ในครั้งก่อน ๆ ผมได้เล่าถึงแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนและจีน ที่ต่างเผชิญกับโจทย์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครไปแล้ว วันนี้จึงขอเล่าถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นบ้าง … หากย้อนเวลากลับไปจะพบว่า ปัญหาของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น มีสาเหตุมาจากฟองสบู่อสังหาฯ ที่แตกลงหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2532 อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาภาคการเงินที่ไม่เบ็ดเสร็จของทางการ โดยการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินและธุรกิจที่ย่ำแย่ แทนที่จะสั่งปิดกิจการนั้น ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น ตกอยู่ในภาวะที่อ่อนแอเป็นเวลายาวนาน โดยในระหว่างปี 2533-2555 เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น เทียบกับมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ควรจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2-3 ใน ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นที่ถดถอยลง ก็ได้ส่งผลให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ซึ่งยิ่งซ้ำเติมปัญหาจนกลายเป็นภาวะเงินฝืด โดยในช่วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีอัตราเงิน เฟ้อที่ติดลบถึงประมาณสิบปี หรือเรียกได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งภาวะเงินฝืด หลังจากการแตกลงของภาวะฟองสบู่ฯ รัฐบาลญี่ปุ่นหลายชุดได้พยายามแก้ปัญหาโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอด ผ่านทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน แต่ก็ไม่เป็นผลเท่าที่ควร เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นั้น ยิ่งทำให้ประชาชนมีความกังวลต่อเงินออมและความเป็นอยู่ของตน และหันมาเพิ่มการออมแทนที่จะเพิ่มการบริโภค ในขณะเดียวกัน การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลที่ต่อเนื่องยาวนาน อันเป็นผลจากการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนั้น ก็ได้ส่งผลให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 240 ของขนาดเศรษฐกิจหรือจีดีพี เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ที่สัดส่วนหนี้สาธารณะดังกล่าวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80-100 ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งมาในปลายปี 2555 ก็ได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังดังกล่าวอีกครั้ง โดยการออกมาตรการสำคัญในสามด้าน คือ การกระตุ้นทางการเงิน โดยมีเป้าหมายที่จะให้อัตราเงิน เฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2 ภายในปี 2557 รวมถึง การกระตุ้นโดยการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจน มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ ในด้านมาตรการทางการเงินนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินการอัดฉีดเงินมาตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อ ที่ไม่รวมหมวดอาหารสด ซึ่งล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 แม้ว่าจะยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ก็ตาม ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็เพิ่งจะอนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 18.6 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม วงเงินดังกล่าวนับรวมการใช้จ่ายที่มีแผนจะดำเนินการอยู่ก่อนหน้าแล้ว เช่น การใช้จ่ายเพื่อการซ่อมแซมจากแผ่นดินไหว ในขณะที่การใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายุ ถูกมองว่า อาจจะไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ทำให้แรงกระตุ้นหลัก คงจะมาจากการใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้างสำหรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2020 ส่วนมาตรการที่จะถูกจับตามากที่สุด คงหนีไม่พ้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่แม้ว่าจะยังคงไม่มีรายละเอียดอย่างเป็นทางการออกมา แต่นักวิเคราะห์ก็ฝากความหวังไว้ว่า การปฏิรูปดังกล่าวจะเป็นตัวสร้างความแตกต่างจากความพยายามในการฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นของรัฐบาลหลายชุดก่อนหน้า ทั้งนี้ ประเด็นการปฏิรูปที่นักวิเคราะห์คาดหมายไว้ ได้แก่ การลดการอุดหนุนแก่ภาคการเกษตร ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า สร้างภาระแก่รัฐบาลญี่ปุ่นถึงปีละกว่าห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากดำเนินการได้ นอกจากจะช่วยลดภาระการคลังแก่รัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว ยังจะเป็นการรองรับการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบ ทรานส์-แปซิฟิก พาร์ต เนอร์ชิป ที่สหรัฐเป็นผู้นำ ซึ่งหลายฝ่ายหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้เกิดการยกเครื่องประสิทธิภาพแก่เศรษฐกิจญี่ปุ่น นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่า ญี่ปุ่นยังจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายแรงงาน ให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยกฎหมายปัจจุบันนั้น เปิดช่องให้น้อยมากแก่ภาคธุรกิจในการลดจำนวนคนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ข้อจำกัดดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของแรงงาน แต่ก็ทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นลังเลที่จะจ้างพนักงานเพิ่ม ซึ่งยิ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางกฎระเบียบและกฎหมายอื่น ๆ เช่น การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงาน, การปรับปรุงอัตราภาษีเพื่อเอื้อต่อการแข่งขัน รวมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าปลีกออนไลน์ เป็นต้น รัฐบาลญี่ปุ่นคงจะต้องเร่งเดินหน้าในมาตรการต่าง ๆ ทุกด้าน เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังจะเผชิญกับการทดสอบครั้งสำคัญจากการปรับขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายนที่จะถึงในปีหน้า โดยหลายฝ่ายกังวลว่า การปรับเพิ่มภาษีดังกล่าว อาจจะทำให้การบริโภคกลับมาชะงักงันและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นภาระทางการคลัง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีทางเลือกไม่มากนัก นอกจากจำต้องปรับขึ้นภาษี โดยหวังว่า การเร่งเดินหน้าในมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการปฏิรูป จะช่วยชดเชยภาระจากภาษีได้ และช่วยทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในรอบนี้มีความยั่งยืนต่อเนื่อง มากกว่าความพยายามหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมาครับ… ดร.เชาว์ เก่งชน ck.at.kr@gmail.com
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เศรษฐกิจญี่ปุ่น…ต้องจับตามาตรการปฏิรูป – โลกการเงิน
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs