ขณะที่เศรษฐกิจในระดับมหภาคกำลังขับเคลื่อนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กล้วนแต่มีความสำคัญไม่แพ้กันเพราะจะเป็นส่วนเสริมที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มูลนิธิเอเชียร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้จัดการสัมมนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคในหัวข้อ“การปรับทัพเออีซี ให้สอดคล้องกับเอสเอ็มอี” หรือ “Making ASEAN Economic Community Work for SMEs” โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และเอสเอ็มอี และนักวิชาการรวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ นางเวอโรนิค ซัลส์ -โลแซค ผู้อำนวยการอาวุโสโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ มูลนิธิเอเชีย กล่าวว่า มูลนิธิเอเชียมีความตั้งใจในการส่งเสริมกิจกรรมเอสเอ็มอี ในภูมิภาคอาเซียนและการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อเอสเอ็มอี ภายใต้กรอบของเออีซี ด้วยตระหนักดีว่าเอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากถึงร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการทั้งหมดและมีการจ้างงานกว่าร้อยละ 60 ของการจ้างงานรวมสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32-50 ของจีดีพี “ที่ผ่านมาพบว่าในการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีส่วนร่วมน้อยมาก ส่วนใหญ่จึงยังมีปัญหาการขาดเงินทุน ข้อมูลในการทำธุรกิจและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปี 2558 นี้” ด้าน นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปีหน้านั้นมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสัมมนาครั้งนี้จึงเน้นการเสริมความรู้ข้อมูล และประสบการณ์อันสำคัญต่อเอสเอ็มอีในการเตรียมตัวสำหรับการเข้าสู่เออีซี ทั้งในเชิงรุกในการไปทำธุรกิจทั้งในด้านการค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และเชิงรับในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเข้ามาของธุรกิจของประเทศสมาชิกโดยการสัมมนาประกอบด้วย 4 หัวข้อหลักได้แก่ 1)การขยายตัวการค้าภายใต้เออีซี 2) โอกาสการลงทุนในเออีซี 3) การพัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อรองรับเออีซี และ 4) ประสบการณ์ของเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จในอาเซียน “สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยการเปิดประชาคมอาเซียนถือเป็นความท้าทายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยควรเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้เพราะตลาดภายนอกอย่างเออีซีมีแนวโน้มสดใสและภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ในขณะที่ตลาดภายในประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรดูลู่ทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหรือในอาเซียนให้มากขึ้นเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจในประเทศได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดี” ด้าน ดร.ศกสีพนา ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวปาฐกถาโดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า โอกาสของเอสเอ็มอีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นอยู่ที่มุมมอง โดยส่วนตัวมองในแง่บวกว่าเออีซีคือโอกาส หากเอสเอ็มอีสามารถจัดวางตำแหน่งตัวเองในบริบทของเออีซีสำหรับเอสเอ็มอีคือเรื่องของการนำไปใช้เป็นเรื่องการปฏิบัติซึ่งจะพบว่าตอนนี้แต่ละประเทศต่างพยายามกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี(NBT)มากีดกันทางการค้า เช่น ในประเทศกัมพูชามี 14,000 รายการ ขณะที่ในประเทศลาวมีถึง 180,000 รายการ ซึ่งในอาเซียนก็ยังไม่มีฐานข้อมูลกลางที่จะรู้ได้ว่าในแต่ละประเทศมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอะไรบ้าง “ประเทศต่าง ๆ ควรร่วมมือกันทำฐานข้อมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการของแต่ละประเทศสามารถมาเรียนรู้เตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำธุรกิจได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอสเอ็มอีจะต้องศึกษาให้ละเอียด ต้องกำหนดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนและแนวทางปฏิบัติในข้อกำหนดต่าง ๆ เพราะในบริบทเออีซีสิ่งที่เอสเอ็มอีเผชิญจะไม่เหมือนกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจมากกว่า” การเตรียมความพร้อมของเอสเอ็มอีของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดอย่ากลัวการเปิดเออีซีต้องมองภาพใหญ่ที่เป็นโอกาสรออยู่ต้องมองว่าทำอย่างไรเอสเอ็มอีจะสามารถผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนหรือของโลก ที่มีการเติบโตมากขึ้นได้ในอนาคตนั่นคือต้องให้ความสำคัญกับการเข้าเป็นหุ้นส่วนกับผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่ดำเนินการถูกต้องในประเทศนั้น ๆ หรือการจับคู่ธุรกิจแทนการไปเข้าไปแข่งขันซึ่งทำได้ยาก วิธีการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายระดับมหภาคได้ อย่างไรก็ตามหากเอสเอ็มอีมีการเตรียมความพร้อมที่ดี มีข้อมูล เข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจและสิ่งที่จะทำให้เอสเอ็มอีอยู่รอดได้ในเออีซีคือ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและครบครัน จะทำให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปลาใหญ่กินในที่สุด และนี่คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เอสเอ็มอีก้าวกระโดดหรือประสบความสำเร็จได้ในเออีซี.
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : โอกาสเอสเอ็มอีในเออีซี
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs


