ส่งไปประกวดจำนวน 61 ผลงาน แต่กวาดรางวัลมาได้ถึงกว่า 90% กับการเข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกในเวที “42 nd International Exhibition of Inventions of Geneva” หรือการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา  โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนนำนักประดิษฐ์ไทยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมแสดงผลงานระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่า งานนี้มีนักประดิษฐ์จากทั่วโลกเข้าร่วมประกวดผลงานกว่าหนึ่งพันผลงาน โดยไทยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 61 ผลงานจาก 18 หน่วยงาน และได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก โดยมีรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ 1 ผลงาน เหรียญทอง 19 ผลงาน เหรียญเงิน 22 ผลงาน เหรียญทองแดง จำนวน 15 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลสเปเชียลไพร์ซ จากประเทศต่าง ๆ อีกกว่า 10 ผลงาน  ทั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ ในการประกวดครั้งนี้คือ ชุดทดสอบดีเอ็นเอไบโอเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวินิจฉัยเชื้อ  Shigella and Enteroinvasive E. coli ของ รศ.ดร.โกสุม จันทร์ศิริ และคณะแห่งมหา วิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ซึ่งนอกจากจะได้รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ ในกลุ่ม อาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุขแล้วได้รับรางวัล สเปเชียล ไพร์ซ จากประเทศฮ่องกงอีกด้วย   สำหรับงานวิจัยดังกล่าว รศ.ดร.โกสุม หัวหน้าโครงการบอกว่า เชื้อ Shigella and Enteroinvasive E. coli เป็นหนึ่งในเชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคท้องร่วง และถูกกำหนดในการส่งออกสินค้าทางการเกษตร ที่จะต้องปราศจากการปนเปื้อนเชื้อนี้  ทีมวิจัยซึ่งมีองค์ความรู้ด้านดีเอ็นเอไบโอเซ็นเซอร์ จึงนำมาประยุกต์ใช้เป็นชุดทดสอบด้วยเทคนิคใหม่ที่มีความไวต่อการตรวจหาเชื้อดังกล่าว โดยสามารถตรวจสอบเชื้อได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-1.5 ชั่วโมง ขณะที่หากใช้วิธีดั้งเดิมคือการเพาะเชื้อจะต้องใช้เวลา หลายวันและเพาะหาเชื้อได้ยาก  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบเพิ่มเติมคาดว่าภายใน 5-6 เดือนจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจอีกหลายผลงาน อาทิ อุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้พิการอเนกประสงค์ ของ ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ และคณะแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้พิการโดยไม่ต้องดัดแปลงรถยนต์ ใช้ได้ทั้งในบ้านและในรถ  มีดผ่าตัดนิ้วล็อกแบบเจาะผ่านผิวหนัง ของ ผศ.นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี และรศ.เจษฎา วรรณสิทธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ทำให้การผ่าตัดง่าย รวดเร็ว และทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ไคโตร่า ไคโตซานแคปซูลเพื่อการกักเก็บความหอมของบริษัทเวทเทคไบโอเทคโน โลยี จำกัด และถุงเท้าลอกผิวที่ตายแล้วในผู้ป่วยเบาหวาน ผลงานของ รศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ และคณะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีประสิทธิภาพในการลอกผิวหนังที่ตายแล้วโดยไม่กระทบผิวหนังดี ไม่เจ็บและลดการติดเชื้อ ในผู้ป่วย นี่แค่น้ำจิ้ม ..ยังมีผลงานของนักวิจัยไทยอีกมากที่แสดงถึงศักยภาพของประเทศ ไทย และรอเวลาในการพัฒนาไปสู่ภาคอุตสาห กรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ใช้ในประเทศไทยแต่นี่คือเวทีและตลาดระดับโลก. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : โชว์ฝีมือนักประดิษฐ์ไทย กวาดรางวัลในเวทีโลก

Posts related