ปัจจุบันนี้ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในชีวิตประจำวัน ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะในกลุ่มธุรกิจทุกภาคส่วนก็ให้ความสำคัญเช่นกัน แม้แต่ภาคเกษตรกรรมยังต้องอาศัยระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดเก็บฐานข้อมูลการเกษตร นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เล่าว่า ในปี 2557 กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการในเรื่องของสมาร์ทไทยแลนด์ เป็นหลัก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงข่ายหลักของประเทศในการบริหารงาน สำหรับการบริหารงานนั้น ผู้บริหารแต่ละส่วนจะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดขององค์กรในการร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างมีคุณภาพและสัมฤทธิผล นอกจากนี้ ในการที่กระทรวงไอซีทีจะต้องเป็นเจ้าภาพคณะกรรมการระดับชาตินั้น จะผลักดันจังหวัดอัจฉริยะเพื่อนำไปสู่ประเทศไทยอัจฉริยะ ซึ่งเมื่อเกิดความสำเร็จแล้วจะต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป ส่วนการพัฒนาจากจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท โพรวินซ์ (Smart Province) ที่ขณะนี้้เห็นผลลัพธ์แล้ว โดยขั้นตอนต่อไปคือ การยกระดับทุกจังหวัดในประเทศไทยให้เข้าถึงไอซีที ลดช่องว่างทางการสื่อสาร ทำให้เป็นสมาร์ท ไทยแลนด์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ตามแผนงานนั้นจะเริ่มเห็นความชัดเจนอย่างน้อย 10 จังหวัด ในปี 2558 ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น โคราช ชลบุรี นครปฐม สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพฯ และใช้งานครบทั้งประเทศในปี 2562 ตามแผนแม่บท แต่จะมีการขยายโครงการในระยะแรกใน 4 จังหวัดก่อนในปี 2557 ได้แก่ ลำปาง ชัยภูมิ ภูเก็ต และกาญจนบุรี เพื่อปรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเดิมให้เป็นศูนย์ข้อมูลเรียนรู้และบริการชุมชนตามรูปแบบสมาร์ท โพรวินซ์ มีศูนย์คลาวด์เป็นระบบกลางรองรับทั้ง 4 จังหวัด “โครงการสมาร์ทโพรวินซ์มีต้นแบบแล้ว มีงบประมาณพร้อมโดยในการขยายออกไปในจังหวัด อื่นนั้น จะใช้งบประมาณต่อจังหวัดประมาณ 90 ล้านบาท โดยที่จังหวัดนครนายก ได้ใช้งบประมาณกว่าร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่ของแต่ละจังหวัดด้วย” นายสุรชัย กล่าว นายสุรชัย เล่าว่า จะพัฒนาจังหวัดนครนายกให้เป็น เวิลด์ แล็ป เชิญชวนประเทศในอาเซียนมาร่วมพัฒนาต้นแบบ บูรณาการข้อมูลภาครัฐ ก่อนพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ต้นแบบ จัดตั้งศูนย์สมาร์ทคันทรีเทคโนโลยี (SCIT : Smart Country Information Technology) เพื่อเป็นศูนย์รวมในการบริหารประเทศด้วยเทคโนโลยี นอกจากนี้ กระทรวงไอซีทีจะใช้งบประมาณในการจัดตั้งศูนย์สมาร์ทคันทรี ทั้งการจัดตั้งรวมทั้งซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ราว 3 พันล้านบาท โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ศูนย์สื่อสารของภาครัฐ (GCC : Government Communication Center) และศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (GDC : Government Data Center) ซึ่งภายในศูนย์สมาร์ทคันทรีจะรวมการสื่อสารและการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐเข้าไว้ด้วยกัน เป็นศูนย์เชื่อมโยงและกระจายการบริหารด้วยเทคโนโลยีไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงไอซีที อย่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นั้น มีแนวคิดที่จะรวมทั้ง 2 บริษัท เข้าด้วยกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการลงทุน ถึงแม้ว่ารัฐมนตรีไอซีทีท่านก่อน ๆ เคยมีแนวคิดและก็ทำไม่สำเร็จ แต่ตนก็ยืนยันว่าเป็นแนวคิดที่ดี น่าผลักดัน ถึงแม้จะไม่สำเร็จก็ตาม ทั้ง 2 องค์กรจะต้องทำให้มีกำไร ยิ่งขณะนี้ รายได้จากส่วนแบ่งสัมปทานจะต้องส่งคืนรัฐหมด ทั้ง 2 องค์กรจะขาดเงินในส่วนนี้รวมกันร่วม 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ทั้ง 2 องค์กรจะต้องแบ่งบิสซิเนสเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งต้องเป็นองค์กรที่แข่งขันได้ และอีกส่วนที่เป็นทรัพย์สินของรัฐที่มาดำเนินงานในส่วนของรัฐวิสาหกิจ นายสุรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสมบูรณ์ที่สุด มีทรัพยากรทางอาหาร เกษตรกรรม แหล่งท่องเที่ยวโดยหากมีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะใช้ไอซีทีเข้ามาช่วยจะถือเป็นดาวรุ่ง ซึ่งการดำเนินกิจการในทุกประเทศควรทำไอซีทีบิสซิเนสเข้ามาช่วยบริหารบ้านเมือง เพื่อให้นโยบายทางการค้าเดินหน้าไปพร้อมกัน ประเทศไทยถือว่ามีพื้นฐานทะเบียนกลาง ที่ไม่มีใครมีในโลกนี้ หลาย ๆ สิ่งถือเป็นสิ่งที่ได้เปรียบประเทศอื่น ๆ หากมีการบริหารจัดการที่ดี นำเทคโนโลยีมาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง เชื่อว่าประเทศไทยจะก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไอซีที ทุ่ม 3 พันล้านตั้งศูนย์สมาร์ทคันทรี

Posts related