ในปี 56 นับเป็นปีที่หลายหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก สถาบันการเงิน นักลงทุน ได้มีโอกาสฝึกวิทยายุทธ์ หรือฝึกฝีมือในการบริหารธุรกิจและกิจการอย่างเต็มที่ เพราะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ามาทดสอบมากมาย เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ (คิวอี 3) ที่ทำให้เงินไหลบ่าเข้ามาแสวงหากำไรจากอาเซียน รวมถึงไทยส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 28.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากต้นปีที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จนผู้ส่งออกถึงกับส่ายหน้าไปตาม ๆ กัน ช่วงนั้นสิ่งที่ทางการ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำได้ดีที่สุดคือ การดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนจนกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ และให้สถาบันการเงินแนะนำให้ผู้ประกอบการนักลงทุนซื้อขายดอลลาร์ล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) รวมไปถึงการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงทำให้ผู้ประกอบการสามารถประคองตัวเองไปได้ในช่วงสั้น ๆ หลังจากนั้นในช่วงกลางปีเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว สะท้อนจากตัวเลขการจ้างงานภาคเกษตร และนอกภาคเกษตรดูดีขึ้น จึงเป็นแรงส่งให้ “เบน เบอร์นันเก้” ประธานเฟด เริ่มออกมาส่งสัญญาณจะชะลอคิวอี 3 ในยกแรกปลายปีนี้ และยกเลิกทั้งหมดในกลางปี 57 ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มหวั่นวิตก และถอนเงินออกจากตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรในภูมิภาคเอเชียและไทยอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าเงินบาทกลับทิศทางทันทีจากแข็งค่าที่ 28.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนลงถึง 3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงเวลานั้นไม่มีใครออกมาคาดการณ์ได้ว่าสุดท้ายค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางใด ในมุมมองของนายแบงก์ อย่าง ’ตรรก บุนนาค” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านบริหารการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้สัมภาษณ์กับ “ทีมเศรษฐกิจ” เดลินิวส์ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% มีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทเป็นหลัก และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกยังชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องติดตามข่าวสารต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายของสหรัฐจะต่อเนื่องหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงดอกเบี้ยด้วย หลังเปลี่ยนประธานเฟดคนใหม่เป็น “เจเน็ต เยลเลน” ’หากเยลเลนเข้ามาและต่อนโยบายเดิม นั่นเท่ากับว่าคิวอีจะเริ่มทยอยออกในปีหน้าเป็นต้นไป นักลงทุนจะเริ่มถอนเงินออกเพื่อกลับประเทศ ซึ่งอาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินบ้าง ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงมากกว่านี้ เช่นมาอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ต้องดูประเทศอื่น ๆ เช่น เอเชีย ยุโรป หรือจีน จะเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่ เพราะถ้าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ มีการลงทุน หุ้นต่าง ๆ ยังน่าลงทุนอยู่ นักลงทุนจะเข้ามาซื้ออยู่ดี ความผันผวนอาจไม่มากอย่างที่คิด เพราะทั้งเงินไหลเข้าและไหลออกยังมีความสมดุลกันจึงทำให้ค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวไม่มากหรือไม่เคลื่อนไหวเลยก็ได้” สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันและผันผวนค่อนข้างมาก ยืนยันว่าไม่น่าห่วงมากนัก เนื่องจากทางการได้มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะที่หากดูในเรื่องของการแข่งขันนั้น ไทยไม่ได้เสียเปรียบแน่นอน เพราะค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ค่อนข้างมาก โดยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลง 2.14% ขณะที่อินโดนีเซียสูงที่สุดที่ 20.15% อินเดีย 14.28% มาเลเซีย 6.42% ฟิลิปปินส์ 5.92% เวียดนาม 1.43% และสิงคโปร์ 2.6% ขณะที่ผู้ประกอบการเริ่มเข้าใจตลาดมากขึ้น ไม่ได้นิ่งนอนใจ สะท้อนจากผู้ประกอบการนิยมทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 50% ประกอบกับสถาบันการเงินแนะนำให้ผู้ประกอบการรับมือและเข้าใจตลาดว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น กลุ่มพลังงานไม่ว่าจะเป็น ปตท. บางจาก ที่เป็นผู้ถือดอลลาร์สหรัฐรายใหญ่ ได้สั่งซื้อน้ำมันจำนวนมาก ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีนักลงทุนที่เข้ามาซื้อกิจการในไทย เช่น สถาบันการเงินญี่ปุ่นที่เข้ามาซื้อกิจการของธนาคารกรุงศรีฯ เป็นต้น ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินไหลเข้าและออก ค่าเงินบาทจึงเคลื่อนไหวไม่มากนัก มาจนถึงบรรทัดนี้…แม้หลายฝ่ายบอกว่าค่าเงินที่เหมาะสมกับไทยจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เชื่อได้แน่ว่าทางการไม่ยอมให้ค่าเงินบาทกลับไปเป็นเป้านิ่งเพื่อให้นักเก็งกำไรโจมตีค่าเงินได้ง่าย ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ขณะที่นักลงทุนมีสิทธิเลือกเสี่ยงโดยปล่อยให้การค้าขายขึ้นอยู่กับค่าเงินในแต่ละจังหวะ หรือเบรกความหายนะด้วยการทำประกันความเสี่ยงของค่าเงินไว้ล่วงหน้า เพื่อรับเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยคงขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน แต่สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ การติดตามสถานการณ์รอบด้านทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั่นเอง!. ภัทราภรณ์ พลายเถื่อน
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เปิดมุมมอง‘ตรรก บุนนาค’บริหารค่าเงินให้ไร้ความเสี่ยง
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs