การทำหนังสือได้ปรับตัวไปตามเทคโนโลยี จากกระดาษเปลี่ยนมาเป็นอีบุ๊ก หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลด้วยอุปกรณ์พกพาคู่กาย แต่การเข้าถึงอีบุ๊กในปัจจุบันก็ยังมีช่องว่างโดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการทางสายตา ดังนั้นจึงมีการพัฒนาสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Publication ) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า อีพับ  (EPUB) ขึ้นเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานของการสร้างหนังสืออิเล็ก ทรอนิกส์ ที่แม้แต่ผู้พิการทางสายตาก็สามารถเข้าถึงได้ และเป็นมาตรฐานที่ไม่มีลิขสิทธิ์  “ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล” นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค บอกว่า อีพับเกิดจากการร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศ คือ The International Digital Publication Forum (IDPF) และ Daisy Consortium  ปัจจุบันพัฒนามาถึงเวอร์ชั่นที่ 3 เกิดขึ้นเพราะความต้องการของผู้พิการทางสายตาที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน  แม้ปัจจุบันจะสามารถดาวน์โหลดไฟล์ต่าง ๆ และมีโปรแกรมแปลงข้อความเป็นเสียงพูดได้ แต่ก็ยังมีไฟล์บางประเภทที่ไม่สามารถแปลงเป็นเสียงได้ เช่น พีดีเอฟไฟล์ ที่อีบุ๊กส่วนใหญ่ชอบใช้นั่นเอง อีพับ จึงเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงไฟล์ข้อมูลเดียวกับคนสายตาดีทั่ว ๆ ไป แม้มองไม่เห็นภาพ แต่ก็สามารถที่จะฟังการบรรยายภาพต่าง ๆ ได้ ดร.ณัฐนันท์ บอกว่า อีพับไม่ใช่แอพพลิเคชั่น แต่เป็นโครงสร้างไฟล์มาตรฐาน ที่ต้องใช้เครื่องมือในการสร้าง  โดยการใช้งาน อีพับ ผู้ใช้จะเปิดไฟล์ อีพับด้วยโปรแกรมอ่านไฟล์เอกสารที่รองรับไฟล์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ และใช้โปรแกรมสังเคราะห์เสียงพูดในการอ่านข้อความในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออีบุ๊ก ทำให้ผู้ใช้ที่เป็นผู้พิการทางสายตาเข้าใจข้อความต่าง ๆ ในหนังสือได้  นอกจากนี้ ในการสร้างอีพับ สามารถแนบไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง และไฟล์วิดีโอลงไปได้ ทำให้สามารถสร้างอีบุ๊กที่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นได้  และด้วยจุดเด่นนี้เอง ทำให้เหมาะที่จะเป็นหนังสือให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้และคนปกติ   สำหรับการใช้งานอีพับในไทย ดร.ณัฐนันท์ บอกว่า เนคเทคได้มีการพัฒนาในส่วนของเครื่องมือในการสร้างอีบุ๊กตามมาตรฐานอีพับ 3.0 ซึ่งมีเทคโนโลยีการตัดคำ (Word Segmentation) เพื่อแก้ปัญหาการตัดกลางคำ เวลามีการจัดเรียงหน้าหนังสือใหม่แบบอัตโนมัติ ในกรณีที่มีการกลับหนังสือระหว่างแนวนอนและแนวตั้ง หรือมีการขยายตัวอักษรรองรับการแสดงผลภาษาไทย ด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นในการแนบฟอนต์ลงไปในอีพับ มีการพัฒนาโปรแกรมอ่านรวมถึงสร้างร้านค้าหรือสโตร์ที่รวบรวมหนังสือที่สร้างด้วยมาตรฐานใหม่นี้  นอกจากนี้ยังนำร่องยื่นต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เพื่อผลักดันให้อีพับเป็นมาตรฐานในการทำอีบุ๊กของไทยต่อไป   เพื่ออนาคตเราจะมีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ภาษาไทยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘อีพับ’ อีบุ๊กมาตรฐานอ่านได้ทุกคน

Posts related