นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อํานวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าที่ธปท.ให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้าขอจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ว่า ปัจจุบันมีธนาคารต่างชาติเข้ายื่นมาบ้างแล้ว โดยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียและกลุ่มอาเซียน แต่จำนวนคงไม่มากอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกนั้นมีปัญหา ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ชะลอการยื่นขอประกอบการในประเทศ               “การที่ ธปท.ได้กำหนดให้แต่ละธนาคารที่จะเข้ามาประกอบกิจการในไทยนั้น ต้องการลงทุนขั้นต่ำ 20,000 ล้านบาท ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบที่เข้ายื่นประกอบกิจการมีจำนวนไม่มากนัก เนื่อง ธปท.ต้องการให้เกิดความมั่นใจที่จะทำธุรกิจจริงในประเทศ และต้องเป็นธนาคารขนาดใหญ่ถึงจะสามารถเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ โดยยอมรับว่าการขอเข้ามาประกอบการในรูปแบบดังกล่าว ต่างจากอดีตที่ผ่านมา ที่ ธปท.ให้ใบอนุญาต (ไลนเซ่น) ในการประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น หากขยายการให้บริการก็ต้องมาปรับเปลี่ยนไลนเซ่นใหม่ให้มีขอบเขตของบริการมากขึ้น”                อย่างไรก็ตาม การขอเข้ามาประกอบการในรูปแบบดังกล่าว ถือเป็นการเปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาดำเนินการกิจแบบครบวงจร ที่ต้องเริ่มสร้างฐานลูกค้าจากศูนย์ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาในระยะแรกคาดว่าจะให้ลูกค้าธุรกิจ (โฮลเซล) ก่อน แล้วค่อยขยายฐานลูกค้าลูกค้ารายย่อย เพราะลูกค้ารายย่อยในไทย ค่อนข้างเข้าหายาก เนื่องจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว โดย ธปท.เชื่อว่าการดำเนินนโยบายในครั้งนี้จะทำให้การแข่งขันมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือประชาชนที่เลือกใช้บริการ               ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 จะมีมาตรฐานของธนาคารพาณิชย์อาเซียน ที่ทำให้ธนาคารในกลุ่มอาเซียนมีโอกาสทำธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ของอาเซียน อย่างในมาเลเซีย และสิงคโปร์ จะเข้ามามีบทบาทในอาเซียนมากขึ้น และประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังจะลงทุน ทำให้แต่ละธนาคารต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่สิ่งที่ต้องคิดกันคือ ธนาคารของไทยจะมีศักยภาพในการรับมือกับการเข้ามาของธนาคารต่างชาติหรือไม่ รวมถึงการออกไปแข่งกันนอกประเทศอย่างไร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ยื่นขอเปิดแบงก์ใหม่หงอย

Posts related