ณ เวลานี้…หากไม่มีอะไรผิดแผน ประเทศไทยจะมีครม.ชุดใหม่อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ก.ย. 57 ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. แม้ว่าหน้าตาของครม.ประยุทธ์ 1 จะถูกขนานนามว่า “ครม.นายพล” ก็ตาม แต่ตามคำมั่นสัญญาของนายกฯ คนใหม่แล้ว ได้ยืนยันชัดเจนที่จะนำพาชาติไทยไปสู่ความสงบ…ไปสู่ความปรองดอง…ไปสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ภายในเวลา 1 ปี 8 เดือน ท่ามกลางปัญหาท่ามกลางขวากหนามสารพัด แต่ก็ต้องดำเนินการเพื่อพลิกฟื้น “ชาติไทย” ให้กลับคืนมาเป็นดินแดนแห่งความสุขสงบ ดินแดนแห่งความงดงาม ให้จงได้ แม้ว่าโฉมหน้าของบรรดา รมว.ใหม่บางคนอาจมาแบบพลิกโผ อาจมาแบบคาดไม่ถึง หรืออาจมาแบบตามคาดก็ตาม แต่ทุกคนก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งกันอย่างเป็นทางการภายในต้นเดือนก.ย.นี้แล้ว ทุกคนต้องเดินหน้าเพื่อพา “ชาติไทย” ไปให้ถึงจุดหมายที่วางไว้ท่ามกลางความฝัน.. ท่ามกลางการรอคอยของคนไทยทั้งประเทศ ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้คสช.ได้เดินหน้าปลดล็อกและแก้ไขปัญหาในหลายมาตรการ เพื่อคืนความสุขให้กับคนในชาติแทบทุกกลุ่ม แต่ปัญหาที่ได้รับการแก้ไขนั้น ยังไม่สะเด็ดน้ำ เพราะในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริงแล้ว ปรากฏว่ายังมีปัญหาหมักหมมที่ต้องแก้ไขอีกมาก ***ชงแผนกู้เศรษฐกิจ งานส่วนใหญ่ที่จัดเป็นงานเร่งด่วน หนีไม่พ้น เรื่องเก่าที่คสช.ได้ทำค้างไว้ จึงต้องมาสานต่อ พร้อมกับปัดฝุ่นโครงการเดิมเน้นสร้างการเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจประเทศ ทิ้งโครงการประชานิยมก่อนแล้ว กลับมาใช้เงินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งในเวลานี้ทุกกระทรวงทุกหน่วยงานต่างเร่งทำแผนเพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่ เริ่มจาก…. กระทรวงการคลัง… กระทรวงเบอร์หนึ่งของประเทศ ซึ่งคงไม่มีอะไรใหญ่ไปกว่าการชง “แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ” ในช่วงที่เหลือของปี ที่ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังกลั่นกรองมาตรการหลากหลาย โดยตั้งเป้าดันเศรษฐกิจให้โตไม่ต่ำกว่า 2% เน้นการจ้างงานและสร้างรายได้ในพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งโครงการให้ซ่อมโรงเรียนและหน่วยงานราชการทั่วประเทศ รวมถึงโครงการลงทุนขนาดเล็ก ๆ ในระดับท้องถิ่นต่าง ๆ ที่สามารถลงทุนได้ทันภายในปีนี้ คาดว่าจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นล้านบาท รวมถึงการขึ้นเงินเดือนข้าราชการเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ขณะเดียวกันยังเตรียมเสนอแนวคิด “เงินโอน แก้จน คนขยัน” ที่เป็นการจ่ายภาษีคนจนให้รัฐบาลนำไปพิจารณาและเห็นชอบ เพราะโครงการดังกล่าวมีรายละเอียดสำคัญ คือ จะจ่ายเงินในลักษณะภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 80,000 บาทต่อปี ตามขั้นบันไดของรายได้ ซึ่งการจ่ายเงินดังกล่าวเพื่อให้คนขยันทำงาน ไม่ใช่รอแต่เงินประชานิยมจากภาครัฐอีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพราะถือเป็นส่วนหลักในแผนโรดแม็พทางเศรษฐกิจ ของคสช. ที่กระทรวงการคลังกำลังเร่งให้มีความชัดเจนก่อนชงให้รัฐบาลใหม่ประกาศเป็นนโยบายต่อไป ***สานต่อโครงสร้างพื้นฐาน  เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม ที่มีงบประมาณในแต่ละปีมหาศาลมากกว่าแสนล้านบาท แถมเป็นศูนย์รวมรัฐวิสาหกิจระดับหัวแถวหลายแห่งด้วย โดยเป้าโฟกัสในคมนาคม ของครม.ประยุทธ์ ส่วนใหญ่เป็นการบ้านเก่าที่ คสช. ทำค้างไว้ จึงต้องมารับไม้ต่อเคลียร์ให้จบ เรื่องแรก ยุทธศาสตร์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมพัฒนาประเทศ ระยะ 8 ปี ซึ่งจะมีทั้งสร้างรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าในเมือง ถนน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง แต่ถึงวันนี้ พูดมา 2 เดือนแล้วแต่ยังเคลียร์กันไม่จบ เคาะตัวเลขงบไม่ลงตัว ว่าจะมีโครงการอะไรเร่งด่วนทำก่อนหลัง และเริ่มสร้างได้เมื่อไร หากเข้ามาปุ๊บ แน่นอน ครม.จะต้องทำโดยไว เพราะประเทศไทยเสียโอกาสมานาน หากยิ่งช้าก็ยิ่งกระทบกับเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางอาเซียน ต่อมาคือ การแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีอาการโคม่า ทั้งการบินไทยที่กำลังขาดทุนเกินปีละหมื่นล้าน มาถึง 2 ปีติดต่อกัน และเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องกว่า 2 หมื่นล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่หมักหมมปัญหามายาวนานหลายสิบปี จนมีหนี้สินรุงรังกว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ขาดทุนสะสมกว่า 9 หมื่นล้าน  บาท ซึ่งล่าสุดแต่ละหน่วยงานกำลังเร่งทำแผนกู้วิกฤติเพื่อรอรายงานซูเปอร์บอร์ด และ ครม.กันอยู่ แต่การปรับปรุงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ เพราะแต่ละหน่วยงานมีหนี้ก้อนโต หากตัดยกหนี้ไปก็กลายเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นจึงต้องคอยจับตาดู เมื่อบิ๊กตู่ ถอดบู๊ตมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว จะชี้นิ้วสั่งการได้เด็ดขาด เหมือนก่อนหรือเปล่า ***ยกเครื่องราคาพลังงาน ด้านกระทรวงพลังงานนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมาราคาพลังงานในประเทศไทย ถูกบิดเบือนหลายประเภท จนทำให้ภาครัฐ และบมจ.