นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ แนวทางการปฎิรูปภาษี ยังไม่สามารถตอบถึงรายละเอียดที่ชัดเจนได้ เพราะเป็นช่วงที่ติดตามนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) นั้น คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากการปรับภาษีแวต ถือเป็นอัตราภาษีที่มีราคาสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคอย่างแน่นอน โดยการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวคงต้องดูระยะเวลาและความสัมพันธ์ทางด้านอื่น ๆ ให้เหมาะสม เพราะอาจเป็นแบบกรณีของญี่ปุ่น ที่ปรับขึ้นแล้วกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศได้ ขณะที่ แนวทางการปฏิรูปราคาพลังงาน ธปท.กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเกี่ยวข้องกับภาคขนส่งและสินค้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามมา แต่เบื้องต้น ธปท.มองว่าไม่มีแรงกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก แต่เชื่อว่าหากราคาพลังงานปรับขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน และไม่เป็นอุปสรรคทำให้ต้องเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญด้วย อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์นี้ ธปท. จะหารือกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ถึงแนวทางการวางกรอบนโยบายการเงินในปี 58 และแผนเงินทุนเคลื่อนย้าย เฟส 2 คาดว่าแนวทางต่างๆ จะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าและสอดคล้องกับนโยบายทางการคลังได้ รวมทั้ง หารือถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้าด้วยว่าจะอยู่ที่ระดับใด โดยปัจจุบันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของ ธปท. อยู่ที่ 0.5-3% นอกจากนี้ วันที่ 26 ก.ย.นี้ ธปท.จะประกาศตัวเลขการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และตัวเลขการส่งออกของปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าจีดีพีในปีนี้คงใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ที่ระดับ 1.5% เนื่องจากการลงทุนและการบริโภคของภาครัฐและเอกชนเริ่มกลับมา ขณะที่ภาคการส่งออกยอมรับว่าต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ที่ระดับ 3% เพราะการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ขณะเดียวกัน ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว ซึ่งเชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินในปีนี้อาจมีความจำเป็นน้อยลงกว่าปีก่อน เพราะมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด สำหรับการปรับตัวลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังไม่ความกังวลใดๆ เนื่องจากเป็นการปรับลงเล็กน้อย ที่เกิดจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตร โดยเฉพาะช่วงกลางปี 56 ที่เริ่มลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้เกิดการเทขายออกไปบ้าง เพื่อปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับข่าวในช่วงนั้น  อีกทั้งเมื่อตีราคาทุนสำรองเป็นเงินบาทแล้วโดยรวมสุทธิยังถือว่าเสมอตัว และไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนะปรับภาษีแวตดูความสัมพันธ์ให้เหมาะสม

Posts related