ผ่านไปแล้วกว่า 4 เดือน สำหรับปีม้าเดือด! ที่ยังไม่มีใครเห็นอนาคตของประเทศที่ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วจะก้าวเดินไปสู่จุดใดกันแน่ ด้วยพิษการเมือง…ที่เห็นต่างจนเป็นบ่อเกิดของความแตกแยก ได้ส่งผลกระทบกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนชั้นกลาง หรือคนที่มีรายได้น้อย ต้องหนีไม่พ้นเคราะห์กรรมที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อด้วยเหตุนี้… ได้ทำให้บรรดากูรู บรรดานักวิชาการ นักวิเคราะห์ ภาคเอกชน รวมไปถึงคนไทยทั้งประเทศต้องตกอยู่ในอาการอกสั่นขวัญแขวน เพราะถ้าปัญหาการเมืองยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว สุดท้าย… การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะไม่เกิดขึ้นแน่ และอาจเป็นชนวนให้เกิด “วิกฤติ” ขึ้นได้ดังนั้นเพื่อสะท้อนภาพออกมาให้ชัดขึ้น “ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์” จึงได้รวบรวมหลากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ที่แสดงความเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะไปรอดหรือไม่?การเมืองเหมือนรถไฟเริ่มจาก… กูรูเก่าแก่ มากประสบ การณ์อย่าง “ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาเตือนสติและบอกกับสังคมว่า การเมืองก็เป็น การเมือง เหมือนรถไฟพอถึงสถานีก็จอด เมื่อจอดแล้วถึงเวลาก็ไป เป็นเรื่องธรรมดาอย่าไปตื่นเต้น และคาดการณ์อะไรไม่ได้ เพราะการเมืองไม่เหมือนเศรษฐกิจ ที่มีกลไกตลาดสามารถทำให้พยากรณ์ได้ แต่การเมืองพยากรณ์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความคิดของคนไม่เกิน 10 คน ฉะนั้นอย่าไปพยากรณ์ คิดซะว่าเป็นของปกติที่ต้องเกิดขึ้น แล้วอีก 30 ปีก็เกิดขึ้นใหม่ แต่อาจมีผลกระทบฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำบ้าง แต่พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อใดที่รถไฟเคลื่อนออกจากสถานี ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็จะกลับมา แต่คาดว่าเศรษฐกิจรอบนี้อาจไม่เติบโต หรืออาจติดลบได้ ขึ้นอยู่กับการเมืองที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ แต่ยืนยันว่าประเทศจะไม่มีรัฐบาลบริหารไม่ได้นอกจากนี้โลกได้เปลี่ยนไปหมดเป็นโลกาภิวัตน์ ไร้พรมแดน โลกาภิวัตน์ เป็นเหตุให้เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ีไทยเป็นสมาชิกของประชาคมโลก ย่อมหนีไม่พ้นที่ต้องปรับความคิด ปรับวิธีการทำงานใหม่ เพื่อให้แข่งขันได้เศรษฐกิจไทยติดลบ1%ด้านภาควิชาการอย่าง “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีม้าเดือดเช่นเดียวกับกูรูและเอกชน เช่นกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่จะติดลบ 1% มีความเป็นไปได้สูงมาก โดยเป็นการตั้งสมมุติฐานว่า หากในปีนี้ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลและไม่มีการลงทุนของภาครัฐใด ๆ เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบในทันทีอย่างรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวจนไปถึงติดลบได้อย่างแน่นอนแต่ถ้ามองในแง่ดีคือมองว่า หากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองจบเร็ว สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57 นี้ รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐเริ่มดำเนินการได้ ก็จะส่งผลดีทำให้คนไทยทั้งประเทศ ทั้งประชาชน นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว กลับมามีความเชื่อมั่นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ที่ 2.5% ส่วนการส่งออกในเบื้องต้นนั้น คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 4% หลังจากที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลก เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น เปิดประตูสู่รัฐล้มเหลวหันมาที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง ที่ได้เปรียบเปรยสถานการณ์ของเมืองไทยไว้ชัดเจนว่า ในอดีตที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 แต่เรารอดมาได้ เพราะภาคเกษตรกรรมที่ชาวนาไม่ได้รับผลกระทบ มีคำกล่าวว่า ถ้าชาวนาตาย 1 คน พ่อค้าตาย 100 คน เป็นเรื่องจริง เมื่อชาวนาไม่มีรายได้ อำนาจการซื้อทั้งประเทศทรุดหายไปทันที ขณะที่การไม่มีรัฐบาลจริง ๆ การตัดสินใจหลักไม่สามารถทำได้ อำนาจการใช้งบประมาณมีจำกัด ถ้าหากการเมืองเป็นแบบนี้ไม่มีนักธุรกิจคนไหนยอมลงทุนเพิ่ม หรือเข้ามาท่องเที่ยว เห็นได้จากเวลานี้นักธุรกิจญี่ปุ่นมาเมืองไทยก็จะรอที่สนามบินแล้วให้นักธุรกิจไทยไปพบแถวนั้นเป็นเป็นภาพที่น่าห่วงมากสถานการณ์เเบบนี้เรียกว่า