ฤดูฝนของไทยมีปัจจัยอยู่ที่อิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้ครอบงำทั้งทะเลอันดามันบริเวณประเทศไทยและอ่าวไทย วาระมาถึงแล้วเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ช่วงต้นฤดูปีนี้คาดหมายกันว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติแต่ก็พอมี โดยเฉพาะช่วงวันที่ 3-7 มิ.ย.นี้จะชุกหนาแน่นทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรือด้านทะเลอันดามัน ภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนรวมถึงภาคตะวันออก โดนกับเขาด้วย การมีฝนมาพร้อมกัน 2 ส่วน เช่นคราวนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาอธิบายว่าเพราะด้านหนึ่งลมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ขณะที่อีกด้านทางตะวันออก ก็จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมที่ประเทศเวียดนามตอนบน แต่ส่งผลออกฤทธิ์มาถึงประเทศไทยทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือให้ฝนเยอะขึ้น พื้นที่ที่ต้องใส่ใจให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกช่วงวันที่ 3-7 มิ.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปถึง 70–80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ที่ต้องจ้องพื้นที่นี้ก็เพราะเป็นหน้าด่านการรับลมอย่างเต็ม ๆ ภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนฟ้าคะนองกระจาย 40-60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เฉพาะที่อีสานโอกาสเจอฝนตกหนักบางแห่งอยู่ทางตอนบนของภาค ส่วนกรุงเทพฯ ช่วงนั้น วันที่ 4-7 มิ.ย. แค่มีเมฆเป็นส่วนมากโอกาสมีฝนตก 60-70 เปอร์เซ็นต์ การมีฝนต้นฤดูอย่างนี้น่าจะส่งผลดีหากจะมีน้ำลงไปเติมในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆเพราะตอนนี้ ระดับน้ำมีน้อยเข้าขั้นวิกฤติ หลายแห่ง เช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีน้ำ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ภาคอีสาน เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบล รัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานีและเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ วิกฤติพอกัน แต่สำหรับฝนที่จะตกหนักทางภาคเหนือใน 2–3 วันต่อจากนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารออกคำเตือนในระดับเฝ้าระวังสำหรับพื้นที่แผ่นดินไหวให้คำนึงถึงปัญหาดินโคลนถล่มหรือพื้นดินยุบเนื่องจากฝนในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ชาวเชียงรายที่ยังนอนผวากับอาการสั่นไหวไม่หยุดหย่อนจากอาฟเตอร์ช็อกยังประมาทไม่ได้ ความเสี่ยงใหม่มารอแล้ว ฤดูฝนนี้แหละ. หยาดน้ำฟ้า

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ฝนเพิ่ม – รู้หลบ

Posts related