะแพงกว่าคู่แข่งตันละไม่ต่ำกว่า 100-150 ดอลลาร์สหรัฐ จนถูกอินเดียและเวียดนามแย่งตลาดและแซงไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวอยู่เบอร์ 1 และ 2 ของโลกไปครอง แต่เมื่อไทยมีปัญหาเรื่องของสต๊อกข้าวที่มากเกินไป และต้องเร่งระบาย ส่งผลให้ราคาข้าวไทยกับเวียดนามคู่แข่งตลอดกาลกลับมาอยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกันหรือในบางช่วงบางเวลาราคาผลัดกันสูงกว่า ในที่สุดไทยสามารถยึดตลาดในหลาย ๆ ตลาดกลับคืนมาได้ จนกลายเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลกในทันที ซึ่งล่าสุดในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 57) ไทยส่งออกได้มากถึง 8.38 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 70 % และคาดว่าทั้งปีจะส่งออกได้ 10.5-11 ล้านตัน แม้ไทยจะโชคดีที่กลับมาครองแชมป์ แต่ปัญหาลักลอบค้าข้าวผ่านชายแดนจีนกลับเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ประมาณ 1.5 ล้านตัน เป็น 3 ล้านตันในปีนี้ หากจีนเริ่มเข้มงวดกับปัญหานี้ เชื่อว่าเวียดนามคงต้องใช้วิธีการดั๊มพ์ราคาข้าวลงอีกเพื่อแย่งตลาดกับข้าวไทย แม้ไทยได้กลับมาครองแชมป์ส่งออกอีกครั้ง แต่ปริมาณข้าวที่มากมายมหาศาลถึง 18 ล้านตัน ได้กลายเป็นเผือกร้อนชิ้นใหญ่ที่ไม่ว่าจะอย่างไรรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” คงไม่สามารถระบายได้หมดตามอายุของรัฐบาลแน่นอน!. มนัส แวววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รัฐคลำทางขายข้าว18ล้านตัน ปัญหาใหญ่คนไทยแบกหนี้อ่วม

Posts related