เปิดประตูและเดินไปในโซนที่เรียกว่า เฟลด์ สเตท หรือรัฐล้มเหลว ไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังเปิดประตูเดินเข้าไปแล้ว ซึ่งอย่าเดินลึกเข้าไปกว่านี้อีกเลย เพราะเพียงเท่านี้บรรยากาศแบบนี้ คิดหรือว่าจะสามารถปฏิรูปอะไรได้ แทนที่จะปฏิรูปเดินหน้า กลับกลายเป็นการผลักเมืองไทยให้เข้าสู่ ’มุมอับ“ ที่ทำอะไรไม่ได้การเมืองยืดเยื้อฉุดจีดีพีขณะที่อีกหนึ่งกูรูที่สังคมเชื่อมั่น อย่าง “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ในระดับที่ต่ำ หรือประมาณ 3% แต่ถ้าเหตุการณ์การเมืองยังยืดเยื้อไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศอย่างแท้จริง ก็อาจได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่ำกว่า 3% แต่ถ้าโชคดี มีรัฐบาลที่สามารถทำได้เต็มที่จริงจังสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะคลี่คลาย และภาคการส่งออกของไทยแข่งขันได้ดี รวมถึงปัญหาการเมืองหมดไป เศรษฐกิจอาจโต 4-5% ได้ แต่ผลของประชานิยม โครงการรับจำนำข้าว และโครงการรถคันแรก ยังมีอยู่ไปอีกปีนี้ปีหน้า อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่การส่งออกเติบโตได้น้อย จะทำให้ประเทศขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้รายได้ภาษีลดลง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วยการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้การขาดดุลรายได้ของรัฐบาลยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจตามความจำเป็น โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหวังส่งออกช่วยประเทศผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ย่อมทำให้ภาคเอกชนได้รับผลกระทบมากไปด้วย โดยเฉพาะบรรดานักอุตสาหกรรม ซึ่ง “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า เชื่อได้เลยว่าเศรษฐกิจไทยในปีม้าปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 3% แน่นอน เหมือน ๆ กับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาการเมือง ทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว ซึ่งเรื่องนี้ภาคเอกชนมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะในเวลานี้เศรษฐกิจทั่วเอเชีย ต่างขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4-5% ขณะที่เครื่องยนต์เดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในขณะนี้คือเรื่องการส่งออก ที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 2 เชื่อว่า จะดีกว่าในไตรมาสแรก เห็นได้จากการลงทุนเริ่มกลับมาบ้างแล้ว และแนวโน้มการลงทุนต่อไปในอนาคตเริ่มดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลผ่าทางตัน เตรียมตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ชุดใหม่ ทำให้คำขอส่งเสริมการลงทุนที่ค้างรอบอร์ดชุดใหม่อนุมัติกว่า 660,000 ล้านบาท สามารถเริ่มทยอยอนุมัติได้อย่างต่อเนื่องบล.ภัทรเล็งปรับจีดีพีใหม่เช่นเดียวกับความเห็นของ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่เชื่อว่า ในครึ่งปีแรกของปี 57 นี้ เศรษฐกิจไทยมีความสามารถเติบโตได้เพียง 0.6% เท่านั้น ขณะที่ในครึ่งปีแรกก็มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกัน โดย บล.ภัทร เอง เตรียมปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีม้าใหม่ ซึ่งเชื่อว่าอาจต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.8% เพราะว่าไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ทันในช่วงครึ่งแรกของปี หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมาเป็นโมฆะไปไม่เพียงเท่านี้ยังเชื่อว่านายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 หรือนายกฯคนกลาง อาจเกิดขึ้นได้ หลังจากที่กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ผ่านไปแบบเรียบร้อยไม่มีปัญหา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ว. มีสิทธิสามารถเลือกนายกฯ และนำเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งนายกฯ ตามมาตรา 7 ได้ แต่วิธีการเช่นนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับจากในหลาย ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงคู่ขัดแย้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดการคัดค้านและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไปอีก ขณะที่การจัดการรัฐบาลยังล่าช้าออกไป จนทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้แนะดันส่งออกกู้วิกฤติขณะที่ภาครัฐ ที่เป็นเสาหลักด้านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แนะว่า สิ่งสำคัญจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งรัดการส่งออกให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้จากตลาดหลัก และตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนการปรับตัวของภาคการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค โดยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งผ่านชายแดน รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการไปเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่แค่เพียงเท่านี้ ภาครัฐจำเป็นต้องกำกับดูแลแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เตรียมความพร้อมแผนงาน และโครงการที่จะต้องพิจารณาให้ ครม.ชุดใหม่ดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินต้องเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มีความผันผวนจนเกินไป และการดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจหวั่นแรงงานเตะฝุ่นพรึ่บหันมาที่ทีดีอาร์ไอ หรือสถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ที่ “ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ มองว่า ตามหลักการแล้ว หากเศรษฐกิจไทยเติบโต ได้ต่ำกว่า 4% อาจส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1% จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 0.7-0.8% ดังนั้น หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ไปอีก 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลกระทบของภาคแรงงาน จะปรากฏชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตที่อ่อนไหว คือ อุตสาหกรรมและภาคบริการ ที่เป็นแหล่งดูดซับแรงงานแบบเข้มข้นหลายสาขาปัญหาที่น่าวิตก และคาดว่าปรากฏได้ชัดเจนในครึ่งปีหลังของปีนี้ และปีถัดไป คือ ผลกระทบจากปัจจัยการเมืองที่ทำให้นักลงทุนชะลอหรือตัดสินใจไม่ลงทุนใหม่ หรือย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น ซึ่งมีผลกระทบกับแรงงานมากพอสมควร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรองรับแรงงานมากกว่า 300,000-400,000 คนคลังลุ้นมีรัฐบาลใหม่แม้สภาพัฒน์ได้แนะนำให้เร่งรัดในเรื่องของการส่งออก แต่อีกหนึ่งเสาหลักเศรษฐกิจอย่าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. โดย “สมชัย สัจจพงษ์” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. บอกว่า สศค.ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเหลือเพียง 2.6% แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขหลักคือ ต้องมีรัฐบาลใหม่ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพราะมองว่าการบริโภคในประเทศในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 56 กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เห็นได้จากข้อมูลทางเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวหมด โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่กลับมาหดตัวถึง 2.4% ในรอบ 2 เดือนที่สำคัญหากรัฐบาลจัดตั้งได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้เศรษฐกิจในปีม้านี้ยิ่งเตี้ยต่ำลงไปมากกว่า 2.6% เข้าไปอีก โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐ ที่มีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิมหวังปีหน้าเข้าสู่สภาวะปกติด้าน “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ธปท.ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจลงเช่นกัน โดยเหลือเพียง 2.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3% เนื่องจากการชะลอลงของอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลงชัดเจนในครึ่งปีแรก โดย ธปท.มองว่าหากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายภายในกลางปีนี้ จะช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวได้ดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในปี 58 ที่มองว่าอาจขยายตัวได้ 4.8% สำหรับแรงกระตุ้นทางการคลังขณะนี้ยังทำได้จำกัด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาล คาดว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 57 อยู่ที่ 90.5%ทั้งหมด…เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งของบรรดากูรูภาคเอกชน นักวิชาการ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย แต่การคาดเดาการคาดการณ์ จะถูกต้องหรือไม่ คงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ส่องความเห็น10กูรูเศรษฐกิจ การเมือง!เหตุใหญ่ฉุดไทยวูบ

Posts related