ปตท. ต้องแบกรับภาระมายาวนาน ล่าสุด คสช. อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และมีแนวโน้มที่ราคาพลังงานบางตัวต้องปรับราคาขึ้นตามความเป็นจริง เพราะไม่เช่นนั้นหากเข้าสู่เออีซีแล้ว ไทยจะต้องแบกรับภาระจากประชากรประเทศอื่นมารุมทึ้งใช้พลังงานราคาถูก ที่ถูกอุ้มราคาของไทย เช่น ก๊าซแอลพีจี, เอ็นจีวี, ดีเซล จึงต้องจับตาว่า รมว.พลังงานคนใหม่ จะกล้าตัดสินใจปรับขึ้นราคาหรือไม่? เพราะหากปรับขึ้นราคา ก็เท่ากับว่า เป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่ถ้าไม่ปรับราคาพลังงาน ก็จะถูกบิดเบือนต่อไป รัฐก็จะสูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่อง และ ปตท.ก็ต้องแบกรับค่าส่วนต่างของก๊าซแอลพีจี, เอ็นจีวีต่อไป ***พัฒนาเอสเอ็มอี ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องสำคัญคือ ต้องส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียนต่อไป เพราะตอนนี้กำลังจะถูกประเทศอินโดนีเซีย โค่นแชมป์อันดับ 1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อประชาชนไม่มี รวมทั้งไม่ต้องผลิตรถยนต์ในโครงการรถคันแรกแล้ว ซึ่งถือเป็นปัญหาที่น่าหนักใจ เพราะเป็นที่รู้กันว่า ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรกว่า 200 ล้านคน จึงมีความต้องการรถยนต์อีกจำนวนมาก และเป็นประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ของไทยเองก็ยังมีลุ้น เพราะการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ ในอนาคตจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่ง ตามนโยบายของคสช.ที่ผลักดันให้การส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ แม้จะย้ายหน่วยงานสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่กระทรวงก็ยังมีหน้าที่ส่งเสริมเอสเอ็มอี ภายใต้หน่วยงานกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ กสอ. รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน พร้อมรับการเปิดเออีซีต่อไป ***จี้ปลดล็อกอัยการศึก  ภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ต้องพึ่งพาภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว แม้ตอนนี้จะไม่มีภาพความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมืองให้เห็นแล้ว แต่สิ่งที่ยังอยู่ก็คือ กฎอัยการศึก ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญกับการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ เพราะขึ้นชื่อว่า กฎอัยการศึก ในสายตาชาวต่างชาติ ยังเป็นสถานการณ์ที่ยังอันตราย อาจเกิดการมาคุหรือสู้รบกันได้ตลอด นักท่องเที่ยวจึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไปท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ซึ่งนี่คือ ปัญหาหลัก ๆ ที่สำคัญที่จะฉุดรายได้จากการท่องเที่ยวไทย ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องค่อย ๆ ปลดล็อก เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งต้องแก้ปัญหาสะสมคือ ปราบบรรดาผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ทั้ง มาเฟียแท็กซี่ ไกด์เถื่อน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นได้ว่า คนไทยมีความเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ภาพลักษณ์เลยกลายเป็นภาพลบลงทันที ***แก้ปัญหาปากท้อง-กู้ส่งออก หันมาที่กระทรวงพาณิชย์ มีประเด็นสำคัญ คือเร่งแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้าน การส่งออก รักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตร และเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งทุกเรื่องยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องของปากท้อง  ปัญหาคือในช่วงที่ผ่านมาค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวทางการดูแล คงต้องจัดมหกรรมการจำหน่ายสินค้าคุณภาพดีราคาถูกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับจัดตั้งศูนย์ร้องเรียนและสายตรวจเพื่อตรวจสอบราคาสินค้าอย่างเข้มงวดและมาตรการขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า ขณะที่แนวทางการช่วยเหลือการส่งออก เพราะปัจจุบันประสบปัญหาอย่างมากโดยช่วง 7 เดือน ยอดส่งออกยังไม่ฟื้นติดลบไปแล้ว 0.85% ดังนั้นแนวทางที่ต้องเร่งคือการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจต่างประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และการหาช่องทางตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและมีประชากรมาก ทั้งจีน อินเดีย รัสเซีย หรือแม้แต่เอเชียใต้ จากนี้คงต้องมาช่วยกันดูว่า หลาย ๆ งานที่ทุกกระทรวงรอเสนอให้รัฐบาลใหม่ผลักดัน จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไปรอดจนถึงฝั่งฝันตามสัญญาได้จริงหรือไม่! ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สารพัดปัญหารอรัฐบาลสาง พิสูจน์ฝีมือพาชาติไทยถึงฝั่ง

Posts related