การเปิดเสรีการค้า การลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาเพื่อช่วงชิงโอกาสในการเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ เพราะหาก “คิดก่อน ทำก่อน ย่อมได้เปรียบ” โดยเฉพาะเมื่อทำแล้วประสบความสำเร็จ ยิ่งตอกย้ำการแข่งขันที่มีความได้เปรียบคู่แข่ง เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยมีการแข่งขันสูง นอกเหนือจากเงินทุนแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ “ระบบการบริหารจัดการที่ดี” ณ เวลานี้ต้องยอมรับว่าบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เจ้าของแฟรนไชส์ ร้านสะดวกซื้อ (คอนวีเนี่ยน สโตร์) “เซเว่น อีเลฟเว่น” ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท เซาท์แลนด์ ไอซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ซีพีฯ นำมาเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2532 แล้วแตกสาขากระทั่งปัจจุบันมีสาขากว่า 7,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีอัตราส่วนของผู้ซื้อแฟรนไชส์ถึง 55% อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทฯจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ ช่วงชิงลูกค้า และส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีก ล่าสุด นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ฯ จึงนำสื่อมวลชนร่วมดูงานด้านบริหารธุรกิจค้าปลีก ที่กรุงโตเกียว และเมืองนิกโก้ ประเทศญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีก พร้อมกับสำรวจย่านการค้าใจกลางกรุงโตเกียว ทั้งถนนชินจูกุ, ย่านอาซากุสะ และย่านรปปงงิ ซึ่งเป็นศูนย์รวมร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เกต ขายสินค้านานาชนิดของทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ โดยแต่ละร้านต่างงัดกลยุทธ์ทั้งลด แลก แจก แถม มาจูงใจลูกค้ากันสุดฤทธิ์ โดย นายคัตสึฮิโกะ อิเคดะ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกชาวญี่ปุ่น ซึ่งคลุกคลีในวงการธุรกิจค้าปลีกมากว่า 40 ปีกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศซบเซา กระทั่งนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ประกาศนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก ต่างต้องปรับกลยุทธ์และนโยบายเพื่อความอยู่รอด และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันตัวเลขผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี คิดเป็น 22% ของจำนวนประชากร และมียอดการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสูงถึง 45% ทั้งนี้บริษัท เซเว่น แอนด์ ไอ ซึ่งเป็นบริษัทฯแม่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท เซาท์แลนด์ ไอซ์ ซึ่งต้องรับผิดชอบในการบริหารงาน ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เจแปน ถึง 1,600 สาขาทั่วญี่ปุ่น จึงใช้นโยบาย “ไอเท็ม บาย ไอเท็ม” หรือการบริหารแบบหน่วยต่อหน่วย คือให้แฟรนไชส์ซี่แต่ละแห่งกำหนดนโยบายของตัวเอง ด้วยการสำรวจความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ โดยมีจุดขายอยู่ที่ความสะดวกสบาย และรวดเร็วเป็นหลัก เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา และตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องการความเรียบง่าย โดยใช้สินค้าที่พัฒนาขึ้นเอง และสินค้าพรีเมี่ยม 60% อีก 40%เป็นสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งนโยบายนี้ช่วยกระตุ้นยอดขายให้ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เจแปน มียอดขายคิดเป็น 38% ของมูลค่ารวมในภาคธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียง 10 ล้านล้านเยน ด้าน นายสุวิทย์ กล่าวว่า การเดินทางมาสำรวจการบริหารร้านธุรกิจค้าปลีกครั้งนี้ เพื่อศึกษานโยบายในการปรับตัวของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เจแปน ว่าใช้วิธีใดในการปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น และตอบสนองความต้องการของลูกค้า จนก้าวขึ้นสู่ความเป็นเบอร์หนึ่ง ในวงการธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่น รวมทั้งเพื่อนำไปวิเคราะห์และปรับใช้กับร้านค้าที่มีอยู่และกำลังจะเปิดตัวขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานอกจากบริษัทฯ จะนำแนวคิดการบริหารแบบ “ไอเท็ม บาย ไอเท็ม” มาปรับใช้โดยเน้นให้ความสำคัญแก่สินค้าที่วางขาย ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ปัจจุบันสินค้าและบริการในร้าน 73% เป็นสินค้าบริโภค 10% เป็นการบริการ ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าอุปโภค ซึ่งมองว่าแนวโน้มในการขยายสาขายังเติบโตได้อีก ขึ้นอยู่กับทำเล อย่างไรก็ตามบริษัทได้ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นปีละ 500 สาขา คาดว่าสิ้นปี 56 จะเพิ่มเป็น 7,500 สาขา นอกจากนี้ยังมีนโยบายปลูกจิตสำนึกให้ลูกค้าและพนักงาน ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับหน่วยงานราชการ และพันธมิตร ภายใต้โครงการ 7 โก กรีน แบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 ระยะ คือ 1. ลดการใช้ถุงพลาสติก 2. ร้านประหยัดพลังงาน 3. กรีน โลจิสติกส์ และ 4. กรีน โปรดักส์ หรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการทำธุรกิจค้าปลีก และร้านค้าสะดวกซื้อ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรง จำเป็นต้องมีสินค้าจำเป็นที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในราคายุติธรรม ระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การนำระบบโลจิสติกส์เข้ามาใช้ และการนำนวัตกรรมการทำธุรกิจค้าปลีกใหม่ ๆ ตลอดเวลา. มานะ กัญจนะวโรดม
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เจาะกลยุทธ์บริหารร้าน 7-11แดนซากุระ
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs