นายอิสระ บุญยัง ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายผลักดันพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว น่าจะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้รัฐบาลลดภาระภาษีจากส่วนกลางและ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น มีความแข็งแรงและทำให้เป็นผลดีต่อประเทศชาติระยะยาว พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลและรัฐสภาเร่งผลักดันพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา แม้ว่าอาจกระทบต่อคะแนนเสียง และผู้ที่ถือครองทรัพย์สินปัจจุบันจะต่อต้าน แต่ทั้งนี้หากมีขั้นตอน หรือกระบวนการที่ทำให้ผู้เสียภาษีทำความเข้าใจ มีเวลาในการปรับตัว ขณะที่รัฐบาลกำหนดอัตราภาษีเบื้องต้นให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ เชื่อว่าน่าจะได้รับการยอมรับ ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เชื่อว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะจะหาซื้อที่ดินแล้วพัฒนาโครงการเลย ไม่ได้ทยอยซื้อที่เก็บไว้เหมือนอดีตแล้ว ทั้งนี้ เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อดี 4 ด้านคือ เป็นการกระจายอำนาจทางการคลัง ไปสู่อปท. อย่างแท้จริง ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการรายได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลกลาง, อปท.จะประมาณรายรับได้แน่นอน จากฐานของทรัพย์สินไม่ใช่จากฐานรายได้ ทำให้รายรับค่อนข้างสม่ำเสมอ ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร และจัดสรรงบประมาณประจำปีสำหรับการพัฒนาท้องถิ่นได้ค่อนข้างแน่นอน ที่สำคัญก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน เนื่องจากผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก ต้องเสียภาษีมาก โดยเฉพาะหากปล่อยไว้รกร้างว่างเปล่า ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด ซึ่งจะทำให้ผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากต้องนำที่ดิน ออกให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้รกร้างว่างเปล่า ซึ่งจะเป็นการลดภาระภาษีและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อท้องถิ่นและต่อประเทศด้วย อีกทั้งประชาชนในท้องถิ่น จะให้ความสำคัญกับการบริหารและการบริการ ของอปท.มากขึ้น เพราะทุกครัวเรือนต้องเสียภาษีทุก ๆ ปีทำให้เกิดการตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น แต่ทั้งนี้ เห็นว่า หากจะบังคับใช้จริง ต้องมีช่วงเวลาสำหรับการยกเว้น หรือทยอยการจัดเก็บ สำหรับที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างเดิม ซึ่งไม่เคยเสียภาษี,ปอท.จะใช้พ.ร.บ.นี้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริม หรือชะลอการเติบโต หากให้อำนาจในการเพิ่มหรือลดภาษีมากกว่าที่ให้อำนาจไว้ในมาตรา 30 และท้องถิ่นใดที่มีนโยบายในการอนุรักษ์พื้นที่เพื่อเกษตรกรรม หรือสิ่งแวดล้อม จะมีอัตราการพัฒนาต่ำ ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่ำด้วย กรณีนี้ รัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น “หากมีการประกาศใช้กฎหมายจริง ก็ต้องทบทวนโครงสร้างภาษี และค่าใช้จ่ายทุกประเภท ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนมือการซื้อขาย หรือการโอนกรรมสิทธิ์ เพราะปัจจุบันแม้ว่าอาคารจำนวนมากไม่ได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็จะเสียภาษีที่เกิดจากการเปลี่ยนมือทุกทอด คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากราคาซื้อขาย ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม2% ของราคาประเมิน ภาษีเงินได้อีก 2-10% เพราะหากต่อไปที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภทต้องเสียภาษีทุกปี ก็ต้องทบทวนโครงสร้างภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือซื้อขายไปพร้อมกันด้วย”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนหนุนกม.ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง

Posts related