อีกประมาณปีเศษ ๆ  การรวมตัวของ 10 ชาติอาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จะมีผลอย่างเป็นทางการ ทำให้ภาครัฐและบรรดาผู้ประกอบการของ 10 ชาติ ต่างเร่งหามาตรการเสริมสร้างศักยภาพให้กับทุกอาชีพ เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งประชากร ทั้งภาคธุรกิจ ต้องเสียเปรียบ จากการไหลเข้ามาของสินค้าและบริการ รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานฝีมืออย่างเสรี  สำหรับ…ไทย! ต้องยอมรับว่าในส่วนของภาคธุรกิจมีทั้งที่เตรียมความพร้อม จนได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านในหลาย ๆ กลุ่ม รวมถึงหลายกลุ่มเองก็ยังไม่มีความพร้อมมากนักจนเกิดความเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน จุดแข็งในภาพรวมของประเทศไทยที่ไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศไทยมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือที่ดีเยี่ยมเป็นที่ยอมรับของวงการทั่วโลก,  มีวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และมีผลผลิตที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา อ้อย ผักและผลไม้สด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีที่ตั้งเหมาะสมทั้งในด้าน การเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการขนส่งและการลงทุนในการตั้งฐานการผลิตของต่างชาติเพื่อกระจายสินค้าไปประเทศต่าง ๆ รวมทั้งมีระบบการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก และทางอากาศครอบคลุม ทั้งนี้พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบมากขึ้นจากจุดเด่นของประเทศไทย เช่น  ยานยนต์และส่วนประกอบ, พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก, หนังดิบและหนังฟอก, เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ, พรมและสิ่งทอปูพื้นต่าง ๆ เส้นใยสั้นประดิษฐ์ และฝ้าย เป็นต้น    สินค้าไทยเสียเปรียบเพียบ ส่วนจุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านก็มีน้อยเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตของไทยยังมีประสิทธิภาพต่ำ, การขาดแคลนแรงงานจากค่านิยมเกี่ยวกับการทำงาน และการเรียนที่ผิด ๆ โดยให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์มากกว่าการนำไปใช้จริง, การกระจุกตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการอพยพแรงงานเข้ามาหางานทำใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออก, อุตสาหกรรมหลักของประเทศยังต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ และสินค้าอุตสาหกรรมยังมีการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากภาคการเกษตรไม่มากนัก แม้ว่าภาคการเกษตรจะมีความสำคัญกับประเทศมาอย่างช้านาน อุตสาหกรรมที่น่าห่วงของไทยมีไม่ต่ำกว่า 30 กลุ่ม ที่จัดว่ามีความเสี่ยงหรือยังมีอาการป่วยหลังเปิดเออีซี ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยที่จัดอยู่ในประเภทป่วย แยกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันลดลงกับประเทศในอาเซียน เช่น เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา กระดาษและกระดาษแข็ง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องจักร เครื่องกล เป็นต้น กลุ่มป่วยที่ 2 เป็นกลุ่มที่อยู่ในอาการกำเริบ หรือมีความสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เฟอร์นิเจอร์ หนังเฟอร์หรือเฟอร์เทียม  ผ้าทอ เส้นใยสิ่งทอจากพืชและด้ายกระดาษ เป็นต้น กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ป่วยหนัก หรือจัดอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสียเปรียบมากขึ้น ตรงนี้มีทั้งสิ้น 14 