ไอบีเอ็มเปิดเผยรายงานแนวโน้มและความเสี่ยงเอ็กซ-ฟอร์ช ( X-Force) ประจำครึ่งปี 2556 ระบุว่าองค์กรธุรกิจจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับช่องโหว่และจุดอ่อนด้านความปลอดภัยเพราะลักษณะการโจมตีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยทางเทคโนโลยีโมบายล์และโซเชียล องค์กรจึงต้องพร้อมต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความปลอดภัยใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ปัจจุบันผู้บริหารฝ่ายรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ หรือ ซีไอเอสโอ (Chief Information Security Officer) ตระหนักดีว่าการโจมตีในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ สามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อองค์กร  และจุดอ่อนด้านความปลอดภัยที่ไม่ได้รับการแก้ไขป้องกันในเว็บแอพพลิเคชั่น รวมไปถึงซอฟต์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ของผู้ใช้ ก็เสี่ยงต่อการเปิดให้ถูกโจมตีในภายหลัง  แอพพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์ที่มีช่องโหว่ยังคงถูกใช้เป็นช่องทางในการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัยปีแล้วปีเล่า    รายงาน X-Force ฉบับล่าสุดชี้ว่าแฮคเกอร์หรือผู้โจมตีในปัจจุบันได้พัฒนาทักษะของตนเอง เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการเจาะเข้าสู่ระบบขององค์กร ผู้โจมตีเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากความไว้ใจของผู้ใช้เพื่อดำเนินการโจมตีในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีโมบายล์ และการโจมตีด้วยการฝังโค้ดอันตรายไว้ในเว็บไซต์ยอดนิยม หรือที่เรียกว่าการโจมตีในรูปแบบ Watering Hole   ในช่วงกลางปี 2556 ผู้โจมตียังคงมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากสัมพันธภาพที่ได้รับความไว้วางใจผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตั้งแต่การส่งอีเมลสแปมที่ดูเป็นมืออาชีพ ไปจนถึงการส่งลิงก์อันตรายที่ดูเหมือนว่าจะมาจากเพื่อนหรือคนที่คุณกำลัง “ติดตาม” การโจมตีเหล่านี้ใช้การได้จริง และเป็นช่องทางที่ทำให้แฮคเกอร์สามารถเจาะเข้าสู่ระบบขององค์กร  เพื่อรับมือกับการโจมตีดังกล่าว โซเชียลเน็ตเวิร์กได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกมากขึ้นในการสแกนลิงก์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในโพสต์ ทั้งข้อความสาธารณะและส่วนตัว   อาชญากรกำลังขายบัญชีหรือแอคเคาท์บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยบางบัญชีมีเจ้าของอยู่แล้ว แต่ข้อมูลรหัสผ่านถูกเปิดเผย ส่วนบัญชีอื่นๆ ก็เป็นบัญชีที่สร้างขึ้นและออกแบบให้ดูน่าเชื่อถือด้วยโปรไฟล์และเครือข่ายการติดต่อที่ดูสมจริง ทั้งยังมีการสร้างยอด ‘ไลค์’ หรือปลอมแปลงความคิดเห็น และขณะเดียวกันก็ปกปิดตัวตนที่แท้จริงเพื่อก่ออาชญากรรม ซึ่งเปรียบได้กับการปลอมแปลงบัตรประชาชน แต่เพิ่มความน่าเชื่อถือให้ตนเองด้วยกลุ่มเพื่อนๆ   ทีมงานของไอบีเอ็มคาดว่า การใช้เทคนิคล่อลวง (Social Engineering) จะมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยผู้โจมตีจะสร้างเครือข่ายตัวตนผู้ใช้ที่ซับซ้อน พร้อมทั้งปรับแต่งวิธีการหลอกล่อเหยื่ออย่างแนบเนียน  แม้ว่าองค์กรจะใช้เทคโนโลยีและระบบควบคุมที่ทันสมัย และมีการกำหนดและปรับใช้แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม แต่ท้ายที่สุดแล้วความไว้วางใจของผู้ใช้ก็อาจนำไปสู่การหลบเลี่ยงมาตรการต่างๆ ของฝ่ายรักษาความปลอดภัยขอบเขตและความถี่ของการเจาะระบบเพื่อโจรกรรมข้อมูลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปสู่หลักการพื้นฐานของการรักษาความปลอดภัย โดยจะต้องมีการปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ใช้ทั่วทั้งองค์กร เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไอบีเอ็มเตือนองค์กร แฮคเกอร์พัฒนาทักษะโจมตีระบบ

Posts related