น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)  เปิดเผยว่า  ในช่วงครึ่งหลัง(ก.ค..-ธ.ค.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งแรกของปี(ม.ค.-มิ.ย.)  เป็นผลมาจากการส่งออกของไทยจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ส่งออกขยายตัวถึง 9%  ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมบางสาขาปรับตัวดีขึ้น ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมาไทยนั้นยังขยายตัวดี ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านและจีน  นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยเริ่มดีขึ้นคาดว่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนต่อเดือนจึงประเมินว่าจีดีพีปนี้จะโตประมาณ 3.5%  สำหรับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากเงินทุนไหลออก  โดยที่ผ่านมาอ่อนค่าลงแล้วกว่า 12%  และทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ    “ ไตรมาส 1  เศรษฐกิจลงแรง โดยติดลบ 1.4%   แต่จะกลับมามีเสถียรภาพในไตรมาส 2   คาดว่าจะโต 1.7%  และไตรมาส 3 จะขยายตัว  2.8% และไตรมาส 4  ขยายตัว 3.6%  แม้ว่าไทยจะอยู่ในภาวะสุญญากาศทางการเมือง และยังไม่เห็นสัญญาณคลี่คลายลงได้ในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้การลงทุนภาครัฐล่าช้าออกไป  ซึ่งเชื่อว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในไตรมาส 3 และใช้งบประมาณปกติในปี 58 กระตุ้นเศรษฐกิจได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้าหรือสิ้นสุดในเดือนมี.ค.58  โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาการชะงักงันด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ”   สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ คาดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ต่อเนื่องถึงสิ้นปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่า 2% และประชาชนยังมีความกังวลปัญหาการเมือง  ซึ่งเห็นว่าหากลดดอกเบี้ยลงก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รายงานข่าวจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทยแจ้งว่า    กนง.จะตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินไปอีกระยะหนึ่งภายหลังการเมืองมีสัญญาณคลี่คลาย คล้ายกับธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่เลือกคงดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัว  โดยครึ่งหลังของปี 58  ปัจจัยที่กดดันให้นโยบายการเงินของไทย   เช่น   เงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลก และที่สำคัญที่สุดคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์ ส่งผลให้สภาวะสภาพคล่องทั่วโลกกลับสู่แนวโน้มตึงตัว และถ้า กนง. ลดดอกเบี้ยจะสร้างความเสี่ยงเงินเฟ้อในประเทศอาจทะลุกรอบนโยบาย และทำให้เงินทุนข้ามชาติไหลออกจากไทย ซึ่งส่งผลกระทบเสถียรภาพในตลาดการเงิน  และสร้างผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทยด้วย   

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หวังบประมาณปี58กระตุ้นศก.ต่ออีก6เดือน

Posts related