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เชื้อเพลิงจากแร่และน้ำมันแร่,  ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม, ปุ๋ย, เครื่องหนัง, เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด, ไข่มุกธรรมชาติและรัตนชาติ,  ทองแดงและของทำด้วยทองแดง, นิกเกิลและของที่ทาด้วยนิกเกิล, รองเท้าและเครื่องดนตรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐและสมาคมธุรกิจต่าง ๆ ได้มีการรวมตัวในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบคู่แข่งมากนัก ทั้งด้านการเพิ่มความรู้  การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การทำตลาด การเพิ่มคุณภาพสินค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้า การพัฒนาองค์กร และการไปปักธงตลาดในประเทศเพื่อนบ้านล่วงหน้า เป็นต้น เพราะหากไม่ตื่นตัวในการเตรียมพร้อมเชื่อว่าจะมีสินค้าหลายประเภทเพื่อนบ้านไทยมีแนวโน้มทะลักเข้ามายึดตลาดในไทยได้ ห่วงสินค้าเพื่อนบ้านทะลัก ด้านผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ก็ได้แสดงความวิตกกังวลต่อการไหลเข้ามาของผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในเออีซีว่า เมื่อเปิดเสรีแล้ว กำแพงภาษีที่หายไปจะดึงดูดให้ต่างชาติกระจายตัวออกไปยังประเทศที่มองว่ามีโอกาส ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก ทั้งนี้คู่แข่งที่น่ากลัว คือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคนี้ ที่มีประสบการณ์กว่า 10 ปี ในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เพราะเป็นฮับการผลิตของต่างประเทศ ทำให้มีข้อได้เปรียบทั้งความรู้ในการพัฒนาสินค้า เครื่องจักรที่ทันสมัย รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำ โดยของกินและของใช้ จะเป็นสินค้าที่จะถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งจุดแข็งของสินค้าเหล่านี้คือ “สินค้าคุณภาพในราคาที่ถูกกว่า” ด้วยส่วนต่างเกือบ 10 เท่า  “สาเหตุที่สองประเทศนี้จะเป็นม้ามืดที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งเค้กในตลาดไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเขาให้การสนับสนุนการลงทุนเต็มที่ ทำให้การดำเนินธุรกิจของต่างชาติราบรื่น นักลงทุนก็อยากเข้าไปตั้งบริษัท เขาจึงสั่งสมความรู้และเตรียมจะเดินหน้าเป็นผู้ผลิตและรุกตลาดเองในอนาคต” “บุญชัย” ยังมองว่า ตอนนี้สิ่งที่ไทยมีคือบุญเก่า หรือความรู้เดิมตั้งแต่อดีต แต่หากไทยต้องการเพิ่มขีดการแข่งขัน สิ่งสำคัญต้องแก้ไขจุดอ่อนเรื่องต้นทุนสินค้าที่สูงลิ่ว ให้ลงมาแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แต่ด้วยต้นทุนแรงงานของค่าจ้างขั้นต่ำไทย ไม่ได้ต่ำเหมือนชื่อ ดังนั้นจึงต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยี มาแทนที่แรงงานคน นอกจากจะส่งเสริมกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นแล้ว เครื่องจักรก็สามารถทดแทนแรงงานคนได้มากกว่า ขณะเดียวกันยังควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานที่ดี พร้อมรับการแข่งขัน ต่างชาติทยอยรุกตลาดไทย ขณะเดียวกันยังพบว่าธุรกิจต่างชาติหลายประเภท ได้เข้ามาเปิดตลาดในไทยล่วงหน้าแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะ ธุรกิจอาหาร เริ่มต้นจากศูนย์อาหารประเภท ฟู้ดรีพับลิค, โทสบ็อกซ์, เบรดทอล์ก และร้านอาหารจีน “ติ่น ไท่ ฟง” จากสิงคโปร์บุกเข้ามาปักธงที่ไทยและยังเตรียมขยายสาขาร้านอาหารทั้ง 4 แบรนด์ อย่างต่อเนื่องเดือนละ 1 สาขา ตลอด  5 ปี  มีร้านอาหารแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดในไทยอีกหนึ่งแบรนด์ด้วย “หากพิจารณาให้ดียังมีร้านอาหารอีกหลายแบรนด์ที่เข้ามาในไทย และเตรียมตัวจะเข้ามาอีกมากมาย เพราะโอกาสมากมาย ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรชะล่าใจ และเตรียมตั้งรับให้ดี เพราะหากช้าไป กว่าจะรู้ตัวอีกที อาจสายเกินไป” ขณะเดียวกันแรงงานก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เดินหน้าไปได้ ซึ่งปัจจุบันก็พบว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้เริ่มทยอยเข้ามาบ้างแล้ว แต่จะมาในลักษณะกลุ่มผู้ใช้แรงงานเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเปิดเออีซีแล้ว ภาคธุรกิจต่าง ๆ จะเริ่มขยายตัว แน่นอนว่าความต้องการทรัพยากรบุคคล ต้องขยับควบคู่กันไปด้วย แรงงานต่างด้าวรอทะลัก “กมล ตรรกบุตร” นายกสภาวิศวกร  มองว่าวิศวกรฟิลิปปินส์ เขมร พม่าทะลักไทย เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในประเทศเหล่านี้ยังมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับไทย หรือประมาณ  9,000-10,000 ต่อเดือนเท่านั้น จึงเป็นเหตุจูงใจให้ชาวต่างชาติกลุ่มนี้แห่กันเข้ามาแย่งงานคนไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการชาวไทยก็เริ่มหันใช้บริการวิศวกรต่างด้าวมากขึ้น และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดเออีซีในอีกไม่นาน เพราะวิศวกรต่างด้าวเหล่านี้จะเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างถูกต้อง และที่สำคัญยังสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดีด้วย “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” ประธานอนุกรรมการด้านการต่างประเทศสภาสถาปนิก เล่าว่า วงการสถาปนิกในขณะนี้ ทุกคนกำลังกังวลว่านักธุรกิจสิงคโปร์จะแย่งชิงสถาปนิกมือดีของไทยไป จากเดิมที่เป็นการดึงตัวให้ไปร่วมงานกันที่สิงคโปร์ แต่เดี๋ยวนี้ถึงขนาดเข้ามาตั้งบริษัทในไทย และดึงตัวคนไทยเข้าไปทำงานแล้ว  “เวลาพูดถึงอาเซียน คนมักจะคิดถึงแต่การออกไปข้างนอก แต่เวลานี้ไทยเนื้อหอม ด้วยค่าครองชีพที่ต่ำกว่า จึงกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจและเอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดในอาเซียน” นอกจากนี้บริษัทสิงคโปร์ยังมีจุดแข็งในด้านเงินทุน จึงจูงใจสถาปนิกจบใหม่และซื้อตัวสถาปนิกไทยที่มีประสบการณ์สูงได้ง่าย ๆ  ส่งผลให้การแข่งขันชิงตัวบุคลากรและการแข่งขันรับงานในประเทศจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในภาพรวมแม้ว่าหลายฝ่ายกังวลถึงธุรกิจบางประเภทและสินค้าเกษตรในบางชนิด จะมีความเสี่ยงแล้วหลังเปิดเออีซี แต่ยังมีเรื่องของปัญหาสินค้าราคาถูกเข้ามาตีตลาดในเมืองไทย อย่าลืมว่าเพื่อนบ้านไทยมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าไทยมากและเมื่อไม่มีภาษีนำเข้าจะยิ่งทำให้สินค้ามีราคาถูกแสนถูกได้ ซึ่งหากมีคุณภาพ ถือว่าโชคดีสำหรับผู้บริโภคคนไทย แต่หากเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาถูก ได้เข้ามาวางจำหน่ายในไทยมาก ๆ  ผลที่ตามมา นอกจากจะมีการแย่งตลาดสินค้าของคนไทยโดยเฉพาะสินค้าโอทอปและสินค้าของโรงงานเอสเอ็มอีแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการเพิ่มมาตรการในการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ พร้อมทั้งมีมาตรการให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการใช้ การบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ คุมคุณภาพสินค้าเพื่อนบ้าน สำหรับมาตรการการรองรับสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านที่จะไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานหลักอย่าง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ต้องเข้ามาดูแล เพื่อปกป้องในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยให้กับคนไทย เพราะมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งผู้บริโภคอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลให้เกิดอันตรายในด้านทรัพย์สิน หรือชีวิตได้ ล่าสุดในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทาง สมอ. จึงได้ปรับโครงสร้างการทำงานใหญ่ในรอบ 20 ปี เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าของโลก โดย “อุฤทธิ์ ศรีหนองโตคร” เลขาธิการ สมอ.