ในที่สุด “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. ก็ตัดสินใจเสนอให้รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิจารณาออกพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งใหม่ โดยมีเหตุผลสำคัญ 6 ข้อ หลังจากเห็นปัญหาการเมืองที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเชื่อว่าหากยังดั้นด้นจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ คงไปไม่รอดแน่! ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่มีผู้สมัคร 28 เขตเลือกตั้ง ใน 8 จังหวัด หรือการได้ ส.ส.ไม่ครบ 95% หรือการขัดขวางการเลือกตั้งที่รุนแรงขึ้น หรือแม้แต่การไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ 3,885 ล้านบาท ทำให้คนไทยทั้งประเทศในเวลานี้ ต้องมารอลุ้นกันว่ารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะตัดสินใจอย่างไร? แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกหนทางใดในการแก้ไขปัญหา… สุดท้ายคนไทยก็ย่อมได้รับผลกระทบอยู่ดีโดยเฉพาะบรรดาคนทำมาค้าขาย เพราะข้อเสนอของ กกต.ในครั้งนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยเหตุนี้ “ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” จึงขอรวบรวมความคิดเห็นของคนทำมาค้าขายมาสะท้อนให้เห็น หอการค้าหนุน กกต. เริ่มจากฟากธุรกิจ “พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” รองประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การเลื่อนเลือกตั้ง น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เพราะมองว่า หากรัฐบาลเดินหน้าจัดเลือกตั้งต่อไป ก็ใช่ว่าจะสำเร็จ กลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะมีหลายปัจจัยเป็นอุปสรรคทำให้เปิดรัฐสภาไม่ได้ โดยเฉพาะการไม่มี ส.ส.ครบจำนวนที่กำหนด 95% ดังนั้นจึงเห็นว่า รัฐบาลควรประกาศให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ ตามที่ กกต.ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลเสียหน้า แต่ก็เป็นเรื่องดีกับสถานการณ์บ้านเมืองในยุคนี้ “ระหว่างนี้อยากให้คู่กรณีที่ขัดแย้ง หาทางเจรจาสงบศึก หรือทำการปฏิรูปร่วมกันก่อนจะจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจเสียเวลาสักหน่อยแต่เชื่อว่าในระยะยาวจะยั่งยืนและเป็นผลดีกับประเทศมากกว่า ส่วนมุมมองต่างชาติต่อการเลื่อนจัดเลือกตั้ง เชื่อว่าต่างชาติคงเข้าใจ และไม่น่าส่งผลต่อความเชื่อมั่นเท่าไร เพราะตอนนี้ต่างชาติก็รู้ถึงเลือกตั้งไปก็มีปัญหาตามมาอีกอยู่ดี” เอกชนมองยุติความขัดแย้งสำคัญสุด ส่วน “พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า ในหลักการเอกชนต้องการความสงบเรียบร้อย และลดความขัดแย้ง เพราะหากมีการแตกแยกและการชุมนุมที่ยืดเยื้อไปจะทำให้ประเทศเสียโอกาสและส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจระยะยาว โดยเอกชนยังสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และแม้จะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปองค์กรภาคธุรกิจจะยังคงเดินหน้าผลักดันให้ตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อมาวางแนวทางการปฏิรูป สอดคล้องกับ “วัลลภ วิตนากร” รองประธาน สอท. มองว่า การเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะประเด็นที่กระทบเศรษฐกิจตอนนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งที่แต่ละฝ่าย จะต้องร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ให้ยุติโดยเร็ว จึงเห็นว่า องค์กรปฏิรูปที่เอกชนกำลังดำเนินการอยู่นี้จะต้องเกิดให้เร็วที่สุด ท่องเที่ยวเกาะติดวันต่อวัน ด้านมุมมองภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย “ปิยะมาน เตชะไพบูลย์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ประเมินว่า แม้จะมีการเลื่อนเลือกตั้ง คงไม่เกี่ยวข้องกับการทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวดีขึ้น เนื่องจากข้อขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ถูกจุด โดยสิ่งที่ สทท. ทำได้ขณะนี้คือ การเฝ้าติดตามสถาน การณ์อย่างใกล้ชิดในทุกวัน เพื่อดูความเป็นไปทางการเมือง เพื่อบอกทิศทางการเติบโตทางการท่องเที่ยวในอนาคตได้ ชี้เลื่อนเลือกตั้งช่วยกำลังซื้อกลับ ขณะที่ตัวแทนภาคการค้าขาย เจ้า ของธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค มองว่า หาก กกต. เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป จะส่งผลดีต่อภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน จะได้รับอานิสงส์ของกำลังซื้อ ที่จะกลับมาอย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์ยุติลง ซึ่งอารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภคก็จะกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากหดหายไปเนื่องจากไปให้ความสนใจกับการชุมนุมมากกว่าและชะลอการจับจ่ายเพื่อสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน “ที่จริงจะปล่อยให้เหตุการณ์เป็นแบบนี้ต่อไปภาคเอกชนก็ไม่ ได้รับผลกระทบเท่าไร มีแต่ภาพรวมของประเทศที่แย่ เพราะเอกชนก็ดูแลตัวเองมาตลอด เนื่องจากรัฐบาลให้ความสนใจแต่นโยบายประชานิยม ภาคเอกชนจึงต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าตั้งสภาประชาชนและหารัฐบาลใหม่ที่เหมาะสมมา ก็หวังว่าจะช่วยให้ภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นได้” ขณะที่บรรดานักวิชาการ ที่อยู่กับข้อมูลต่างก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปกับสถานการณ์ทางด้านการเมืองในเวลานี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หวั่นเบิกจ่ายงบล่าช้า “เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มีความกังวลกับปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งหากไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. นี้ การเบิกจ่ายงบกลางต้องเลื่อนออกไป ทำให้ไม่มีเม็ดเงินที่จะต้องลงทุนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศในปีม้าแน่นอน และะประเทศก็ต้องหวังพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว และอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวต่ำกว่า 2% เนื่องจากไม่มีเครื่องยนต์ตัวอื่นมาช่วยทำงาน. ทีมเศรษฐกิจ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนชี้รัฐบาลเลื่อนเลือกตั้งไม่ตอบโจทย์ปัญหาการเมือง
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs