มีข่าวว่าหลวงปู่พุทธอิสระจะให้จัดเสวนาเรื่องการปฏิรูปพลังงานขึ้นอีกครั้ง (หลังจากจัดไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา) ในวันที่ 24 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยครั้งนี้จะเน้นพูดคุยกัน เรื่องของพลังงานไฟฟ้า และพลังงานทดแทน ที่คราวที่แล้วไม่ค่อยได้พูดถึง เพราะเวลาไม่พอ และมัวแต่ไปถกกันแต่เรื่องของ ปตท.เสียเป็นส่วนใหญ่ ในฐานะที่ผมเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมอยู่ในเวทีเสวนา เห็นด้วยที่หลวงปู่จะเปิดเวทีสาธารณะให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสมาร่วมกันแสดงความเห็นต่างในเวทีเดียวกันอีกครั้ง แทนที่จะไปต่างคนต่างพูด คนละเวทีให้มวลชนของตัวเองฟัง ซึ่งจะสร้างความสับสนให้ประชาชนอย่างยิ่ง ว่าข้อมูลของใครเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือกันแน่ แต่อย่างไรก็ ตามจากบรรยากาศของการเสวนาครั้งแรก ผมเห็นว่ายังมีข้อที่สมควรปรับปรุงเพื่อให้การจัดในครั้งที่สองนี้มีบรรยากาศที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น อันจะนำสู่การเสวนาที่ีใช้เหตุผล และข้อมูลมาชี้แจงกัน โดยปราศจากการกดดัน การพยายามจับผิด และกล่าวหากัน ซึ่งวิธีการนี้จะนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันได้ในอนาคต แทนที่จะถกเถียงกันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ โดยไม่รู้จบ สิ่งที่ผมอยากจะเสนอให้ทั้งสองฝ่ายหรือ หลวงปู่ในฐานะคนกลางได้พิจารณาคือ 1. วิธีการตั้งคำถามในการเสวนาครั้งที่แล้ว ผมมีความรู้สึกว่า เป็นการตั้งคำถามแบบไม่ต้องการรู้เหตุผล และข้อเท็จจริง แต่เป็นคำถามที่ผู้ถามมีคำตอบของตนเองอยู่ในใจแล้ว (มีธงอยู่แล้ว) และพยายามถามตอบแบบทนายถามจำเลยในศาล ให้ตอบแต่เพียงว่า “ใช่หรือไม่ใช่” “จริงหรือไม่จริง”  ซึ่งการตั้งคำถามในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใดเลย แม้แต่ประชาชนที่ต้องการได้ข้อมูลและข้อเท็จจริง เพราะเป็นคำถามที่ไม่ต้องการแสวงหาความจริง แต่ถามเพื่อเป้าหมายแห่งชัยชนะของผู้ถามเท่านั้น ดังนั้นในการเสวนาครั้งนี้ขอเสนอให้ผู้ที่ต้องการถามคำถาม ถามให้จบสิ้นกระบวนความ ว่าท่านข้องใจสงสัยในเรื่องใด และต้องการให้ชี้แจงในประเด็นใด ไม่ใช่มานั่งถามทีละคำถามให้ตอบ “ใช่ ไม่ใช่” “จริง ไม่จริง” อีก 2. เราพบว่า ได้มีความพยายามระดมมวลชนมาสนับสนุนฝ่ายตนเป็นจำนวนมาก (แม้แต่ในการเสวนาครั้งที่สองในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ก็ยังมีข่าวออกมาทางโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้มวลชนไปร่วมรับฟังกันให้มาก ๆ) การที่มีมวลชนไปร่วมมาก ๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แสดงว่ามวลชนตื่นตัว ต้องการมีส่วนร่วม แต่ต้องอยูในระเบียบวินัย ไม่แสดงอาการไม่พอใจ หรือดูถูกด้วยการโห่ฮาป่า เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน หรือตรงกันข้ามกันกับฝ่ายที่ตนชื่นชอบ การแสดงปฏิกิริยาอย่างนั้น คือการกดดันฝ่ายตรงกันข้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีนั่นเอง และทำให้บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และมีเหตุผลเกิดขึ้นไม่ได้ เที่ยวนี้ จึงอยากเสนอให้จำกัดผู้เข้าฟัง ไม่ควรมีมากจนเกินไป และต้องควบคุมให้อยู่ในระเบียบอย่างเคร่งครัด ส่วนมวลชนที่ระดมกันมานั้น ให้ดูโทรทัศน์วงจรปิดอยู่นอกห้องประชุม ส่วนผู้ที่มาเรียกร้องให้มวลชนฝ่ายตนไปกันมาก ๆ นั้น อยากจะถามท่านว่ากำลังจะใช้มวลชนมาตัดสินกันมากกว่าเหตุผลหรือไม่ อย่าลืมว่านี่เป็นเวทีเสวนา เพื่อความปรองดองนะ ไม่ใช่เวทีปลุกม็อบที่แจ้งวัฒนะ !!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เสวนาเพื่อความปรองดองรอบ 2 – พลังงานรอบทิศ

Posts related