หลากมรสุมรุมซัดเศรษฐกิจไทยส่งท้ายปี โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง หลังกลุ่มมวลมหาประชาชนจำนวนมหาศาลออกมาปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ เพื่อกดดันให้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐบาลรักษาการ ก่อนเดินหน้าปฏิรูปประเทศใหม่ตามข้อเรียกร้อง จนทำให้หลายคนกังวลว่า การประกาศให้มีการเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนก.พ.ปีหน้า อาจเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง คงส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจไทยต้องพังลง!! อย่างแน่นอน เห็นได้จากสายตาของบรรดานักลงทุน ที่ยังไม่แน่ใจกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังกรุ่นไปด้วยความขัดแย้ง เพราะการเมืองไม่นิ่ง จนกระทบต่อการตัดสินใจหอบเงินเข้ามาลงทุนในอนาคต ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่อยากมาเที่ยวไทยเป็นครั้งแรก ก็เริ่มเบนหัวหนีไปเที่ยวยังเพื่อนบ้านแทนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพราะหวั่นว่าจะไม่มีความปลอดภัยหากตัดสินใจมาเที่ยว ต่างชาติเทขายหุ้น ล่าสุดยังมีสัญญาณเตือนอีกอย่างที่ตามมา คือ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเพียงแค่ต้นเดือนธ.ค.จนถึงวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองร้อนระอุ นักลงทุนต่างชาติได้เทขายสุทธิไปแล้วถึง 32,622 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี ถึงเดือนธ.ค. ต่างชาติก็ขายสุทธิกระหน่ำ 185,948 ล้านบาท และมีความเป็นไปได้ว่า สิ้นปีจะแตะที่ 200,000 ล้านบาท ถือว่ามากกว่าช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐ เมื่อปี 51 ที่มีเงินทุนไหลออกไปจากตลาดหุ้นไทยประมาณ 160,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจโลกเข้ามาฉุดอีกระลอก แม้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกเองจะอยู่ในอาการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ประเทศจีน และญี่ปุ่น ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็ได้ข้อยุติเตรียมทยอยลดอัดเม็ดเงินที่ฉีดเข้าสู่ระบบตามมาตรการคิวอีลง ตั้งแต่เดือนม.ค.ปีหน้า จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่ภาวะหดตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำนักวิจัยปรับเป้าหมาย เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เดินหน้าปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 3% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 3.5% เหตุผลหลักก็หนีไม่พ้นสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีการชุมนุมยืดเยื้อในกรุงเทพฯ รายรอบทำเนียบรัฐบาล ส่งผลโดยตรงต่อเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจต้องหายไปมากถึง 30,000–70,000 ล้านบาท ฉุดจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงอีก 0.3-0.5% ลามถึงการบริโภคภายในประเทศต้องลดลงเหลือเพียง 1.9% รวมไปถึงด้านการลงทุนในประเทศขยายตัวเพียงแคบ ๆ แค่ 3.7% เท่านั้น ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มองว่า จีดีพีไทยอาจขยายตัวประมาณ 3.6% เว้นเสียแต่สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ ก็คงฉุดเศรษฐกิจไทยให้ย่ำแย่ลงอีก เพราะบทเรียนจากเหตุการณ์ปะทะกันรุนแรงเมื่อต้นเดือนธ.ค. ก็ทำให้ภาคท่องเที่ยวที่เป็นตัวชูโรงปั๊มรายได้เข้าประเทศเสียหายหนัก ขณะที่ส่งออกยังคาบลูกคาบดอกทำให้ความเชื่อมั่นด้านการบริโภค และการลงทุนหดตัว จึงเชื่อว่าจีดีพีปีนี้จะไม่ถึง 3% ฝั่งสมองประเทศอย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยถึง 4 ด้าน ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐปี 57 และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ โดย 3 เดือนที่เหลือของปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และถ้าการชุมนุมยืดเยื้อ คงสะเทือนต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศรวมถึงนักลงทุนไทยด้วย รายได้รัฐดิ่งเหวหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วตอนนี้ สำหรับผลกระทบต่อภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยคือ การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมหลักของรัฐ ทั้ง กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร อาจพลาดเป้าได้ในปีหน้า หากสถานการณ์ทางการเมืองยังยืดเยื้อ เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุน โดยช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 ทั้ง 3 กรม รีดรายได้เข้ารัฐเพียง 325,530 ล้านบาท ลดจากช่วงปีก่อนถึง 9,100 ล้านบาท ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม ล่าสุดเบิกจ่ายไปเพียง 22.47% เท่านั้น ซึ่งลดลงมากถึง 62,793 ล้านบาท เพราะติดปัญหาเกี่ยวกับระบบ เพราะช่วงดังกล่าวถูกม็อบนกหวีดบุกยึดกระทรวง โครงการเมกะโปรเจคท์สะดุด แม้ว่าตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าประเทศจะเดินไปสู่การจัดการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ได้ตามที่กำหนดไว้ช่วงเดือน ก.