ใกล้คลอดเต็มที่สำหรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (ปี 58-64) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ดีเดย์ประกาศใช้ต้นปี 58 โดยยุทธศาสตร์ใหม่ครั้งนี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนการส่งเสริมการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ หลังจากใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ปี 20 และที่ผ่านมามีการปรับในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น  ต้องยอมรับว่า ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จากที่ผ่านมาบีโอไอ เคยเตรียมทำคลอดแผนยุทธศาสตร์ใหม่มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 56 ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (56-60) มีหลายประเด็นที่ต้องปรับแก้ไข เช่น กิจการประเภทไหนที่จะได้ส่งเสริมต่อ หรือไม่ได้ส่งเสริมต่อ ยังมีข้อถกเถียงกันอย่างมาก จึงต้องเลื่อนกำหนด เน้นครอบคลุมแผนชาติ  จนมาสมัย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สวมหมวกเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติกรอบยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยให้เปลี่ยนจากแผน 5 ปี เป็นแผน 7 ปี เนื่องจากต้องการให้ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้วย จึงต้องทำแผนยุทธศาสตร์ถึงปี 64 เพราะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะใช้ระยะเวลาถึงปี 59 ส่วนการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ใหม่อย่างเป็นทางการ จะต้องรอให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติรายละเอียดของยุทธศาสตร์ใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพราะการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งที่ผ่านมาเป็นการอนุมัติร่างยุทธศาสตร์ฯ และให้บีโอไอไปจัดทำรายละเอียดไส้ในอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะกิจการใดจะส่งเสริมต่อ กิจการใดจะยกเลิกการส่งเสริม ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับนักลงทุน เพราะนักลงทุนบางคนเคยชินกับการได้สิทธิประโยชน์มาตลอด เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง  ทั้งนี้แนวคิดของแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ “อุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย” เลขาธิการบีโอไอ ระบุว่า แผนยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่เน้นปริมาณแล้ว แต่เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ช่วยนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยยังคง 7 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม แต่จะเน้นประเภทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีมูลค่าเพิ่มสูง มีการวิจัยและพัฒนาหรือการออกแบบ รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร, อุตสาหกรรมแร่ เซรามิก และโลหะขั้นมูลฐาน, อุตสาหกรรมเบา, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ และอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค  สำหรับสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ใหม่ เริ่มจากยกเลิกระบบการส่งเสริมการลงทุนที่อิงกับเขตพื้นที่ (โซนนิ่ง) คือ เขต 1-3 เดิม เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในภูมิภาค เพื่อสร้างการรวมกลุ่มใหม่ของการลงทุนที่สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของแต่ละพื้นที่มากขึ้น โดยบีโอไอจะจัดลำดับว่า เซ็กเตอร์ไหนมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างกัน เช่น บางอุตสาหกรรม บีโอไอส่งเสริมมานานแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องให้การส่งเสริมต่อไปอีก แต่จะไม่ให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือบางอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง บีโอไออาจเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้ต่อไป โดยไม่อิงกับโซนนิ่ง เพราะหลายอุตสาหกรรม ได้รับการส่งเสริมมานาน ควรดูแลตัวเองได้แล้ว ตัดสิทธิชาเขียว-ขนม  ประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริม จากเดิมมีกิจการได้รับการส่งเสริมกว่า 240 กิจการ แต่สิทธิประโยชน์ใหม่จะตัดโครงการทิ้ง 40 กิจการ เช่น กิจการผลิตขนมปัง ชาเขียว ขนมขบเคี้ยว เพราะถือว่า เป็นกิจการที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก และตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี 40 กิจการ แต่ยังคงสิทธิประโยชน์ด้านอื่นอยู่ ส่วนจะเป็นกิจการใด อยู่ระหว่างการรออนุมัติจากบอร์ดบีโอไอ สาเหตุที่ยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอ ต้องหันมาเน้นให้สิทธิพิเศษโครงการทักษะขั้นสูง “หิรัญญา สุจินัย” ที่ปรึกษาด้านการลงทุน บีโอไอ ขยายความเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าของโครงการมากขึ้น เพราะทิศทางต่อไปนี้ประเทศไทยจะต้องมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ขั้นสูงมากขึ้น ถ้าใช้แต่แรงงานอย่างเดียว ต้นทุนจะสู้ไม่ได้ ดังนั้นการที่จะไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ขั้นสูงมากขึ้น นักลงทุนจะต้องมีค่าใช้จ่ายบางรายการสูงขึ้น เช่น จะต้องมีการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) การออกแบบ การฝึกคนที่ใช้ทักษะขั้นสูง “ถ้ารัฐไม่มีสิทธิประโยชน์ให้ นักลงทุนก็ไม่อยากลงทุน บีโอไอก็ต้องให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ จากที่ได้สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามเซ็กเตอร์ไปแล้ว เช่น ลงทุนผลิตโทรศัพท์มือถือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 3 ปีตามมาตรฐาน แต่ถ้าลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้วยก็จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นจากพื้นฐานที่ได้อยู่แล้วอีก 1 ปี รวมแล้วได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 4 ปี โดยเราจะกำหนดว่าถ้าเป็นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสมมุติว่ามีค่าใช้จ่าย 1% ของยอดขายก็จะได้บวกเพิ่มอีก 1 ปี เป็นต้น” หิรัญญา ระบุ  ขยายส่งเสริมลงทุน ตปท.  นอกจากนี้ยุทธศาสตร์บีโอไอใหม่ จะให้ความสำคัญทั้งการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ จากเดิมที่เน้นการลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก เพราะขณะนี้ไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์จึงต้องทำแผนรองรับด้วย โดยมีประเทศกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรก อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา และลาว กลุ่ม 2 จีน อินเดีย และอาเซียนอื่น ๆ และกลุ่ม 3 ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกา เห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์บีโอไอใหม่ จะไม่ค่อยมีเสียงคัดค้านจากภาคเอกชนมากนัก ต่างจากร่างแผน 5 ปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจาก บีโอไอ ยังไม่ได้ประกาศกิจการที่จะตัดสิทธิประโยชน์ รวมทั้งภาษีอย่างเป็นทางการ แต่สาเหตุใหญ่มาจากบอร์ดบีโอไอที่เป็นผู้ร่วมพิจารณายุทธศาสตร์ ส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชนสำคัญ ๆ แทบทั้งสิ้น เช่น ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ตัวแทนจากภาคเอสเอ็มอี จากนี้ไปต้องจับตาดูว่า หลังจากประกาศยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว กระแสตอบรับจากนักลงทุนมีมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถเปลี่ยนการลงทุนของประเทศเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หากเป็นไปตามเป้าหมาย เชื่อว่า จะเกิดมิติใหม่แห่งการลงทุนของประเทศไทย ที่เน้นทำให้เกิดประโยชน์และโตอย่างยั่งยืนแน่นอน. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เปิดยุทธศาสตร์ลงทุนฉบับใหม่ ดันอุตสาหกรรมเปลี่ยนเศรษฐกิจ

Posts related