นับเวลาถอยหลังอีกไม่นาน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จะเริ่มต้นขึ้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องของการค้าการลงทุน เพราะอุปสรรคมากมายที่เคยเป็นเหมือนกุญแจปิดตายในแต่ละประเทศ เตรียมที่จะไขออก เพื่อเปิดประตูของการค้าให้เป็นเสรีให้มีความสะดวกมากขึ้น ยิ่งถ้ามองถึงช่องทางการดำเนินธุรกิจแล้ว อาเซียนถือเป็นตลาดใหญ่ที่กำลังเนื้อหอม ขณะเดียวกันยังเป็นเรื่องท้าทายให้ผู้ประกอบการไทยใช้โอกาสนี้สร้างรายได้โกยเงินเข้ากระเป๋า “ดร.เฉลิมชัย ผู้พัฒน์” อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกในรายการ “เศรษฐกิจติดจอ” ทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ว่า ไทยโชคดีที่มีทรัพยากรหลากหลาย โดยเฉพาะอาหาร ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารก็มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งภาพรวมของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดใหญ่เออีซีในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยหลายรายได้เตรียมความพร้อมไปมากแล้ว บางรายเริ่มไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เปิดร้านอาหาร หรือขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยเริ่มใช้ประโยชน์จากการค้าที่เปิดอย่างเสรี ปัจจุบันการทำการค้าการลงทุนในอาเซียน แม้ยังไม่ได้เปิดให้เสรีในทุกธุรกิจ โดยนำร่องเพียง 12 ประเภทธุรกิจ ใน 7 ประเทศเท่านั้น แต่มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตคงมีข้อตกลงเปิดเสรีในธุรกิจอื่นเพิ่มขึ้น สำหรับ 12 ประเภท ใน 7 ประเทศ ประกอบด้วยอินโดนีเซีย ที่เปิดเสรียานยนต์และผลิตภัณฑ์ไม้ ขณะที่มาเลเซีย เปิดเสรีผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม เปิดเสรีด้านโลจิสติกส์ ส่วนฟิลิปปินส์ เปิดเสรีด้านอิเล็กทรอนิกส์ สิงคโปร์ เปิดเสรีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านประเทศพม่า เปิดเสรีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการประมง สำหรับไทยเองได้เปิดให้นักลงทุนจากอาเซียนเข้ามาลงทุนใน 2 สาขา คือ ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการบิน โดยด้านท่องเที่ยวในเวลานี้ได้กลายเป็นพระเอกในการสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงไปถึงธุรกิจโรงแรม และการบริการอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพราะสถานที่ท่องเที่ยวของไทย มีชื่อเสียงโด่งดัง คุ้นหูไปทั่วโลก ขณะที่ธุรกิจการบิน ที่จะเห็นได้ว่าขณะนี้ไทยมีผู้ประกอบการด้านการบินหลายราย มีสายการบินใหม่ ๆ ทำการบินมาที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนสาขาอื่น ๆ นั้น แต่ละประเทศยังอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมของธุรกิจที่สามารถเปิดให้มาลงทุนได้… ดังนั้น…สิ่งที่ผู้ประกอบการทุกราย! ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม จำเป็นต้องเตรียมพร้อม เพราะเมื่อใดที่มีการเปิดเสรีในธุรกิจนั้นจะได้รองรับได้ทันและทำให้เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นอกจากเรื่องราวของเออีซี แล้ว ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ตกลงร่วมกันในการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 35 โดยมีข้อตกลงที่สำคัญ 5 ด้าน คือด้านการค้า ที่มีการกำหนดให้ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ทางการค้าระหว่างประเทศต่อกัน สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานอย่างเสรี ต่อมาคือ ด้านการเงินการคลัง ได้กำหนดให้มีนโยบายการเงินการคลังร่วมกัน และเปิดเสรี ใช้เงินสกุลเดียวกัน รวมทั้งมีข้อตกลงด้านภาษีอากรให้เป็น 0% ด้านศุลกากร กำหนดให้มีสหภาพศุลกากร ลดขั้นตอนปล่อยสินค้าให้คล่องตัวขึ้น และสุดท้ายเป็นด้านกฎหมาย แรงงาน และการเมือง ที่ต้องสอดคล้องกัน ดร.เฉลิมชัย บอกว่า ขณะนี้โอกาสของผู้ประกอบการไทยมีมาก ไม่ว่ารายใหญ่ หรือรายเล็ก ซึ่งรายใหญ่คงไม่มีปัญหาแต่หากเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีจำนวนมาก นอกจากการเตรียมความพร้อมด้วยตัวเองแล้ว ภาครัฐเองต้องเข้ามาเอาใจใส่ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะควรตั้งสถาบันที่เป็นศูนย์กลางชี้แจงข้อมูลการทำธุรกิจในอาเซียน เป็นศูนย์ที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ คือ มีตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทุกสาขาเข้ามาให้ข้อมูล และสามารถตอบข้อสงสัยได้ทุกเรื่อง ท้ายที่สุดดร.เฉลิมชัย ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ไทยสามารถก้าวสู้กับตลาดอาเซียนได้แน่นอน แต่ขอให้เริ่มจากจุดเล็ก ๆ หรือเล่นกับมวยรุ่นเดียวกันไปก่อน เช่น ในธุรกิจท่องเที่ยวของไทย เป็นธุรกิจที่ได้เปรียบ และไม่แพ้ใคร มีวิธีที่จะทำให้ธุรกิจยืนอยู่ได้ คือ ต้องพยายามรุกให้มาก ใครที่มีธุรกิจโรงแรมอยู่แล้วก็ขอให้บุกเข้าไปทำธุรกิจเลย หรือประเภทสินค้าสุขภาพ ก็ขอให้บุกไปประเทศอื่นได้ หรือถ้าเป็นอาหารไทย ก็มีช่องทางหลากหลาย ซึ่งได้รับข้อมูลจากสถานทูตกัมพูชา ว่าคนกัมพูชา ชอบรับประทานอาหารไทยมาก แต่มีร้านอาหารไทยไปเปิดน้อย โดยเฉพาะมื้อเช้าคนที่กัมพูชาชอบทานก๋วยเตี๋ยว เรื่องราวเหล่านี้…หากผู้ประกอบการไทย หันมาให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง ก็จะเห็นโอกาสอันงามที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า !. วสวัตติ์ โอดทวี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ส่องโอกาสการค้าการลงทุนในอาเซียน – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related