พ. จึงอาจส่งผลให้ในช่วงรอยต่อก่อนจะมีรัฐบาลใหม่ โครงการเมกะโปรเจคท์หลายโครงการ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และการลงทุนสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ที่ตั้งความหวังว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องสะดุดตามไปด้วย เพราะเดิมวาดฝันไว้ว่า การลงทุนภาครัฐจะเป็นตัวนำการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากในปีแรกของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากถึง 140,000-160,000 ล้านบาท แผนกระตุ้นเศรษฐกิจแป้ก เดิมทีหลังจากสารพัดม็อบนัดกันออกมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลออกจากตำแหน่ง จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุม และฝ่ายตำรวจเมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค. หลังจากผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงชั่วคืน นายกฯ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็นัดประชุมฝ่ายเศรษฐกิจเพื่อรับทราบผลกระทบภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ โดยหลังจากหารือเสร็จก็สั่งให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจไประดมหัว ทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นใจนักลงทุน รวมถึงส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นการจ้างงาน เพื่อหวังกอบกู้ภาพเศรษฐกิจให้กลับมาทรงตัวได้อีกครั้ง เพราะถ้าไม่ทำคงกระทบกับเศรษฐกิจไทยปีหน้าต้องโตต่ำกว่าเป้าแน่นอน พร้อมสั่งให้ทุกหน่วยงานกระตุ้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานสถานทูตประเทศต่าง ๆ ที่ได้มีการเตือนการเดินทางมาในประเทศไทย แต่…แผนดังกล่าวก็ต้องหยุดชะงักลงคล้อยหลังไปไม่กี่วัน หลังจากนายกฯ ประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทำให้แผนที่คาดว่าจะออกมากระตุ้นต้องถูกแช่แข็ง เพราะถ้ารัฐบาลทำไปก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ สารพันปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในเวลานี้…ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ทิศทางของเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ และไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงอย่างไร ก็ขอภาวนาว่า อย่าให้แย่กว่าที่เป็นอยู่ก็พอ!. ทีมเศรษฐกิจ ………………………………………………… หวั่นนักลงทุนชิ่งหนี “สุรพงษ์ พินิจกลาง” อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า เป็นที่แน่นอนว่าหากสถานการณ์การชุมนุมได้ยืดเยื้อออกไปเรื่อย ๆ จะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยตลอดปีหน้า ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในหลักจิตวิทยาเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอาจตัดสินใจชะลอการลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศมีความชัดเจนก่อน โดยส่วนตัวคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะสามารถหาข้อยุติได้โดยเร็ว สำหรับภาคธุรกิจ มองว่าผู้ประกอบการยังคงเดินหน้า แต่ต้องปรับตัวและป้องกันความเสี่ยงให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคงเป็นงานหนักของฝ่ายต่างประเทศของแต่ละองค์กรที่ต้องอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มธุรกิจชาวต่างชาติกลับมา ขณะที่การป้องกันความเสี่ยง เชื่อว่าแต่ละบริษัทได้เตรียมยุทธศาสตร์และการบริหารภายใต้ผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไป คาดนักท่องเที่ยวไม่โต “สุวัตร สิทธิหล่อ” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า หากสถานการณ์การชุมนุมยังยืดเยื้อไปถึงเดือน มี.ค. ปีหน้า คงส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยตลอดทั้งปีโตเท่าปี 56 คือ ประมาณ 26.1 ล้านคน เท่านั้น ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่เติบโตขึ้นตามที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งน่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่อยากจะเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรก (เฟิสต์ วิสิท) จะมาเที่ยวไทยลดลงไปมากหรืออาจจะไม่มาเลย เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เห็นภาพการชุมนุมผ่านสื่อโทรทัศน์ประเทศต่าง ๆ จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปท่องเที่ยวที่อื่น เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยคือ ตลาดจีนซึ่งปีนี้คาดว่าจะมาท่องเที่ยวไทยเป็นอันดับ 1 ถึงประมาณ 5 ล้านคน แต่เมื่อการเมืองยังวุ่นวายอยู่ คงกระทบกับการท่องเที่ยวช่วงตรุษจีนในเดือน ก.พ. อาจจะลดลงไปด้วย เพราะตั้งแต่มีกฎหมายจีนออกมาเมื่อเดือน ต.ค. นักท่องเที่ยวจีนลดลงไปแล้วประมาณ 300,000 คน และจากเหตุการณ์การชุมนุมก็ลดลงไปอีกประมาณ 100,000 คน จึงทำให้ต้องจับตามองตลาดจีนในไตรมาสแรกอย่างใกล้ชิดว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร ยันดูแลเศรษฐกิจเต็มที่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ยอมรับว่า เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะในช่วงที่กระทรวงการคลังถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อม กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ถูกปิดล้อมไปด้วย ทำให้การเบิกจ่ายมีปัญหาในช่วงสั้น ๆ แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงต้องให้หน่วยงานแต่ละแห่งเร่งรัดการเบิกจ่ายให้กลับมาเดินตามแผนเหมือนเดิม ทั้งนี้ในการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรียังกำชับให้รัฐมนตรีทุกคนดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อส่งมอบงานให้ ครม.ชุดใหม่ด้วยความพร้อม จะไม่มีการใส่เกียร์ว่าง หรือพอจะมีการเลือกตั้งแล้วก็ไม่ให้ความสำคัญกับงานต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ รัฐมนตรีหลายคนแม้จะมีหน้าที่ไปเตรียมการเลือกตั้งแต่ต้องไม่ใช้เวลาราชการและภารกิจต้องไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะหลังจากยุบสภารัฐบาลก็ยังมีหน้าที่ที่จะดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพเพื่อที่จะส่งมอบต่อให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สารพัดปัญหาฉุดเศรษฐกิจไทยสัญญาณเตือนอันตรายส่งท้ายปี
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs