ย้อนหลังกลับไปในวันที่ 2 ก.ค. เมื่อ 17 ปีก่อน ผู้ที่สามารถรับรู้และจดจำกับความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจได้ คงไม่ลืมวิกฤติครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทชั่วข้ามคืน หลังจากไทยไม่สามารถต้านทานการเข้าโจมตีค่าเงินบาทจากพ่อมดการเงินสารพัดสำนักได้ แม้ว่าแบงก์ชาติได้พยายามทุ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าสู้เพื่อปกป้องค่าเงิน จนส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือเพียง 2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปลายปี 39 อยู่ที่ 38,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สุดท้ายกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จนนำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สถาบันการเงินหลายสิบแห่งต้องปิดตัวลง และสร้างความเสียหายต่อธุรกิจในภาคส่วนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพราะแค่ในวันแรกหลังจากปล่อยลอยตัว ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าไปที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนหน้านั้นที่ทางการควบคุมอัตราไว้ที่ประมาณ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และหลังจากนั้น เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจนไปอ่อนค่ามากสุดในเดือน ม.ค. 41 ที่ระดับ 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้ประกอบการที่กู้เงินจากต่างประเทศมีหนี้ท่วมหัว ส่งผลให้ธุรกิจเจ๊งกันระนาว ส่วนเสถียรภาพทางการเงินการคลังของไทยในขณะนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะหนี้ต่างประเทศคงค้างของไทย ทะยานขึ้นจาก 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 33 มาอยูที่ 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ที่มีสัดส่วนถึง 65 % ของหนี้ต่างประเทศรวม แต่สัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 70.40% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดได้ส่งสัญญาณหายนะมาก่อนหน้า เพราะขาดดุลมาตั้งแต่ปี 37 และเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความพยายามลืมความเจ็บปวดเพื่อลุกขึ้นใหม่ ประกอบกับวันเวลาที่ผ่านไป ได้ช่วยให้แผลจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้นค่อย ๆ จางลงไปเป็นลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจและฐานะการเงินการคลังของไทย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับค่าเงินบาท ที่ฟื้นตัวจากระดับเกินครึ่งร้อยต่อดอลลาร์ กลับมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในบางครั้งก็มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการไหลเข้าของกระแสเงินทุน จนทางการต้องมีทั้งยาแรงยาเบามาสกัดอยู่เป็นระยะ โดยที่เล่นกันหนักสุด ก็คงเป็นมาตรการกันสำรอง 30% เงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น ในปี 49 ที่ถูกมองว่าเป็นการใช้ยาเกินขนาด จนตลาดหุ้นและภาคธุรกิจต่าง ๆ ปั่นป่วนกันไปพักใหญ่ ก่อนที่จะทยอยลดยา และเลิกยาไปในที่สุด กลับมาสู่ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ค่าเงินบาทในทุกวันนี้ถือว่ามีความแข็งแกร่งในตัวเองอยู่พอสมควร เพราะแม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติการเมืองในประเทศ รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เงินบาทก็ยังเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างมีเสถียรภาพ และเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินภูมิภาค ภายใต้การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแบบปล่อยลอยตัวแต่มีการจัดการของ ธปท. อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้า พบว่ายังมีความท้าทายจำนวนมากรอพิสูจน์ความแข็งแกร่งของเงินบาท และฝีมือการจัดการของ ธปท. อยู่เช่นกัน ทั้งการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายในภูมิภาค มีการไหลวนในอัตราที่เร็วขึ้น และมีความเชื่อมโยงของปัจจัยต่าง ๆ ต่อกันมากขึ้น ผนวกกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดวงเงินของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี จนหมดภายในปีนี้ ก่อนที่อาจเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ก็ทำให้เงินทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย ไหลกลับไปที่สหรัฐอเมริกามากขึ้น และจะกดดันให้ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่อ่อนลง โดยเท่าที่ดูจากความเห็นของหลายสำนัก ก็มองไปในทางเดียวกันว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนกลับไปอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นปีนี้ เมื่อการไหลเวียนของเงินทุนในตลาดโลก เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ขณะที่การบริหารจัดการของ ธปท. ทำได้ภายในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น ก็เป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจที่ต้องช่วยเหลือและดูแลตัวเอง ให้อยู่รอดปลอดภัยในทุกขณะที่ของภาวะค่าเงินลอยตัว โดยผู้ประกอบการอาจบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น สัญญาการซื้อขายล่วงหน้า และกระจายสกุลเงินที่ใช้ในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อบาท ซึ่งจากการการันตีของ ธปท.ในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของไทยมีการเรียนรู้และปรับตัวได้ไว พอรับมือกับความผันผวนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น พออุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า แม้ความผันผวนและความไม่แน่นอนจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับระบบการเงินโลกอย่างแยกกันไม่ได้ แต่ค่าเงินบาทและผู้เล่นที่เกี่ยวพันกับค่าเงินบาท ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน และผู้กำกับดูแลอย่าง ธปท. มีความพร้อมมากขึ้น ในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพียงแต่ความรอบคอบ รัดกุม และความเคร่งครัดในการบริหารความเสี่ยง ยังเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือไว้ตลอดเวลา เพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะในโลกที่เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีและบ้าคลั่งอย่างในปัจจุบัน แค่พลาดครั้งเดียวอาจนำไปสู่ความพ่ายแพ้ครั้งใหม่ และไปเพิ่มประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำให้กับระบบเศรษฐกิจได้อีกครั้ง!. สุกัญญา สังฆธรรม
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : 17 ปี…ลอยตัวค่าเงินบาท ตั้งการ์ดรับมือเงินไหลเข้า
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs