วันก่อนผมนั่งไล่อ่านเปเปอร์งานวิจัยเกี่ยวกับ HCI หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยยาว ๆ ว่า เทคโนโลยีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human-Computer Interaction) อ่านไปอ่านมา ผมก็ไปเจอเปเปอร์หนึ่งที่น่าสนใจที่ได้รับรางวัล Best Paper Award จากงานประชุมวิชาการ CHI มาเมื่อปีค.ศ. 2013 เลยจะเอามาแชร์ให้คุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผม จะได้ไม่ตกเทรนด์เทคโนโลยีกันครับ  โปรเจคท์งานวิจัยที่ผมพูดถึงก็คือ IllumiRoom ที่เป็นการเอาคำสองคำมารวมกันก็คือ Illumination ที่แปลว่าการส่องแสง มารวมกับคำว่า Room ที่แปลว่าห้อง พอรวมแล้วผมขอเรียกเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ละกันครับว่า “ห้องส่องแสง” IllumiRoom เป็นงานวิจัยระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (UIUC) ร่วมมือกับทีมวิจัยของไมโครซอฟท์ โดยออกแบบอุปกรณ์เครื่องเล่นวิดีโอเกมแบบใหม่ที่ภาพในเกมไม่ได้อยู่เฉพาะในกรอบจอทีวีเท่านั้น แต่เลยออกมาระบายอยู่บนผนังห้อง กำแพงห้อง หรือโต๊ะเก้าอี้ใด ๆ ที่อยู่รอบ ๆ จอทีวีได้อีกด้วยครับ หลักการทำงานของ IllumiRoom นอกจากคอมพิวเตอร์สำหรับประมวลผลแล้วก็จะใช้อุปกรณ์อีกสองอย่างครับ คือ คิเนค (Kinect) และโปรเจคเตอร์ ถ้าคุณผู้อ่านเป็นคนชอบเล่นเกมก็คงจะเคยได้ยินชื่อเจ้าคิเนคนี้ผ่านหูมาบ้าง เพราะมันเป็นเซ็นเซอร์ที่มาพร้อมกับเครื่องเล่นเกม Xbox ที่ทำให้เราสามารถใช้ร่างกายทุกส่วนในการบังคับเกมได้ ประมาณว่าเรายืนเต้นรำโบกไม้โบกมือท่าไหนอยู่ หุ่นในเกมก็เต้นเลียนแบบท่าเราได้ทันทีเลยละครับ สำหรับใน IllumiRoom นี้ คิเนคทำหน้าที่ในการมองสำรวจพื้นที่รอบ ๆ จอทีวี แล้วนำข้อมูลไปให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลว่าพื้นที่รอบ ๆ ทีวีหน้าตาแบบนี้ควรจะฉายเอฟเฟกต์หน้าตาแบบไหนออกไปดี ภาพที่ได้ถึงจะเนียนไปกับภาพเกมในจอทีวีมากที่สุด ส่วนตัวโปรเจคเตอร์ก็รับหน้าที่สุดท้ายครับ ในการฉายภาพที่คำนวณไว้อย่างดีแล้วไปโอบล้อมรอบจอทีวี ขยายภาพในเกมให้ออกมากว้างขึ้นเสมือนกำลังเล่นเกมจอยักษ์ในโฮมเธียเตอร์อยู่ยังไงยังงั้น พูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ IllumiRoom ทำให้เราสามารถสัมผัสบรรยากาศเดียวกันกับที่ตัวละครในเกมกำลังโลดแล่นอยู่ได้ภายในห้องนั่งเล่นของเราเอง ลองจินตนาการดูนะครับ สมมุติว่าเรากำลังเล่นเกมที่ภายในเกมเป็นฉากยิงสู้กันอยู่ในอวกาศ ภาพทั้งในจอทีวีและรอบจอทีวีของเราก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นฉากอวกาศที่มีเรือรบกำลังยิงกันไปมาด้วย หรือถ้าภายในเกมมีหิมะหรือฝนตก เราก็จะเห็นเอฟเฟกต์ฝนและเกล็ดหิมะค่อย ๆ ตกลงมาทั้งในจอและรอบ ๆ จอทีวี ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราก็นั่งเล่นเกมอยู่ในห้องนั่งเล่นในบ้านนี่เอง ไม่เพียงเท่านี้นะครับ IllumiRoom ยังใช้เทคนิค Radial Wobble Illusion ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้การสั่นของแสง ลวงตาให้เราเกิดความรู้สึกถึงความสั่นสะเทือนได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดระเบิดขึ้นในเกม เอฟ เฟกต์ที่เป็นวงแหวนของแสงที่กำลังสั่นและระเบิดวงกว้างออกมาจากในจอทีวีออกสู่นอกจอทีวีเหมือนคลื่นน้ำระเบิด ก็ทำให้คนเล่นเกิดภาพลวงตารู้สึกเหมือนห้องนั่งเล่นกำลังสั่นเพราะแรงระเบิดได้จริง ๆ แต่สำหรับนักวิจัยอย่างผมนะครับ สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ IllumiRoom คือ การที่มันสามารถใช้ห้องนั่งเล่นที่ไหนก็ได้นี่ล่ะครับ ไม่ว่าห้องนั่งเล่นจะมีผนังสีอะไร จะมีตู้หนังสือ มีโต๊ะเก้าอี้วางเกะกะรอบทีวียังไง IllumiRoom ก็รับผิดชอบจัดการคำนวณภาพเอฟเฟกต์ที่จะแนบเนียนไปกับสีของห้องและของเกะกะเหล่านั้นได้ โดยมีความบิดเบี้ยวหรือความเพี้ยนของสีของเอฟเฟกต์น้อยที่สุด เห็นไหมครับว่าในโลกสมัยใหม่นี้ ทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างก็พากันจูงมือออกนอกกรอบกันมากขึ้น แล้วคุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมล่ะครับ เริ่มจะเป็นคนคิดนอกกรอบกันบ้างแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็มาเริ่มคิดนอกกรอบทำอะไรใหม่ ๆ ในทางที่สร้างสรรค์กันตั้งแต่วันนี้เถอะครับ ในยุคสมัยที่เราสามารถหาข้อมูลจากเสิร์ชเอนจินอย่างกูเกิลได้ภายในเสี้ยววินาที วิธีสอนให้ท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองนั้นมันออกจะล้าสมัยไปแล้ว   ยุคนี้ผมเชื่อว่าเราต้องสอนให้คนรู้จักเข้าใจ รู้จักวิเคราะห์ รู้จักจินตนาการ สร้างคนให้เป็น “นักคิด” (Thinker) และนำความคิดใหม่ ๆ มาต่อยอดสร้างนวัต กรรมที่สุดยอด-ของสุดยอด-และสุดยอดขึ้นมาได้อีกเรื่อย ๆ และคงจะดีไม่น้อยนะครับถ้าวันหนึ่งหนึ่งในนวัตกรรมสุดยอดเหล่านั้นสามารถมาจากฝีมือของพวกเราคนไทยครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เล่น (เกม) นอกกรอบ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related