ระบุว่า สมอ. มีความเป็นห่วงสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของประเทศเพื่อนบ้าน จะไหลเข้ามาไทย แล้วอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนไทยได้ จึงได้ปรับโครงสร้างใหม่ แบ่งเป็น 5 กอง ประกอบด้วย กองกำหนดมาตรฐาน มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทุกประเภทโดยใช้หรือรับมาตรฐานระหว่างประเทศมาเป็นแนวทาง เพื่อยกระดับมาตรฐานไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล ทั้งมาตรฐานไอเอสโอ มาตรฐานไออีซี และระเบียบยูเอ็นอีซีอี ต่อมาเป็นกองควบคุมมาตรฐาน เป็นหน่วยตรวจสอบรับรองและออกใบอนุญาตผลิต นำเข้า และแสดงเครื่องหมาย มอก. สำหรับผลิตภัณฑ์ทุกประเภท รวมทั้งการพิจารณายอมรับผลการรับรองและผลการทดสอบที่ดำเนินการในต่างประเทศมาใช้ออกใบอนุญาตด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดต้นทุนและเวลาของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า นอกจากนี้ยังมีกองตรวจการมาตรฐาน แบ่งออกเป็น 3 กองคือ กองตรวจการมาตรฐาน 1, กองตรวจการมาตรฐาน 2 และกองตรวจการมาตรฐาน 3 ซึ่งจะแยกตรวจสอบสินค้าแต่ละประเภท เช่น เหล็ก อุปกรณ์ก่อสร้าง หมวกกันน็อก เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องกรองน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งในส่วนของกองตรวจการฯ จะมีความสำคัญในการออกตรวจสอบตามโรงงานต่าง ๆ ให้มีความถี่มากขึ้น ต่างจากที่ผ่านมาที่กองตรวจการมาตรฐาน และกำหนดมาตรฐาน จะอยู่รวมกัน ทำให้การตรวจสอบมาตรฐาน ไม่เข้มข้นเท่าที่ควร เข้มงวดตรวจมาตรฐานสินค้า ทั้งนี้ในระยะต่อไป ทาง สมอ. จะมีความเข้มข้นในการตรวจสอบสินค้าทุกประเภท ที่ต้องมีมาตรฐานบังคับ จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทั้งในส่วนของโรงงานที่ผลิตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้นำเข้าสินค้าของไทยนำมาจำหน่ายให้มากขึ้น รวมทั้งจะตรวจสอบบริษัทผู้นำเข้าสินค้าต่าง ๆ ที่ต้องได้มาตรฐาน มอก. ด้วยว่า นำสินค้ามาจำหน่ายเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่  ถือว่า เป็นการดูแลสินค้าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง เพื่อให้ปลายทางคือ ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีมาตรฐานมากที่สุด หากพบว่า โรงงาน หรือร้านค้าใด จำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ต้องถูกลงโทษอย่างเข้มงวด ทั้งการถูกเพิกถอนใบอนุญาต ถูกปรับ หรือสูงสุดคือจำคุก นอกจากนี้จะมีการออกมาตรฐานบังคับสินค้าต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของประชาชนให้มากขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการดูแลให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัย และสินค้าที่มีคุณภาพอย่างสูงสุด ต้องติดตามจากนี้คือสินค้าราคาถูก ๆ ที่จะไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทย หากเป็นสินค้าด้อยคุณภาพอย่างน้อยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและกีดกันได้ แต่หากเป็นสินค้าดีราคาถูกเข้าตีตลาด คงน่าห่วงมากสำหรับผู้ประกอบการไทยที่อาจตายยกเข่งได้!. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ห่วงสินค้าเออีซีทะลักเข้าไทย ทำธุรกิจไม่พร้อมเข้าขั้นโคม่า

Posts related